ถือว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านจับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มาขึ้นเขียง! เป็น 1 ใน 6 รัฐมนตรี ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในรอบนี้ ด้วยข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านที่ว่านายศักดิ์สยามมีพฤติการณ์ไม่ชอบมาพากลในโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแล จนเกิดการทุจริตในการประมูลหลายโครงการ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต เข้าครอบครองที่ดินรัฐเพื่อนำมาเป็นของตนและเครือญาติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง ประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโรค เข้าไปในแหล่งอบายมุขจนเป็นต้นตอการแพร่ระบาดโควิด-19 ไปทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน เท็จจริงจะเป็นอย่างไรคงต้องรอให้นายศักดิ์สยามชี้แจงในสภา

รมต.“การ์ดตกติดโควิดคนแรกของรัฐบาล

ทีมข่าว 1/4 Special ลำดับเหตุการณ์นายศักดิ์สยามเป็นรัฐมนตรีคนแรกของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ติดเชื้อโควิด-19 ช่วงวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยคาดว่าติดเชื้อมาจากคนใกล้ชิดจาก “คลัสเตอร์” สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ในขณะที่นายศักดิ์สยามถูกสังคมตั้งข้อสงสัยมากมาย ว่าเข้าไปใช้บริการสถานบันเทิงด้วยหรือไม่ เนื่องจากปรากฏภาพคนใบหน้าคล้าย ๆ นายศักดิ์สยามเป็นคลิปว่อนอยู่ในโลกโซเชียล ขณะนั่งดื่มกินกับสาวในสถานบันเทิงชื่อดังย่านทองหล่อ

ไม่ว่านายศักดิ์สยามจะไปเที่ยวย่านทองหล่อหรือไม่ก็ตาม แต่นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดโควิดระลอกที่ 3 ในประเทศไทย ทำให้ประชาชนตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่าใครกันแน่ “การ์ดตก”  ส่งผลให้เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาหมดสนุก! สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างทางเศรษฐกิจ ทำให้โควิด-19 แพร่ระบาดลุกลามใหญ่โต นำมาถึงความล้มเหลวผิดพลาดของรัฐบาลในการบริหารจัดการวัคซีน ทำคนไทยแทบจะกลายเป็น “ซอมบี้”กันไปทั้งเมือง

ฝ่ายค้านรอฟัน!ประมูลรถไฟทางคู่

การอภิปรายไม่วางใจครั้งนี้ นอกจากนายศักดิ์สยามจะถูกยำเรื่องการติดเชื้อโควิดแล้ว ยังมีประเด็นร้อนแรงกว่านั้นอีก 2 เรื่อง คือ 1.การประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ 2.การประมูลสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ที่ยังคาราคาซังอยู่ 

เมื่อสแกนลงไปดูโครงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งถือเป็นกลไกหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยามนี้ กล่าวได้ว่า ต่างชะงักงันไปตาม ๆ กัน บางโครงการประมูลกันไปเสร็จสรรพ เช่น รถไฟทางคู่สายเหนือ (เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ) ระยะทาง 323 กม. มูลค่าก่อสร้าง 72,920 ล้านบาท และรถไฟทางคู่สายอีสาน (บ้านไผ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม) ระยะทาง 355 กม. มูลค่าก่อสร้าง 55,458 ล้านบาท แทนที่จะเดินหน้า ต้องกลับมาสะดุดตอ ด้วยข้อครหา “ฮั้วประมูล” หวังถอนทุนการเมืองกันหรือไม่? มีการตั้งคำถามกันมากมายในเรื่องการล็อกสเปก และกีดกันผู้รับเหมาขนาดกลาง ๆ หรือเปล่า?

ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน โดยมีนายดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการ คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง  นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นต้น เพื่อหาคำตอบให้กับสังคมโดยเร็วที่สุด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และอดีต รมช.คมนาคม กล่าวกับทีมข่าว “1/4 Special Report” ฝ่ายค้านเตรียมข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยามเกี่ยวกับการประมูลรถไฟทางคู่ 2 สายไว้แล้ว เพราะเรามองว่าควรซอยสัญญามากกว่านี้ ผู้รับเหมาขนาดกลางสามารถทำงานได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกัน งานก่อสร้างเสร็จรวดเร็วขึ้น ไม่ใช่มีแค่ผู้รับเหมา 5 รายเข้าประมูลได้งานกันครบ 5 ราย ถือสัญญางานมูลค่ารวม 1.28 แสนล้านบาท

รถไฟฟ้าสีส้มช้า! เสียหาย 4.3 หมื่นล้าน

นอกจากปัญหาโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ-สายอีสาน ยังมีโครงการที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่กลับมาสร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจหนักเข้าไปอีก คือการประมูลจัดหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุน 1.42 แสนล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพราะผลพวงจากการที่รฟม.เปลี่ยนทีโออาร์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อกลางปี 63 จนนำไปสู่การฟ้องร้องกันอีนุงตุงนังถึง 2 ศาล และท้ายที่สุดฝ่ายบริหารรฟม.ต้องล้มประมูลโครงการดังกล่าว ด้วยข้ออ้างเป็นหนทางเลือกที่ดี

ใครฟ้องใคร? เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายส้ม โดยศาลแรก คือศาลปกครองกลาง เป็นคดีที่เอกชนอย่าง “บีทีเอส” ไปร้องกรณีมีการเปลี่ยนทีโออาร์ล้มประมูลงานก่อสร้างต่อมา รฟม.ไปยื่นขอจำหน่ายคดี ซึ่งศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี แต่บีทีเอสไปยื่นอุทธรณ์ไว้ที่ศาลสูงว่ายังไม่สมควรจำหน่ายคดี

ในขณะที่อีกศาล คือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อ “บีทีเอส” ไปฟ้องเอาผิดตามมาตรา 157 กับผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยศาลรับฟ้องแล้ว และกำลังจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนมูลฟ้อง โดยคดีนี้น่าจะยาวไกลกันถึง “คุก”เลยทีเดียว หรืออาจจะคล้าย ๆ กับการสั่งจำคุกอดีตผู้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในคดีรื้อสัญญาแอร์พอร์ตลิงก์

จากปัญหาความล่าช้าการประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ว่ากันว่ามีพลังทางการเมืองเข้ามาล้วงลูกในรฟม. ทำให้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบการขนส่งได้ออกมาเปิดโปงว่า ความล่าช้าการประมูลสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม สร้างความเสียหายให้กับประเทศไปแล้วกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งหาคนรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะผลพวงจากการที่ รฟม.เปลี่ยนทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มกลางอากาศ จนนำไปสู่การฟ้องร้องกัน ไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร จะมีการเปิดประมูลได้อีกเมื่อไหร่

นำมาซึ่งความเสียหายต่อประเทศ การเสียโอกาสของประชาชน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก ที่จะก่อสร้างได้แล้วเสร็จก่อน คิดเป็นมูลค่าสูงถึงปีละ 4.3 หมื่นล้านบาท แยกเป็นค่าบำรุงรักษาโครงสร้างงานโยธา 495 ล้านบาท ค่าเสียโอกาสจัดเก็บค่าโดยสาร 1,764 ล้านบาท และความสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกกว่า 40,644 ล้านบาท

นี่เฉพาะเรื่องใหม่ ๆ ทั้งรถไฟทางคู่ 2 สาย และรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ยังสะดุดอยู่ แต่ในขณะเดียวกันยังมีเรื่องราวเก่าเก็บ “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาไปตั้งแต่เดือน เม.ย.62 ให้กระทรวงคมนาคม และร.ฟ.ท. จ่ายชดเชยความเสียหายแก่บริษัทโฮปเวลล์ฯ จากการที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ บอกเลิกสัญญาสัมปทานไม่เป็นไปตามครรลองของสัญญา วงเงินกว่า 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับจากปี 51 หรือรวมแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท โดยต้องจ่ายชดเชยความเสียหายภายใน 180 วัน นับจากวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือภายในวันที่ 22 ต.ค.62

ดึงเช็ง “ค่าโง่โฮปเวลล์ดอกเบี้ยบาน!

แต่กลับมีการประวิงเวลา พยายามหาช่องทางในการรื้อฟื้นคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ขึ้นมาใหม่ เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าโง่ส่งผลให้จนถึงวันนี้ ความเสียหายในส่วนของดอกเบี้ย “ส่วนเกิน” ที่รัฐอาจต้องจ่ายเพิ่มนับจากปลายปี 62 มาจนกระทั่งปัจจุบันนั้น ทะลักไปอีก 1,460-1,500  ล้านบาทแล้ว เพราะดอกเบี้ยเดินไปถึงวันละ 4 ล้านบาท ปัญหาดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ใครจะรับผิดชอบ?

หรือมี “ไอ้โม่ง” คนไหนที่อยู่เบื้องหลังการประวิงเวลาจ่ายค่าโง่ เพื่อหวังใช้เป็นข้อต่อรองมูลหนี้ที่รัฐต้องจ่าย หรือหวังหาเศษหาเลยกับกรณีดังกล่าวหรือไม่อย่างไร และจะร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่กับดอกเบี้ยที่เดินหน้าไปวันละ 4 ล้านบาท

สุดท้ายคือโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) จากเดิมทำท่าว่าการเจรจาผ่าทางตันปัญหาหนี้สินค่าจ้างเดินรถ และหนี้การก่อสร้าง ที่ภาครัฐให้เอกชนคือ “บีทีเอส” ซึ่งเป็นคู่สัญญาสำรองจ่ายไปก่อน จนหนี้บานไปถึง 3 หมื่นล้านบาท และบีทีเอสได้ทวงถามมาหลายครั้งแล้ว แต่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังไม่มีจ่าย

ปัญหาคาราคาซังมาพอสมควร จนเกือบได้ข้อยุติที่จะให้ต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าออกไปอีก 30 ปี เพื่อแลกกับหนี้ก้อนโต แต่เมื่อชงข้อเสนอต่อขยายสัญญาสัมปทานไปยังคณะรัฐมนตรี กลับถูก “มือดี” ในพรรคร่วมรัฐบาลหยิบยกมาเป็นประเด็นการเมือง หวังใช้เป็นข้อต่อรองเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์รถไฟฟ้ากันคนละสายสี เรื่องนี้รัฐบาลจึงได้แต่ “ซื้อเวลา” ไปวัน ๆ ไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร ทำให้มูลหนี้ที่กทม.แบกรับ กลายเป็น  “ดินพอกหางหมู” ขึ้นทุกวันอีกโครงการหนึ่ง

ทั้งหมดที่กล่าวมา ตั้งแต่การเป็นรัฐมนตรี “การ์ดตก” ติดเชื้อโควิด-19 และความไม่ชอบมาพากลโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ค่าโง่โฮปเวลล์ ล้วนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายศักดิ์สยาม ไหนจะปัญหาที่ดินบริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่ยังรอการชำระสะสาง หลังจากผู้ว่าร.ฟ.ท. ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ให้เพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินของร.ฟ.ท.กว่า 5 พันไร่ ในเขตพื้นที่เขากระโดง ซึ่งเรื่องนี้นายศักดิ์สยามจะถูกฝ่ายค้านซักฟอกอย่างหนักด้วยเช่นกัน.