เมื่อโลกพ้นวิกฤติโควิด-19 การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก เป็นโอกาสแจ้งเกิดสายการบินน้องใหม่สัญชาติไทย ทยอยเปิดตัวแล้ว 4 สายการบิน ไล่เรียงชื่อสายการบิน พี 80 แอร์ (P80 AIR), เรียลลี คูล แอร์(Really Cool Air), แลนดาร์ช แอร์ไลน์ (Landarch Airline) และSiam Seaplane (สยามซีเพลน)

ทั้งหมดอยู่ระหว่างขอรับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (เอโอแอล) และใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (เอโอซี) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)คาดว่าทั้ง 4 สายการบิน จะได้รับใบอนุญาตฯ และเริ่มทยอยให้บริการได้ภายในปลายปี 2566 ไปถึงปี 2567

จากข้อมูลจดทะเบียนบริษัทในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด ประกอบธุรกิจสายการบิน “P80 AIR” มี นายประยุทธ มหากิจศิริ และนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ อยู่ในคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทฯ เบื้องต้นเครื่องบินที่ให้บริการแบบโบอิ้ง 737-800 ออกแบบห้องโดยสารชั้นเดียว 186 ที่นั่ง จำนวนฝูงบิน 4 ลำ ใช้ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เป็นฐานการบินไทย-จีน

บริษัท เรียลลี เรียลลี คูล จำกัด ประกอบธุรกิจสายการบิน “เรียลลี คูล (Really Really Cool)” นายพาที สารสิน เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ให้บริการด้วยเครื่องแอร์บัส เอ330 หรือแอร์บัส เอ 350 ประเดิมฝูงบิน 4 ลำ

บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด ประกอบธุรกิจสายการบิน “แลนดาร์ช แอร์ไลน์” ประเทศ กัปตันจักรา ทองฉิม กรรมการผู้อำนวยการธุรกิจสายการบิน แลนดาร์ช แอร์ไลน์ นำทีมผู้บริหารเปิดตัวเข้าพบหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้แล้ว โดยมีแผนตั้งศูนย์การบินที่หาดใหญ่ จ.สงขลา ระยะแรกจะเริ่มบินระหว่างจังหวัดภายในภาคใต้ ด้วยเครื่องบินขนาดเล็กประเภทใบพัดประมาณ10-12 ที่นั่ง หากภาคใต้ประสบความสำเร็จ จะขยายฐานบินให้บริการไปยังเส้นทางภาคเหนือ และภาคอื่นๆ ของประเทศไทยต่อไป

ด้านบริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด ประกอบธุรกิจ สายการบิน Siam Seaplane (สยามซีเพลน) ปรากฏชื่อ น.ส.วรกัญญา สิริพิเดช เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เบื้องต้นจะให้บริการแบบเช่าเหมาลำ 8 ที่นั่งบินตามตารางบิน เช่น พัทยา-หัวหิน, กรุงเทพฯ-เขาใหญ่ เมื่อภาครัฐออกกฎระเบียบรองรับการวิ่งขึ้นหรือร่อนลงบนพื้นน้ำแล้ว พร้อมบุกเส้นทางใหม่ ๆ เช่น ภูเก็ต-เกาะหลีเป๊ะ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Really Cool Airlines นายพาที สารสิน แสดงตัวแถลงรายละเอียดเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่เอ็มควอเทียร์ ว่า “Really Cool Airlines” จะมอบประสบการณ์การบินสุดพิเศษแก่ผู้โดยสาร และร่วมฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับการให้บริการผู้โดยสาร แตกต่างจากสายการบินทั่วโลกด้วยความว้าวแน่นอน ภายใต้สโลแกน “We Fly the Future” แบบไลฟ์สไตล์ ฟูลเซอร์วิส ไม่ใช่สายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) และสายการบินพรีเมียม

พร้อมให้บริการเดือน ธ.ค. 2566 เฉพาะเส้นทางระหว่างประเทศเท่านั้น เริ่มด้วยญี่ปุ่น และเส้นทางอื่นๆ ในทวีปเอเชีย เพื่อรองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักประมาณ 70% อยู่ระหว่างเจรจาเช่าเครื่องบิน เบื้องต้นจะได้รับมอบภายในเดือน ธ.ค. นี้ 2 ลำ และต้นปี 2567 อีก 2 ลำ กำลังจัดทำรายละเอียดของแผนการบิน และราคาค่าโดยสาร เดือน มิ.ย. จะเปิดรับสมัครพนักงานที่จะปฏิบัติหน้าที่บนเครื่อง และบริการภาคพื้นเดือนทุกเพศ รวมถึง LGBT ขอเพียงมีความสามารถทำงานด้านบริการให้กับสายการบินได้

ธุรกิจสายการบิน เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ผมอายุ 60 ปีแล้ว ถ้าไม่ได้ให้คำสัญญากับเพื่อนที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้ ว่าจะทำสายการบิน เพื่อมาช่วยประเทศไทย ก็จะไม่ทำแล้ว ได้ร่วมทุนกับกลุ่มเพื่อน ผมถือหุ้น 51% ตั้งชื่อสายการบินเอง อยากให้เป็นชื่อที่แปลกใหม่ เมื่อใช้บริการจะรู้สึกดีใช้ได้กับทุกไลฟ์สไตล์ จะนำประสบการณ์ และบทเรียนด้านการบินที่มีเกือบ 20 ปี มาอุดรูรั่วของปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน เครื่องบินที่มีปัญหา และยืนยันว่า จะไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้างที่สนามบินแน่นอน”

นอกจากสายการบินสัญญาชาติไทยป้ายแดงเหล่านี้แล้ว ยังมีข้อมูลว่า สายการบินมายแอร์ไลน์ (MYAirline) ของมาเลเซีย เตรียมเปิดบริการเที่ยวบินสู่ประเทศไทย วางตำแหน่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำแบบสุดขีด (อัลตราโลว์คอสต์) แต่ยังไม่ได้ขออนุญาต กพท. เปิดบริการเที่ยวบินสู่ประเทศไทย

ตามขั้นตอน หากสายการบินต่างชาติ จะเปิดบริการเที่ยวบินสู่ประเทศใด ทางสายการบินต้องขออนุญาตสำนักงานการบินพลเรือนที่สายการบินนั้นสังกัดอยู่ เช่น สายการบินมายแอร์ต้องขออนุญาตสำนักงานการบินพลเรือนของประเทศมาเลเซีย จากนั้นทางสำนักงานการบินพลเรือนฯ จะส่งเรื่องผ่านสถานทูตของประเทศจุดหมายปลายทางที่จะทำการบินมาเพื่อส่งต่อให้ กพท. พิจารณาต่อไป หากได้รับการอนุมัติ สามารถทำการบินมายังประเทศไทยได้ สายการบินต่างชาติไม่สามารถทำการบินเส้นทางภายในประเทศของไทยได้ ต้องเป็นเส้นทางบินระหว่างประเทศเท่านั้น.

ข้อดีของการแข่งขัน ทำให้ผู้โดยการมีทางเลือกไม่ถูกมัดมือชกผูกขาดการให้บริการ

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…