โพล คือการสำรวจความเห็น เป็นสิ่งที่คู่กับการเลือกตั้งมาตลอด ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “คนอยากรู้ไปเรื่อยๆ ว่ากระแสของแต่ละพรรคเป็นอย่างไร” ถ้าผลโพลเป็นที่ถูกใจพรรคไหน ก็เอาไปอวดอ้างผลงานว่าประชาชนชอบ ซึ่งก็มีคนแถวๆ นี้ตั้งข้อสังเกตว่า “โพลรับจ้างทำหรือเปล่า?” เป็นการตั้งคำถามไม่ใช่การดูหมิ่นสำนักโพลใด ที่เขาสงสัยเพราะรู้สึกว่า คำถามบางครั้งมันซับซ้อนเหลือเกินและเป็นคุณกับนักการเมืองบางคน บางพรรค เช่น แทนที่จะถามง่ายๆ ว่า “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกฯ” กลับไปถามแยกย่อยเป็นหมวดว่า ถ้าคนนี้เป็นนายกฯ จะเป็นนายกฯ แนวไหน แนวประสานสิบทิศ, แนวแก้ปัญหาเศรษฐกิจ, แนวรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ ว่าไป

และก็กลับมาที่คำถามที่เห็นใครต่อใครถามบ่อยๆ อาจเรียกได้ว่า “คำถามคลาสสิก” คือ “เขาสุ่มตัวอย่างจากไหนเหรอ?” การทำโพลต้องมีการสุ่มตัวอย่าง (random) อย่างเป็นระบบ อันหมายถึง “ทุกหน่วยประชากรที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อโพลนั้นต้องถูกสำรวจ” เช่น ถ้าคุณจะสำรวจเรื่องความพอใจของผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ต่อนโยบายบำนาญประชาชน ก็ต้องถามเฉพาะ “ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป” และผู้สูงอายุที่ว่า “ทุกคน” มีโอกาสที่จะถูกสุ่มถาม ..ถ้าถามเรื่องคะแนนนิยมของพรรคการเมืองในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ต้องถามเฉพาะ “ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” ไม่ใช่ไปถาม เด็กต่ำกว่า 18 ปี, พระสงฆ์, นักโทษ, ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง

business hand pushing poll on Flipboard Display

แล้วทีนี้ ถ้าสุ่มตัวอย่างแล้ว “ใช้วิธีเก็บตัวอย่างอย่างไร ?” โทรศัพท์ หรือใช้วิธีเอาทะเบียนบ้านมาเรียงๆ กันแล้วสุ่มเคาะตามประตูบ้าน เช่นนั้นแล้วก็ต้องกลับไปดูกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เราประกาศใช้แล้ว การเอาทะเบียนราษฎร์ต้องไปขอที่กระทรวงมหาดไทย แล้วเจ้าบ้านต้องให้ความยินยอมหรือไม่? การกระจายกลุ่มตัวอย่างไม่ใช่กระจุกอยู่แค่พื้นที่เดียว สมมุติว่า เขตเลือกตั้งหนึ่งมี 20 ตำบล มันต้องเกลี่ยกันระดับหมู่บ้านกันทีเดียว ..หรือใช้วิธีสุ่มโทรด้วยสมุดโทรศัพท์ นี่ก็ไม่แน่ใจว่าเดี๋ยวนี้เขายังแจกสมุดหน้าเหลืองอยู่หรือไม่ และชื่อเจ้าบ้านอยู่นี่ แต่ตัวเจ้าบ้านอยู่อีกจังหวัดจะสำรวจอย่างไร ถ้าเกิดบ้านนั้นได้รับเลือกเป็นบ้านที่ต้องสำรวจ (วิธีง่ายๆ คือเลือกใหม่)

การใช้ข้อมูลโดยโทรถามทางโทรศัพท์มือถือ …เขาก็สงสัยกันว่า “สำนักโพลเอาอะไรมาเข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์มือถือรายบุคคล?” เพราะมันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องคุ้มครอง บางคนเขาถือความเป็นส่วนตัวมาก เดี๋ยวมันหลุดไปอยู่ในมือแก๊งคอลเซนเตอร์อีก เดี๋ยวนี้ยิ่งน่ากลัว แค่ส่งลิงก์มาให้กดก็ดูดเงินได้แล้ว…แล้วสำนักโพลไปเอาข้อมูลโทรศัพท์มือถือมาได้อย่างไร และเชื่อว่าที่หลายคนสงสัยคือ “ทำไมฉันไม่เคยได้รับเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่าง?” ถ้ามีการสุ่ม การกระจายกลุ่มตัวอย่างมันก็ไม่ควรจะซ้ำกัน โพลมีมาตั้งหลายสิบปีแล้ว บางคนทั้งชีวิตยังไม่เคยได้เป็นกลุ่มตัวอย่างกับเขาเลย ก็อยากให้ใครที่เคยเป็น “กลุ่มตัวอย่าง” มาเล่าถึงประสบการณ์หน่อยว่า โพลเลือกตั้งเขาสุ่มกันอย่างไร

ส่วนตัวแล้ว เคยถูกสำรวจครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่โพลของสถาบันที่สำรวจทางการเมืองบ่อยๆ เป็นโพลของ ขสมก. เกี่ยวกับความพึงพอใจในการใช้บริการ ..ตอนนั้นก็นับสิบปีมาแล้ว ตั้งแต่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ยังไม่ปรับปรุง ..ขณะที่แวะนั่งพัก ก็มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมานั่งลับๆ ล่อๆ ข้างๆ แล้วกระซิบ “พี่ทำโพลให้หนูหน่อยได้ไหม” แล้วเธอก็อธิบายว่าเธอเป็นอาสาสมัครมาจากหน่วยงานไหน ผลโพลนี้สำรวจเรื่องอะไร และนำไปใช้เพื่ออะไร ..โดยในการสำรวจ ไม่ได้ให้เป็นแบบสอบถามให้คนทำติ๊กๆๆ เอาเอง แต่จะให้แผ่นคำถามที่มีคำตอบเป็นข้อๆ ว่าเราเลือกข้อไหน ถ้าไม่เข้าใจ อาสาสมัครที่เก็บแบบสำรวจก็อธิบายได้ว่าหมายความว่าอย่างไร เราตอบข้อไหนเขาก็จะติ๊กในเครื่องมือเก็บคำตอบของเขาเอง พอเสร็จก็ได้ปากกาด้ามละสิบกว่าบาทเป็นของตอบแทน

แต่นั่นคือก่อนเริ่มทำโพล เขาจะถามก่อนว่า “คุณใช้บริการ ขสมก. หรือไม่ บ่อยครั้งแค่ไหน” ถ้าเข้าลักษณะกลุ่มตัวอย่างที่เขาต้องการเขาจึงจะสำรวจต่อ ไม่ใช่ตะแบงให้ตอบบอก..พี่ช่วยหนูหน่อยให้เก็บให้ครบๆ ตามเขาสั่ง…

กลับมาดูกันที่โพลเลือกตั้ง เริ่มจากว่า ผู้ตอบตอบคำถามจากใจจริงหรือไม่ก่อน …โพลเดี๋ยวนี้ตั้งคำถามสามสี่ชั้น ซ้ำซ้อนจนแบบบางทีขนาดผู้เขียนข่าวยังมึน ..แนวๆ พี่ต้องการให้ตอบอย่างไรก็ได้ให้เป็นคุณกับคนๆ นี้ ขั้วการเมืองนี้ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ (และเป็นขั้วที่เราไม่ชอบ) ขออนุญาตไม่เสียเวลาทำได้หรือไม่

Muslim woman signing on a paper

คำว่า “ตอบคำถามจากใจจริง” คือไม่มีปัจจัยอื่นใดที่มาทำให้เจตจำนงเบี่ยงเบนไป อย่างเช่น ความกลัว ความรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือกระแส อย่างสมมุติในช่วงที่กระแสม็อบไล่รัฐบาลประยุทธ์ “ให้มันจบในรุ่นเรา” แรงๆ มีแต่คนใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการสื่อสารเรื่องด้านลบๆ ของรัฐบาล พูดถึงการเป็น generation of revolution หรือ “เราคือคนรุ่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง”  คนรอบตัวของผู้ตอบโพลก็อารมณ์ประมาณเดียวกัน คนตอบก็มีโอกาสที่จะอยากเป็นส่วนหนึ่งของกระแส รู้สึกว่า ยิ่งสิ่งที่ได้รับการสื่อสารจากกระแสขณะนั้นมันเป็นเรื่องดูยิ่งใหญ่ ก็อาจเกิดเคลิ้มที่จะตอบไปตามกระแส โดยที่บางทีเขาอาจไม่เห็นด้วยเสียทั้งหมด หรือมีข้อโต้แย้งในใจกับคำถาม แต่เกิดอุปทานหมู่ไปแล้ว

ถ้าจำไม่ผิด เหมือนว่ามันจะมีทฤษฎีการสื่อสารเรื่อง “ขดลวดแห่งความเงียบ” (spiral of silence) คือ ถ้ากระแสในขณะนั้นเป็นอย่างไร คนเราจะไม่ทำหรือแสดงอะไรที่สวนกระแสเพราะกลัวถูกการต่อต้าน (ซึ่งในโลกโซเชียล อาจแรงถึงขั้นล่าแม่มด) แต่มีชุดความคิดของตัวเองอยู่ในใจเงียบๆ …ขณะนี้ ภาคการเมืองกำลังสร้างภาพว่า ขั้วฝ่ายค้านปัจจุบันคือ “ฝั่งประชาธิปไตย” ฝั่งรัฐบาลขณะนี้คือ “ฝั่งเผด็จการ” ซึ่งพูดกันด้วยอุดมคติ เราต่างเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตย เป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด พออีกฝ่ายสถาปนาตัวเองเป็นฝั่งประชาธิปไตย ..แม้ว่า เราอาจไม่เห็นด้วยว่า “เขาเป็นประชาธิปไตยเต็มร้อย” เพราะก็มีข่าวประเภทปิศาจห้องแอร์, โปลิตบูโรในพรรคออกมาเป็นระยะ แต่เราก็อยากตอบอะไรที่ทำให้เราดูเหมือนเป็นคนมีอุดมการณ์ ..อันนี้ก็เป็นเรื่องของหน้าตา

ความกลัวอีกอย่างที่มีโอกาสเกิดขึ้นในการทำโพล คือ แต่ละพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง (อย่างเช่นมุ้งต่างๆ ในพรรค) ตัวนักการเมือง อาจเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือมีหัวคะแนนเป็นผู้มีอิทธิพล ถ้าเกิดไปสำรวจ คนตอบก็เกิดความกลัวที่จะตอบความจริงตามความคิดของตัวเอง..แบบว่า เขา “เช็กชื่อ” อยู่

โพลมีผลอย่างไร? เอาที่เห็นง่ายๆ คือ “โพลจะบอกว่าใครแพ้ใครชนะ” ซึ่งถ้า “ผลขาด” หมายถึงคะแนนทิ้งห่าง ก็จะมีผลต่อการเลือกตั้งในลักษณะต่างๆ อาทิ เห็นว่า ไหนๆ พรรคนี้ก็นอนมาชนะอยู่แล้ว คะแนนนำพรรคอื่นร้อยละยี่สิบ ดังนั้น ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปเลือกตั้งหรอก ถึงจะเชียร์พรรคนั้นก็ตาม เพราะอย่างไรก็ชนะ ..ก็ไม่รู้ว่า การที่มีโพลสำนักหนึ่งสำรวจออกมาว่า ผู้จะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเกือบ 20 ล้านคน นั้นเกี่ยวกับโพลหรือไม่ ว่า..เบาใจอย่างไรฝ่ายที่เราเชียร์ก็ชนะ..แต่มันก็ต้องระวังเกิดการพลิกเกมขึ้นมาได้..อย่างตอนนี้คะแนนเพื่อไทยนำสูงมาก แต่ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ยังต้องแถลงข่าวอยู่เลยว่าจะต้องมีทีมไปจับตาดูผู้สมัครไม่ค่อยลงพื้นที่ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะหวังกระแสพรรคช่วย คือ กระแสพรรคมันมาแต่คนไม่มา ดี๋ยวก็มี “ตาอยู่” คว้าเก้าอี้ ส.ส.เขตนั้นไป

แพทองธาร" แจงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ600 ทำได้จริงเศรษฐกิจต้องดีก่อน

กระแสพรรคมีส่วนช่วยให้ได้เป็น ส.ส. อย่างเลือกตั้งปี 62 นี่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้มาหลายเก้าอี้ ก็เพราะอาศัยกระแสบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับสโลแกน “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” ชิงเก้าอี้ ส.ส…เอาเฉพาะในกรุงเทพฯ คือตอนประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ไปเลย ทั้งที่ พปชร. เป็น ส.ส.ใหม่เกือบทั้งหมด..เที่ยวนี้ก็อาจมีว่าที่ผู้สมัครบางคนโลกสวยว่ากระแสพรรคช่วย เลยไม่ค่อยลงพื้นที่ ไม่ค่อยแสดงวิสัยทัศน์ ที่สำคัญคือ ไม่ค่อยใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียว่า คุณลงพื้นที่ตรงไหน จะแก้ปัญหาของพื้นที่อะไรอย่างไร …เผลอๆ คนไปเลือกมวยรองที่ขยันมาทำงานพื้นที่ดีกว่า ..และที่น่าสนใจคือ เลือกตั้งเที่ยวนี้ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคใหญ่หน้าใหม่เพียบด้วย ตัวผู้สมัครใหม่เองควรทำการบ้านหนักกว่าหน้าเก่าที่อยู่จนเป็นบ้านใหญ่ไปแล้ว.. โอกาสล้มบ้านใหญ่มันมี ปี 62 ก็เห็นบางเขต

ในกรณีที่ผลไม่ขาด คือ มีโอกาสลุ้นสู้ได้ การแข่งขันก็จะรุนแรงมากขึ้น ในการเร่งนำเสนอนโยบาย เร่งลงพื้นที่ ไปจนถึงการสร้าง gimmick อะไรน่ารักๆ ของผู้สมัครหล่อๆ สวยๆ หน้าตาดีให้คนจำได้ อย่าคิดว่า beauty privilege ไม่สำคัญ หล่อ สวย เข้าถึงง่ายนี่ ดึงดูดแม่ยกได้มากนักเชียว ..ส่วนผู้สมัครที่ดูแล้วคะแนนคู่แข่งชนะแบบทิ้งห่าง แบบไม่ใช่พื้นที่คาดหวัง พรรคก็ไม่เสียเงิน หรือเสียเวลาที่จะส่งตัวใหญ่ๆ ไปช่วยหาเสียงเท่าไร ไปสู้กันในเขตที่ได้ลุ้นจะดีกว่า.. อันนี้น่าจะมีทั้งโพลของสำนักต่างๆ และโพลของพรรคในการใช้พิจารณาเรื่องการช่วยผู้สมัคร

สำหรับบางคน โพลอาจไม่มีผลอะไรต่อการตัดสินใจเลือกตั้งก็ได้ เพราะเขาดูคนที่ใช่ นโยบายพรรคที่ชอบ ไม่ต้องมานั่งแบ่งว่านี่ฝั่งประชาธิปไตย นี่ฝั่งเผด็จการ ฝั่งไหนถ้าทำงานได้เข้าถึงชาวบ้าน เกิดการพัฒนา ดังนั้น ถึงเวลา 7 พ.ค. ใช้สิทธิล่วงหน้า 14 พ.ค. เลือกตั้งจริง ออกไปใช้สิทธิเลือกคนที่ชอบ คนที่ทำงาน พรรคที่ทำงาน ไม่ต้องให้อะไรมาชี้นำ

หลังเลือกตั้งค่อยว่ากันเรื่องจัดตั้งรัฐบาล ใครจะอยู่กับใครเดี๋ยวก็รู้

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”