“ขึ้นค่าแรง” เป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่บรรดาพรรคการเมือง ต่างหยิบยก “ตัวเลข” กันขึ้นมาประกวดประขัน เพื่อหวังแย่งชิงคะแนนเสียง ไม่น้อยไปกว่านโยบาย “แจกเงิน” ในสารพัดรูปแบบ

แม้ว่าเรื่องของการขึ้นค่าแรงจะเป็นเรื่องของภาคเอกชนโดยตรงก็ตาม แต่ทุกครั้งที่มีการประกาศนโยบายแย่งชิงคะแนนเสียง เรื่องการขึ้นค่าแรงมักกลายเป็นเรื่องแรก ๆ ที่ถูกนำมา “ขายฝัน”

ทั้งที่ในอดีตก็มีบทเรียนให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วกับนโยบาย ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ที่ทำให้ภาคเอกชนที่เป็นนายจ้างตัวจริงเสียงจริง ที่เป็นผู้ต้องควักเงินจ่ายค่าแรง ต้องล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเอสเอ็มอี

ไม่เพียงแค่เอกชนที่ต้องเจ็บตัว ในแง่ของภาพรวมเศรษฐกิจเอง ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน เพราะเป็นการกระตุกให้ภาคผลิตต้องหยุดชะงัก จากการที่ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด เมื่อเดือน ก.พ. 66 ระบุว่า จำนวนผู้มีงานทำตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 39.91 ล้านคน ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานมีอยู่ประมาณ 358,000 คน

เมื่อเห็นจำนวนแรงงานขนาดนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก!! ที่บรรดาพรรคการเมืองต่างงัดตัวเลขที่อาจเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้…มาเป็นแรงดึงดูดสำคัญในทุกฤดูกาลเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะป็นเรื่องการเพิ่มค่าแรงโดยตรง หรือการจัดสวัสดิการสารพัด หรือแม้กระทั่ง!! การนำเรื่องการยกเว้นภาษีรายได้ มาสร้างแรงกระเพื่อม

เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งนี้…ที่พรรคการเมืองต่างทำคลอดนโยบายเรื่อง “ค่าแรง” กันออกมาสารพัด โดยเฉพาะบรรดาพรรคการเมืองใหญ่ 

อย่าง “พรรคเพื่อไทย” ที่ก่อนหน้านี้เคยได้คะแนนเสียงแบบถล่มทลายกันมาแล้วกับนโยบายค่าแรง 300 บาท เมื่อ 10 ปีก่อน การเลือกตั้งครั้งนี้จึง ชูค่าแรงค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 ซึ่งก็สร้างกระแสฮือฮาได้อีกตั้งแต่เปิดนโยบาย แน่นอน!! ก็มีทั้งเสียงตอบรับและเสียงกังวล

ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท จะเป็นจริงได้อย่างไรนี่คือคำอธิบายจาก แพทองธาร  ชินวัตร - YouTube

นอกจากนี้ยังมีนโยบายการปรับเงินเดือนเริ่มต้นเป็น 25,000 บาท ภายในปี 2570 สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรี หรือทำงานราชการ หรือนโยบาย “ทุนครอบครัว” ที่ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน 

หันมาที่ “พรรคก้าวไกล” พรรคการเมืองที่มีชั่วโมงบินน้อย แต่มีแรงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ จนทำให้คนการเมืองเก่า ๆ ต่างหวาดระแวงไม่น้อยทีเดียว

โดยพรรคก้าวไกลสัญญาไว้ เมื่อได้เป็นรัฐบาล คือ นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท โดยเป็นการปรับระบบค่าแรงขั้นต่ำที่ให้มีการปรับขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจะมีการแบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับเอสเอ็มอีในช่วง 6 เดือนแรก โดยรัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมให้ 

ด้าน “พรรคไทยสร้างไทย” แม้ไม่มีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบตรง ๆ แต่ก็เสนอให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายได้สุทธิไม่เกิน 3 แสนบาทต่อปี 

เช่นเดียวกับ “พรรคชาติพัฒนากล้า” พรรคที่ประกาศตัว พร้อมแก้ปัญหาเศรษฐกิจในทุกรูปแบบ เสนอนโยบายปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ให้บุคคลธรรมดาเงินเดือน 40,000 บาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี

หรือแม้แต่พรรคลุงป้อม “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ไม่ได้ระบุตรงเป้าว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ แต่ก็ใช้นโยบายรายได้ไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่ต้องเสียภาษี การนำเงินต้นค่าผ่อนบ้านหลังแรกมาลดหย่อนภาษีได้ 2 แสนบาท 

นอกจากนี้ยังมีให้เรียนฟรี การปั้นเด็กไทยให้มีคุณภาพโดยได้รับเงินตั้งแต่อยู่ในท้องถึงเดือนละ 1 หมื่นบาท และยังได้อีกเดือนละ 3,000 บาท ไปจนถึงอายุ 6 ขวบ

ขณะที่พรรคลุงตู่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่ได้ประกาศชัดเจนว่า จะเพิ่มรายได้ประเทศปีละ 4 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มรายได้ต่อคนปีละ 20,000 บาท สร้างงานเพิ่ม 6.25 แสนตำแหน่ง พร้อมเพิ่มเงินสมทบของรัฐให้กับแรงงานในระบบประกันสังคมมีรายได้ไม่ต่ำกว่าคนละ 10,000 บาทต่อเดือน 

รวมถึงการคืนเงินสะสมชราภาพ 30% ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้นำมาใช้ก่อนยามจำเป็น เพิ่มเงินชราภาพอายุ 55 ปี เป็น 10,000 บาท และยังมีการเพิ่มสิทธิด้านเงินดูแลบุตรให้ผู้ประกันตน 1,000 บาท ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 10 ปี แถมยังให้เงินเกษียณอายุ 55 ปี 10,000 บาท อีกต่างหาก

นี่!! เป็นเพียงตัวอย่างของนโยบายพรรคการเมือง ที่ใช้เรื่องของค่าแรงและที่เกี่ยวข้อง มาประกวดประขัน เพื่อซื้อใจบรรดาแรงงาน แต่นโยบายขายฝันเหล่านี้… จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ คงต้องรอดู!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”