ทั้งนี้ “โรคไต” แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ไตเริ่มทำงานผิดปกติ อัตราการกรองน้อยกว่า 90 ระยะที่ 2 เป็นไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นอัตราการกรอง 60-89 ระยะที่ 3 ไตเรื้อรังระยะปานกลาง อัตราการกรอง 30-59 ระยะที่ 4 ไตเรื้อรังระยะรุนแรง อัตราการกรอง 15-29 และระยะที่ 5 ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย อัตราการกรองน้อยว่า 15

สำหรับการรักษาเป็นไปตามความรุนแรง ตั้งแต่การรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไต บำบัดทดแทนไตหรือการล้างไต อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคไตเอาไวหลาย ๆ ด้าน

ล่าสุด พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ทาง สปสช.ได้เพิ่มบริการใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้เข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว   ขึ้น โดยได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชน 4 แห่ง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้บริการการทำ “เส้นเลือดถาวร” (Vascular access) สำหรับฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในผู้ป่วยไตวายสิทธิบัตรทอง

“ในการผ่าตัดทำเส้นเลือดถาวรให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อให้ได้รับการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม นั้น ที่ผ่านมามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะต้องรอคิวนานเพื่อทำเส้นเลือดถาวรสำหรับฟอกไต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงพยาบาลในระบบมีศัลยแพทย์ที่ต้องผ่าตัดไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องรอคิวทำเส้นเลือดถาวร 6-12 เดือน”

สำหรับโรงพยาบาลเอกชน 4 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ประสานความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วย คือ โรงพยาบาลปิยะเวท (เขตห้วยขวาง) โรงพยาบาลศรีสวรรค์ (เขตตลิ่งชัน) โรงพยาบาลอินรารัตน์ (เขตคันนายาว) และโรงพยาบาลบางนา 5 จ.สมุทรปราการ ให้บริการผู้ป่วยไตวายที่ต้องทำเส้นเลือดถาวรสำหรับฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ช่วยให้ผู้ป่วยลดระยะเวลารอคิว และได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น

พญ.ลลิตยา ย้ำว่า บริการดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมบริการใหม่ เป็นบริการทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยใช้สายด่วน สปสช. 1330 เป็นฐาน ซึ่งจะมีทั้งบริการเชิงรุก เจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 จะโทรฯ ติดต่อผู้ป่วยตามรายชื่อจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อประสานงานให้เข้ารับการผ่าตัดทำเส้นเลือดถาวรที่รวดเร็วขึ้น และเชิงรับคือ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รอคิวทำเส้นเลือดถาวรนาน สามารถ โทรฯ มาที่สายด่วน 1330 กด 9 เพื่อนัดหมายรับบริการกับโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมได้

ข้อมูลในขณะนี้ มีผู้ป่วยจำนวน 48 ราย ที่ได้รับการนัดหมายเพื่อเข้าไปรับบริการผ่าตัดทำเส้นเลือดถาวรกับโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่ง โดยผู้ป่วยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะทางโรงพยาบาลจะเบิกค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์มาที่ สปสช. รูปแบบการให้บริการดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมบริการที่เห็นผลได้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยไตวายสิทธิบัตรทองได้รับการบริการทำเส้นเลือดถาวรที่รวดเร็วขึ้น คาดว่าภายใน 3-4 เดือนข้างหน้า ผู้ป่วยในพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะได้รับการทำเส้นเลือดถาวรครบทั้งหมด.

อภิวรรณ เสาเวียง