ประกาศแจ้งเกิดเมื่อปี 2562 สำหรับ “ใบขับขี่รถไฟฟ้า” ในเวลาใกล้เคียงกับการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพื่อออก “ใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-license R)” ให้พนักงานขับรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางของประเทศต่างๆ

ล่าสุด ขร. โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการศึกษาออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการ และการออก e-license R นำคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ขร., ที่ปรึกษา และสื่อมวลชน ลัดฟ้าศึกษาดูงาน และเยี่ยมชมการพัฒนาระบบราง รวมถึงกระบวนการกำกับดูแลด้านการขนส่งทางราง ที่เมืองไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เพื่อศึกษาขั้นตอนการออกใบอนุญาตฯ และการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง

สำหรับระบบขนส่งทางราง “ไต้หวัน” แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

1. ระบบขนส่งทางรางระหว่างเมือง มีผู้ให้บริการ 2 ราย รถไฟระหว่างเมือง (TRA) และรถไฟความเร็วสูง (THSR) กำกับดูแลโดย Railway Bureau (กรมการขนส่งทางรางของไต้หวัน)

2. ระบบรถไฟฟ้าในเมือง มีผู้ให้บริการ 5 ราย โดยในเมืองไทเป มีผู้ให้บริการ 1 ราย คือ Taipei Rapid Transit corporation เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลท้องถิ่น ดูแลการให้บริการของรถไฟฟ้าในไทเป 6 สาย 131 สถานี ติดตั้งกล้องวงจรปิดทุกสถานีรวมกว่า 11,000 ตัว และมีศูนย์ข้อมูลควบคุมการจราจรทั้ง 6 เส้นทาง ตลอด 24 ชม. ตั้งอยู่ที่สถานีไทเป จุดศูนย์รวมการเดินทางระบบรางของไต้หวัน สามารถเชื่อมต่อรถโดยสารได้

นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดี ขร. หัวหน้าคณะการเดินทาง ฉายภาพว่า เมืองไทเป “ไต้หวัน” คล้ายกรุงเทพฯ หลายอย่าง อาทิ วิถีการใช้ชีวิต และค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่ารถไฟฟ้าประมาณ 20 บาท ไม่เกิน 60 บาท ไทเปมีประชากร 6 ล้านคน ใช้รถไฟฟ้า 2 ล้านคนต่อวัน คิดเป็น 1 ใน 3 ขณะที่กรุงเทพฯ มีประชากร 5.4 ล้านคน ใช้รถไฟฟ้า 1.3 ล้านคนต่อวัน จึงเป็นตัวอย่างที่ดี และสอดรับกับเป้าหมายของ ขร. ที่จะพัฒนาให้รถไฟฟ้าเป็นระบบหลักในการขนส่งผู้โดยสาร

ได้เห็นการวางแผนระบบขนส่งมวลชนของไต้หวัน การรักษาคุณภาพระดับการให้บริการ และความปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหน้าที่หลักของ ขร. ที่ต้องทำให้การเดินทางของคนไทยสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และราคาสมเหตุสมผล สิ่งที่น่าสนใจ และจะนำไปปรับใช้คือ การกำหนดแนวทางแก้ปัญหา 744 กรณีของระบบรางเมื่อเกิดเหตุ ดูได้เลยว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่สับสน และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเรื่องการออกใบอนุญาตฯ เพื่อกำกับกิจการขนส่งทางรางให้เป็นไปตามมาตรฐาน และกฎหมาย ขร. กำลังเร่งจัดทำกฎหมายลูก คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ก.ย. 2566 ทันทีที่ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มีผลบังคับใช้ ขร. พร้อมออกใบอนุญาตฯ ทันที”

หลายประเทศทั่วโลกออกใบอนุญาตแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป “ไต้หวัน” เริ่มออกใบอนุญาตฯ ตั้งแต่ปี 2549 กระบวนการเริ่มตั้งแต่การอบรม ทดสอบสมรรถนะร่างกาย ทดสอบข้อเขียน และภาคปฏิบัติ ในไต้หวันเจ้าหน้าที่ขับรถไฟ มีอายุขั้นต่ำ 18 ปี ผ่านการฝึกอบรมอย่างน้อย 2 ปี สำหรับรถไฟระหว่างเมือง และ 8 เดือน สำหรับรถไฟความเร็วสูง จากนั้นจึงเข้าทดสอบข้อเขียน และภาคปฏิบัติ เพื่อขอรับใบอนุญาตฯ มีอายุ 6 ปี ระหว่างนี้ จะทบทวนความรู้อย่างน้อย 1 ครั้งใน 3 ปี และต้องสอบใหม่ หากใบอนุญาตฯ หมดอายุมากกว่า 6 เดือน

มีหลายประเด็นที่ ขร. นำไปปรับใช้กับไทยได้ อาทิ อายุของคนขับรถไฟ เบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 25 ปี เพราะเป็นห่วงว่า หากอายุน้อยเกินไปจะเหมาะสมหรือไม่ แต่เมื่อดูของต่างประเทศไต้หวัน 18 ปี ส่วนญี่ปุ่น 20 ปี จะนำมาประกอบการพิจารณาและหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับลดอายุลง เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานมากขึ้น

รวมถึงข้อมูลรายละเอียดการสอบพนักงานขับรถ อาทิ การสังเกตความเร็วรถ การตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน การเบรก และทักษะด้านความปลอดภัย เพื่อพิจารณาดูว่ายังมีเรื่องใดที่ ขร. ตกหล่น และเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้กระบวนการขอใบอนุญาตฯ ของไทย เป็นไปแนวทางเดียวกับไต้หวัน คือ การอบรม และทดสอบ แต่รายละเอียดต่างๆ แตกต่างกันบ้าง อาทิ การขอใบอนุญาตฯ ไต้หวันเก็บใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาท

สำหรับประเทศไทย นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดี ขร. มีนโยบายไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อจูงใจให้มาขอใบอนุญาตฯ ซึ่งช่วงแรกคนขับรถไฟที่มีใบรับรองจากหน่วยงานของตนเองอยู่แล้ว มาขอรับ e-license R ได้เลย ใบอนุญาตฯ มีอายุ 5 ปี ขร. จะสุ่มตรวจสอบเป็นระยะๆ หากพบว่า ไม่พกใบอนุญาตฯ มีการกระทำที่บกพร่อง หรือกระทำความผิด มีโทษตั้งแต่ตักเตือน ถึงเพิกถอนใบอนุญาตฯ

ขร. จะแต่งตั้งหน่วยงานขึ้นมา เหมือนโรงเรียนสอนขับรถ ที่หลักสูตรได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อทำหน้าที่ฝึกอบรม และทดสอบ จากนั้นจึงมายื่นขอใบอนุญาตฯ ที่ ขร. ซึ่งจะได้รับ e-license R โดยจะปรากฏบนแอปพลิเคชัน ไม่ต้องพกบัตรแข็ง เมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจเปิดแอป ให้ตรวจได้เลย หน่วยงานที่จะทำหน้าที่อบรม และทดสอบ ต้องได้รับใบอนุญาตจาก ขร. ก่อน โดยขั้นตอนนี้ คนขับรถไฟต้องออกค่าใช้จ่ายเอง อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะให้จัดเก็บอัตราเท่าใด

ปัจจุบัน ไทยมีพนักงานขับรถไฟและรถไฟฟ้า ประมาณ 2,000 คน อาทิ พนักงานขับรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 991 คน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง 350 คน และของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 49 คน

ประเทศไทยกำลังพลิกโฉมการเดินทางสู่ระบบรางเพื่อขนส่งมวลชน ทั้งรถไฟฟ้าหลากสี ทางคู่ รถไฟไฮสปีด การควบคุมผู้ประกอบการให้ปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อคุณภาพบริการที่ดี และความปลอดภัยในการเดินทางของผู้คนจำนวนมาก

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…