ในปีงบประมาณ 2566 กรมทางหลวง (ทล.) มีโครงการก่อสร้างสะพาน อุโมงค์ทางลอดและทางแยกต่างระดับรวม 11 แห่ง วงเงินรวม 7,519,098,789 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางหลวง บริเวณจุดตัดทางแยก สำนักก่อสร้างสะพาน อยู่ระหว่างหาผู้รับจ้าง บางโครงการได้ผู้รับจ้างและลงนามสัญญาแล้ว บางโครงการรอลงนามสัญญา ทั้งหมดจะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ (2566) ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี แล้วเสร็จเปิดบริการปี 2568-2569

ทุกคนน่าจะรู้จัก สะพาน และอุโมงค์ทางลอดอยู่แล้ว ส่วนทางแยกต่างระดับ (interchange) คือทางแยกที่เป็นจุดตัดกันหรือเชื่อมกันของถนนตั้งแต่ 2 สายขึ้นไป มีการแยกระดับของถนนมากกว่าหนึ่งระดับขึ้นไป เพื่อให้การจราจรคล่องตัว ไม่ตัดกระแสการจราจรของถนนพื้นราบ

ในการออกแบบก่อสร้างทางแยกต่างระดับ กรมทางหลวงใช้แนวคิดร่วมสมัย เน้นประโยชน์ใช้สอยเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดให้เดินทางได้ลื่นไหลคล่องตัวขึ้น รวมทั้งป้องกันและลดปัญหาอุบัติเหตุ มีรูปแบบต่างๆ อาทิ สะพานข้ามจุดตัดทางแยก ผสมผสานทางลอด วงเวียนยกระดับ (ลอยฟ้า) วงเวียนพื้นราบรูปเลข 8 เป็นต้น โดยพิจารณาจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างและฟังก์ชันการใช้งาน

ปัจจุบันกรมทางหลวงมีสะพานในความรับผิดชอบทั่วประเทศ 17,219 แห่ง แบ่งตามประเภทการใช้งาน ประกอบด้วย สะพานข้ามคลอง/ลำห้วย/บึง/อ่างเก็บน้ำ 15,765 แห่ง สะพานข้ามแม่น้ำ 761 แห่ง สะพานข้ามทางแยก/ถนน 376 แห่ง สะพานข้ามทางรถไฟ 156 แห่ง สะพานกลับรถ (เกือกม้า) 120 แห่ง และสะพานทางแยกต่างระดับ 41 แห่ง สำหรับโครงการใหม่ที่จะก่อสร้างทั้ง 11 แห่ง มีดังนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 5 แห่ง วงเงิน 2,983,888,000 บาท

1.โครงการก่อสร้างทางลอดแยกประโดก จุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 (ทล.2 หรือถนนมิตรภาพ) กับถนนช้างเผือก ถนนสิริราชธานี จ.นครราชสีมา วงเงิน 850 ล้านบาท บริษัท อึ้งทงกี่ จำกัด เป็นผู้รับจ้างอยู่ในขั้นตอนเตรียมลงนามสัญญา ระยะเวลา 1,080 วัน เป็นทางลอดคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 6 ช่องจราจร ทิศทางละ 3 ช่องจราจร กว้าง 25.50 เมตร ยาว 1,075 เมตร ความกว้างผิวจราจรช่องละ 3.50 เมตร รองรับรถถนนมิตรภาพจาก จ.ขอนแก่น มุ่งหน้าไป จ.สระบุรี และ จ.สระบุรี มุ่งหน้า จ.ขอนแก่น โดยไม่ติดสัญญาณไฟจราจร รวมทั้งงานระบบระบายน้ำ งานป้องกันอัคคีภัย และติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง

2.โครงการก่อสร้างทางลอดแยกนครราชสีมา จุดตัดถนนมิตรภาพกับ ทล. 224 สายนครราชสีมา-หินโคน จ.นครราชสีมา วงเงิน 480 ล้านบาท บริษัท รัชตินทร์ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง อยู่ในขั้นตอนเตรียมลงนามสัญญา ระยะเวลา 960 วัน เป็นอุโมงค์คอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 ช่องจราจร เดินรถทิศทางเดียว กว้าง 9.10 เมตร ยาว 929 เมตร ความกว้างผิวจราจรช่องละ 3.25 เมตร รองรับรถถนนมิตรภาพ ขาออกจาก จ.ขอนแก่น ใช้อุโมงค์เลี้ยวขวามุ่งหน้าไป จ.สระบุรี และ กรุงเทพฯ โดยไม่ติดสัญญาณไฟจราจร

3.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกโชคชัย จุดตัด ทล.24 ถนนสีคิ้ว-วารินชำราบ กับ ทล.224 จ.นครราชสีมา วงเงิน 900 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนหาตัวผู้รับจ้าง 4.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกหนองบัวศาลา จุดตัด ทล.224 กับ ทล.290 (ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา) จ.นครราชสีมา วงเงิน 600 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนหาผู้รับจ้าง และ 5.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำชี บน ทล. 2083 จ.ยโสธร วงเงิน 153,888,000 บาท บริษัท เอกชัยอุบล (2523) จำกัด เป็นผู้รับจ้างเริ่มต้นสัญญาวันที่ 28 เม.ย. 66 สิ้นสุดสัญญา 11 ม.ค. 69 ระยะเวลา 990 วัน

ภาคเหนือ 2 แห่ง วงเงิน 3,345,210,789 บาท 1.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกสันกลาง จุดตัด ทล.121 กับ ทล.1317 จ.เชียงใหม่ วงเงิน 995,210,789 บาท บริษัท เชียงใหม่ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง เริ่มต้นสัญญาวันที่ 11 พ.ค. 66 สิ้นสุดสัญญา 24 เม.ย. 69 ระยะเวลา 1,080 วัน และ 2.โครงการก่อสร้างปรับปรุงทางแยกจุดตัด ทล.117 กับ ทล.122 ทล.225 (ทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์) จ.นครสวรรค์ วงเงิน 2,350 ล้านบาท เตรียมลงนามสัญญา

ภาคกลาง 1 แห่ง วงเงิน 130 ล้านบาท โครงการปรับปรุงซ่อมแซมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บน ทล.309 (สะพานปรีดี-ธำรง) จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในขั้นตอนหาผู้รับจ้าง ภาคตะวันตก 2 แห่ง วงเงิน 530 ล้านบาท 1.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกห้วยตะแปด จุดตัด ทล.37 กับทางหลวงชนบท พบ.1001 จ.เพชรบุรี วงเงิน 250 ล้านบาท และ 2.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกช้างแทงกระจาด จุดตัด ทล.37 กับทางหลวงชนบท พบ.1010 จ.เพชรบุรี วงเงิน 280 ล้านบาท ได้ผู้รับจ้างแล้วเตรียมลงนามสัญญา

ภาคตะวันออก 1 แห่ง วงเงิน 530 ล้านบาท โครงการก่อสร้างปรับปรุงแยกบางพระ-คลองสุครีบ จุดตัด ทล.3 (ถนนสุขุมวิท) แยกบางพระ-คลองสุครีบ จ.ชลบุรี ได้ผู้รับจ้างแล้วเตรียมลงนามสัญญา จะก่อสร้างสะพานข้ามคลองสุครีบ บนถนนสุขุมวิท ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ให้มีจุดกลับรถใต้สะพาน พร้อมปรับปรุงทางแยกบางพระ

ทั้ง 11 โครงการ จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณจุดตัดทางแยก เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่งสินค้าบนโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศ ให้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมทั้งลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

แต่ในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือผลกระทบกับผู้ใช้เส้นทาง ผู้พักอาศัยในพื้นที่ และผู้ประกอบการใกล้เคียง กรมทางหลวงและผู้รับเหมา ต้องลดผลกระทบให้ผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งคุมเข้มมาตรการด้านความปลอดภัยระหว่างก่อสร้างในระดับสูงสุด

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…