“พิธาจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ ?”

ตอนนี้ไปไหนมาไหนก็เจอคำถามนี้  เพราะอยู่ๆ ก็มีปัญหาเรื่องไปถือ หุ้นสื่อไอทีวี  ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) บอกว่า “เป็นความปรากฏ” ว่าถือหุ้นสื่อ และเจ้าตัวเองก็รับรู้เพราะไปยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) แต่เซ็นในนาม “ผู้จัดการมรดก” และน่าจะ..อารมณ์ประมาณว่า ถ้าคดีฟ้องร้องระหว่างไอทีวีกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ( สปน.) ที่ทำให้ไอทีวีจอดำจบ อาจจดแจ้งยกเลิกกิจการแล้วแบ่งอะไรเหลือๆ ให้ผู้ถือหุ้น ก็เลยถือไว้ก่อน เพราะไม่คิดว่าจะมีปัญหา

ทีนี้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติตอนสมัครไม่ทัน ..หลายคนว่า กกต.ทำไมไม่ตรวจ ก็เพราะผู้สมัครมันเยอะ เขาถึงให้มีนายทะเบียนพรรคการเมืองตรวจไง ปรากฏว่า ยื่นร้องค้านการสมัคร ส.ส.ของนายพิธาไม่ทันแล้ว ก็เลยอาจเป็นเจ้าภาพสอบโดยร้องศาลอาญา ให้พิจารณานายพิธาขาดคุณสมบัติ ส.ส. หรือไม่ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 รู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติแล้วยังลงสมัคร ขณะนี้อยู่ในชั้นสำนักงาน กกต.รวบรวมเสนอต่อ กกต.

ทีนี้ ก็มีข้อถกเถียงว่า ถ้าศาลอาญารับพิจารณา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ จะได้รับการโหวตเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ กกต.ได้ทำอินโฟกราฟฟิคชี้แจงว่า นายกฯ  จะเป็น ส.ส.หรือไม่ก็ได้ โดยในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก ให้รัฐสภานั้นให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ภายหลังจากพ้น 5 ปีไปแล้วนั้น นายกฯ ต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ก็โพสต์ว่า การร้อง ส.ส. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตาม ม. 82 ของรัฐธรรมนูญนั้น ส.ส. ร้อง ส.ส. ส่วน ส.ว. ก็ร้อง ส.ว. ไม่ใช่ ส.ว. 25 คน มาร้อง ส.ส. ขาดคุณสมบัติ เพราะ ม. 82 มีคำว่า “แห่งสภานั้น” แปลว่า ส.ว.เข้าชื่อร้องไม่ได้ และ ส.ส. ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ไม่ทำให้สิทธิในการเป็นแคนดิเดตนายกฯ  หายไป ยังสามารถเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ได้ ตัวอย่างเช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ เมื่อ 23 พ.ค.2562 การโหวตนายกฯ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายธนาธร ก็ยังทำได้เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562

แต่ทีนี้ คำถามต่อมา คือ “นายพิธามีคุณสมบัติเป็นนายกฯ หรือไม่ ?” ไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 159 คือ ต้องเห็นชอบบุคคลที่มาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.เกิน 5% ขึ้นไป ซึ่ง “บุคคลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 แล้วทีนี้ เราก็ไปอ่านมาตรา 160 กัน พบว่า มาตรา 160(6) คือ ไม่มีลักณะต้องห้ามตามมาตรา 98

พอไปดูมาตรา 98 บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดย มาตรา 98( 3 ) ชัดเจน “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ” ซึ่งการถือหุ้นเคยมีการวินิจฉัยผู้สมัคร ส.ส.บางคนมาแล้วว่า ขาดคุณสมบัติ แม้ถือหุ้น อสมท แค่หุ้นเดียว 5 บาท ไม่สามารถมีอำนาจไปสั่งการอะไร อสมท ได้ “แต่กฎหมายเขาว่าอย่างนั้น”

คำถามคือ ถ้ามีการสอยนายพิธา กระบวนการจะเป็นอย่างไร ?

ตอบว่า กกต. อาจเลือกดูกระแสสังคม โดยการประวิงเวลาสอบไปก่อน หรือส่งเข้าศาลอาญา ซึ่งว่ากันว่า กระบวนการจะช้ากว่าศาลรัฐธรรมนูญ ใช้ระบบกล่าวหา คือ ผู้ร้องและผู้ถูกร้องหาหลักฐานมางัดมาสู้กันเอง ศาลวางตัวเป็นกลางตัดสินตามหลักฐานที่ปรากฏว่าฝ่ายไหนหนักแน่นกว่ากัน การต่อสู้คือ นายพิธาสำแดงหลักฐานได้หรือไม่ว่า “ไอทีวีไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อ” ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยหลักฐานจากรายงานงบดุลว่า ไอทีวีจะกลับมาทำธุรกิจสื่อ แต่ปัญหาคือ  น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวเจ้าของเพจ the reporter ไปได้หลักฐานมาว่า บันทึกการประชุมกับคลิปที่ประธานในที่ประชุมพูดไม่เหมือนกัน แนวๆ ว่าในคลิปบอกว่ายังไม่รู้เลยว่าจะกลับมาทำหรือไม่

พรรคก้าวไกล' ชี้ความผิดปกติ ปมหุ้น ITV กางข้อเท็จจริง "รายงานประชุม-ที่มารายได้"  - ThaiPublica

อย่างไรก็ตาม น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้โพสต์เรื่องหุ้นนี้ว่า “สิ่งที่ระบุในรายงานผู้ถือหุ้นไอทีวี เป็นความจริงเกี่ยวกับธุรกิจ คือบริษัทยังดำเนินการตามวัตถุประสงค์บริษัท ส่งงบการเงินและเสียภาษีอยู่ วัตถุประสงค์บริษัทมี 45 ข้อ ไอทีวีอาจไม่ได้ดำเนินการตามข้อ 40 ที่ว่าด้วยการประกอบการวิทยุโทรทัศน์ แต่ยังดำเนินการตามข้อ 41 ที่ว่าด้วยการผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตามที่ระบุในงบการเงินตั้งแต่ปี 65

เรื่องทั้งหมดเป็นกิจการของบริษัทที่เกิดขึ้นตามปกติ นานก่อนจะมีเรื่องการร้องเรียนคุณสมบัติคุณพิธาปมถือหุ้นสื่อ ก่อนคุณพิธาจะได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคก้าวไกล ก่อนจะมีการเลือกตั้งและรู้ผลกัน การพยายามสร้างทฤษฎีสมคบคิดต่างๆนานา คือความพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในคดีที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ ส.ส. และแคนดิเดตนายกฯตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแค่ 1. ไอทีวี เป็นสื่อฯหรือไม่ ? 2.คุณพิธาถือหุ้นไอทีวีขณะสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่? เท่านี้เอง”

เปิดประวัติสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) ทีวีเสรีแห่งแรกของประเทศไทย

กรณีการฟ้องตาม ม.151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.คือมันก็คลุมหมด ถ้าผิด มันก็โยงไปมาตราอื่นๆ ที่ทำให้นายพิธาขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ ดังที่กล่าวไปข้างต้น เพียงแต่ตอนนี้เขาเรียกว่าช่วงฮันนีมูนรัฐบาลใหม่ กกต.คงจะไม่ทำอะไรบุ่มบ่ามก่อน อาจรอให้บริหารประเทศไปสักพัก แล้วถ้าการบริหารเกิดอะไรที่เป็นกระแสลบ ..ก็ไม่รู้ว่าช่วงนั้นจะมีอะไรที่กระทบต่อพรรคออกมา

เรื่องที่จะเป็นกระแสลบที่เริ่มมีกลิ่นแล้ว คือเรื่องประชุมขบวนการนักศึกษา แล้วทำโพลว่าควรมีสิทธิในการแบ่งแยกปาตานีมาเป็นเอกราชหรือไม่ ? ทำเอาฝ่ายความมั่นคงไม่พอใจกันเป็นแถว อย่างที่ “บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ บอกว่า เขากำลังใช้คำว่า เจรจาสันติสุข ไม่ใช่เจรจาสันติภาพมันไม่ได้รบกัน …แล้วถ้าไปยอมรับการให้มีการประชามติแบ่งแยกปาตานี ระวังจะมีการดึงต่างชาติเข้ามาแทรกแซงเข้าข้างฝ่ายที่ต้องการแบ่งแยกแผ่นดินไทย กลายเป็นขัดรัฐธรรมนูญระดับโทษถึงกบฏ เรื่องนี้ว่ากันว่า “เด็กทำเองไม่ได้หรอกถ้าไม่มีบ่างตัวใหญ่อยู่เบื้องหลัง” บ่างที่ว่าจะเป็นนักการเมืองสามพรรคที่มีชื่อไปร่วมงานหรือไม่ก็ไม่รู้ ? แล้วจะโยงพรรคหรือไม่ก็ไม่รู้ ?

แล้วก็รอดูการบริหารงานอื่นๆ ของพรรคก้าวไกล เรื่องของแพงนี่ก็ต้องระวัง เพราะทำให้คนยี้ทุกรัฐบาล รัฐบาลปู รัฐบาลตู่ โดนด่าเรื่องของแพงตลอด แล้วนี่ ..การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ก็ไม่รู้ว่าต้นทุนการผลิตจะขึ้นไปแค่ไหน ถ้ามีการปรับภาษีนายทุนอีก ก็เตรียมรอภาวะของแพงไว้เลย

ส่วนที่ว่า ทฤษฎีสมคบคิด หมายถึงอะไร นั่นก็มีลักษณะแบบ “สิ่งที่ปรากฏอยู่ จริงๆ แล้วซ่อนอะไรบางอย่าง มีตัวละครลับที่คาดไม่ถึง หรือวางยาตัวเอง ” การสมคบคิดมีไปถึงขั้นว่า “จริงๆ นายพิธารู้อยู่แล้วว่าตัวเองจะต้องขาดคุณสมบัติกับหุ้นไอทีวี แต่เอาตัวเข้าแลกประเด็นนี้ เพื่อปลุกกระแสสังคมให้ยิ่งเห็นใจพรรคก้าวไกลมากขึ้น และเผลอๆ เที่ยวหน้าได้แลนด์สไลด์ เกิน 250 เสียง เป็นรัฐบาลพรรคเดียวไปเลย ( การเลือกนายกฯ ที่ต้องใช้เสียง ส.ว.ช่วย มีเฉพาะในส่วนบทเฉพาะกาล 5 ปี )

สมคบคิดกันยังได้ว่า เอาจริงพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า ? เพราะถ้าสอยนายพิธาได้ ก็ต้องโหวตเลือกนายกฯ ใหม่ คราวนี้ก็ส้มหล่นไปเพื่อไทย เพราะพรรคก้าวไกลไม่มีแคนดิเดตนายกฯ แล้ว .. ถ้าพูดเรื่องการ “สมคบคิด” มันมีตั้งหลายอย่างที่พยายามสกัดการตั้งรัฐบาล ..เพื่อไทยอยากได้เก้าอี้ประธานสภาฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ ..การที่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยบอกไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล..ถ้านายพิธาบังเอิญโดนสอยแล้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เอานายเศรษฐาขึ้นมา จะเปลี่ยนขั้วพรรคร่วมรัฐบาลให้นายทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านแบบปลอดภัยหรือไม่ ?

คำถามมันเยอะไปหมด เรื่องตั้งรัฐบาลเนี่ย เผลอๆ อาจไม่ได้ในเดือน ก.ค.ด้วยซ้ำ เพราะคงประชุมอยู่ไม่รู้แล้วกว่าจะได้เสียงรับรองนายกฯ ถึง 376 เสียง ..มันไม่ใช่ประชุมครั้งเดียวได้ ถ้าเห็นว่าพูดไปก็ไม่จบ ประธานรัฐสภาฯ ก็นัดประชุมใหม่อยู่นั่นแหละ หรือถึงที่สุด ไม่เปลี่ยนขั้วมาเป็นเพื่อไทยเป็นนายกฯ ก็ต้องให้สมาชิก 2 ใน 3 ของสองสภา เสนอให้ใช้นายกฯ คนนอกบัญชีพรรคการเมือง แล้วให้สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นเสนอชื่อ

ก็ได้แต่ลุ้นให้ได้รัฐบาลเร็วๆ พอช้า ภาครัฐ ภาคเอกชนทายนโยบายไม่ถูก เดี๋ยวกระทบเศรษฐกิจ

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”