วันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” ได้รับเกียรติจาก เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. มาประเมินสถานการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะแนวโน้มของการโหวตนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้านี้ ที่ “พิธา”ยังขาดเสียงสนับสนุนจากส.ว.อยู่ถึง 64 เสียง ถึงจะครบเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 376 เสียงตรงนี้จะถือว่า เป็นการดับฝันการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 หรือไม่

โดย “ส.ว.เสรี” เปิดประเด็นกล่าวว่า ผมเข้าใจว่า คนที่เขียนรัฐธรรมนูญปี 60 ที่มี อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้นำ คงเห็นปัญหาในอนาคต แล้วก็รู้ว่า กระบวนการของการที่จะเลือกตั้งแล้วได้ตัวแทนกลุ่มไหนมาแล้วไม่เป็นที่ไว้ใจ ก็เลยต้องออกแบบรัฐธรรมนูญมาให้ ส.ว.ทำหน้าที่ช่วยกันเลือก คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งปกติแล้วไม่จำเป็นต้องไปเขียนกันถึงขนาดนี้  ถ้าหากไม่มี ส.ว. 250 คน ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในช่วง  5 ปี เลือกตั้งคราวนี้ ก็จะเป็นการเลือกตั้งที่ได้ตัวแทนประชาชน ที่มีทั้งซีกที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็อาจเกิดการแตกแยก เกิดการปะทะกัน ก็ถือว่าเป็นจังหวะและเป็นความโชคดี ถ้าไม่ออกแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้ ประชาชนต้องปะทะกันแน่ จึงเป็นสิ่งสำคัญของการที่จะต้องตัดสินใจในวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาเองอาจจะถูกกดดันด้วยกระแสเสียงของประชาชน ที่สนับสนุนเลือกพรรคก้าวไกลเข้ามา

“ผมพูดมาหลายครั้งว่าตรงนี้ก็ คือ เสียงส่วนหนึ่ง แม้จะบอกว่าได้เป็นอันดับหนึ่งก็ตาม แต่ไม่ใช่ฉันทามติของคนครึ่งค่อนประเทศ ส.ว.ต้องทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง แล้วก็ตรึกตรอง ไตร่ตรองให้ดีที่สุดว่าประโยชน์ของคนทั้งประเทศส่วนใหญ่นั้นจะเอาคนลักษณะใด คุณสมบัติอย่างไร มาเป็นนายกรัฐมนตรี  ไม่ใช่ว่าเราไม่เคารพเสียงของประชาชน  แต่เป็นกระบวนการในการที่จะวีโต้ หรือจะโต้แย้งว่า ถ้าหากมีข้อมูลส่วนหนึ่ง ที่ประชาชนส่วนใหญ่จำนวนมาก คงไม่เห็นด้วยเขาจึงไม่เลือกนั้น  ผมก็เชื่อว่าส.ว.ส่วนใหญ่จะไม่เลือกบุคคล ที่มาจากพรรคก้าวไกล ส่วนเสียงที่จะผ่านไป หรือ เห็นชอบเท่าที่เช็คดูแล้วมีประมาณ 5 เสียง แต่ไม่เกิน 10 เสียง”

@ แบบนี้ถือว่าประตูนายกฯ สำหรับคนที่ชื่อ “พิธา” ปิดล็อกเลยได้หรือไม่

ถ้าจะพูดตรงๆ ก็ถือว่าพูดได้ เพราะความชัดเจนของ “พิธา” ที่หาเสียง การเสนอแนวคิดต่างๆ มีการกระทำพฤติกรรมการแสดงออกแล้วแสดงเจตนาว่า จะยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  นอกจากนี้ยังมีการเสนอนโยบายที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งการแบ่งแยกดินแดน  การปลุกระดมคนในแต่ละพื้นที่ให้แยกตัว โดยอ้างกระจายอำนาจ ให้แต่ละจังหวัดมีผู้ว่าฯ มีงบประมาณต่างคนต่างใช้กันเอง ตรงนี้เป็นแนวคิดที่อันตราย  แนวคิดการปฏิรูปกองทัพ ลดจำนวนคน ลดงบประมาณ ซึ่งเสี่ยงเกินไปในยุคปัจจุบัน และยังมีส่วนที่กระทบต่อสถาบัน เสนอลดงบประมาณแล้ววิพากษ์วิจารณ์ไปในทางเสียหาย

แนวคิดของพรรคก้าวไกลที่ยังคงแก้กฎหมายหลายสิบฉบับ รวมถึงการแก้มาตรา 112 จึงเป็นอุปสรรค ของการที่จะให้ “พิธา”เป็นนายกฯ ในเรื่องของแนวนโยบายและแนวความคิด แต่สิ่งสำคัญก็ คือ “พิธา” ก็มีปัญหาในเรื่องของคุณสมบัติ ของการถือหุ้นสื่อมวลชนก็เป็นประเด็นปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัย แต่ปัญหาในเรื่องเหล่านี้อาจจะถูกหยิบยกไปได้ ว่าในระหว่างถูกตรวจสอบนี้ ก็ยังไม่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นปัญหาทับซ้อนเข้ามา

“ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของการไม่ชอบ ไม่พอใจ คุณพิธา เป็นการส่วนตัวแต่เป็นเรื่องของหลักการของประเทศ เป็นเรื่องที่ ส.ว. จะต้องทำหน้าที่ให้เป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศ และปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหลายเป็นเรื่องที่คุณพิธาหรือพรรคก้าวไกลทำเองทั้งสิ้น แต่พอเกิดปัญหาก็ไปโทษคนอื่น ไปโทษ ส.ว. ไปโทษกฎหมาย ไปโทษ ว่า จะมีคนมาเตะตัดขา จริงๆ เป็นเรื่องสะดุดขาตัวเองทั้งนั้น”

@ ทางออกที่ดีที่สุด 8 พรรคร่วมควรเสนอคน จากพรรคการเมืองอื่น

กระบวนการผมว่ามันอันตรายกับการบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นพรรคก้าวไกลถ้าเสนอเรื่องเหล่านี้มา ก็ต้องทำทีละสเต็ป ทำทีละขั้นตอน ในการเลือกนายกฯ ที่มาจากพรรคก้าวไกลแล้ว จะมีใครมาแข่งหรือไม่ หรือจะเสนอไปครั้งละชื่อ แล้วค่อยไปปรับกลยุทธ์ไปจัดทัพ ในแต่ละครั้งแต่ละตอนก็อาจจะทำให้แต่ละพรรคการเมืองตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

@ จากกลเกมการตั้งประธานสภา คิดว่าพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยจะไปด้วยกันรอดหรือไม่ จะมีการพลิกขั้วเกิดขึ้นหรือไม่

ผมวิเคราะห์ว่า 1.พรรคเพื่อไทยเป็นจอมยุทธ์ เก๋าเกม มีกระบวนการความคิดในเชิงการเมือง ที่ลึกล้ำรู้จักใช้สถานการณ์และโอกาสให้ตัวเองได้ประโยชน์เต็มที่ ซึ่งจะเห็นได้จากการเลือกประธานสภาฯ แสดงให้เห็นว่า “ฉันไม่ได้ คุณก็ไม่ได้” แสดงว่า ไม่เป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกันจึงต้องยกให้ “คนกลาง” 2.กระบวนการที่จะเกิดขึ้นขั้นตอนต่างๆ ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยเห็นผลอยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น รู้ผลอยู่แล้วว่าโอกาสที่ พิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แต่แทนที่เขาจะไปหักหาญน้ำใจกับก้าวไกล เขาก็เอามาเป็นพันธมิตรไว้ก่อน และ3.การอยากกลับบ้านของ “ทักษิณ ชินวัตร” ก็จะมีส่วนสำคัญด้วย ซึ่งตรงนี้ถือว่าน่าสนใจและน่าติดตาม

@ เป็นห่วงหรือไม่ว่าหาก “พิธา”ไม่ได้เป็นนายกฯ จะเกิดม็อบชนม็อบ

ต้องยอมรับว่าเป็นความจำเป็น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นในรูปแบบใด ถ้าเรายอมรับกติกาว่า ทุกเรื่องยุติด้วยคำตัดสินของศาลแล้ว ทุกอย่างทำด้วยเหตุผลอยู่บนหลักของกฎหมาย ทำด้วยกติกาที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญสูงสุดของประเทศ ก็จะไม่ยุ่ง แต่สิ่งสำคัญ คือ นักการเมือง ครูบา อาจารย์ และคนที่อยู่เบื้องหลัง ต้องมีจิตสำนึกและต้องมีความรับผิดชอบ อย่ายุยงปลุกปั่น ทำให้เกิดการเผชิญหน้าและการปะทะกัน ส่วนเจ้าหน้าที่ ผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยต้องใช้หลักกฎหมาย คุณธรรม มนุษยธรรม ไม่ใช้ความรุนแรง ทำให้สถานการณ์บานปลายใหญ่โตออกไป ก็เชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยได้.