สถานการณ์การเมืองกำลังร้อนแรงสุดขั้ว!! แต่…สุดท้ายแล้วนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะไปออกที่ใคร ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป ว่ากันว่า…ผ่านพ้นการโหวตครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ไปแล้ว ก็คงอีกไม่นาน ที่จะได้เห็นโฉมหน้านายกฯคนใหม่ต่อไป

เพราะอย่าลืมว่า…ผ่านมาแล้วกว่า 2 เดือน การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากยังปล่อยให้สถานการณ์การเมืองยืดเยื้อต่อไปเช่นนี้ เชื่อว่าไม่เป็นผลดีกับใครแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนคนไทย

อาจเป็นรูปภาพของ 5 คน, ชุดสูท และ ฝูงชน

ด้วยความล่าช้า ด้วยความยืดเยื้อที่เกิดขึ้น ก็สร้างความไม่สบายใจกับบรรดาภาคเอกชนเป็นจำนวนไม่น้อย จนต้องส่งเสียงสะท้อนออกมาดัง ๆ ว่าใครจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คงไม่ใช่ปัญหา เพราะภาคเอกชนพร้อมทำงานกับทุกคนอยู่แล้ว

ปัญหาใหญ่ อยู่ที่ว่า ณ เวลานี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการให้กระบวนการขับเคลื่อนประเทศ เกิดขึ้นได้โดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย เมื่อมีความเชื่อมั่นเกิดขึ้น ทุกอย่างก็จะดีขึ้นตาม

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่สงบ!! แต่เชื่อหรือไม่? ว่าบรรดาพวกแก๊งหลอกลวง ยังผุดเป็นดอกเห็ด ไม่สนใจว่าบ้านเมืองเค้าจะไปทางไหน สนแค่เพียงหลอกเงินชาวบ้านให้ได้ก็เท่านั้น

ที่สำคัญ วิธีการหลอกลวง ยังล้ำหน้าทันสมัย แทบจะตามกันไม่ทันทีเดียว เพราะล่าสุด ก็ใช้วิธีการส่งเอสเอ็มเอสมายัง “เหยื่อ”โดยตรง โดยผ่านเครือข่ายคมนาคมหลัก

Free photo male hacker with laptop protected by chain

ความล้ำหน้าของแก๊งหลอกลวงเหล่านี้ ทำให้ยอดถูกหลอกลวงแอปดูดเงินนั้น กลับเพิ่มขึ้นมามากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งในช่วง 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้ว จนถึงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีความเสียหายเกิดขึ้นประมาณ 1,152 ล้านบาทกันแล้ว

แบงก์ชาติได้ออกมาเตือนแล้วเตือนอีกว่า อย่านะ… อย่าคลิกลิงก์กันนะ ไม่ว่าจะมาจากเอสเอ็มเอส อีเมล์ ไลน์ หรือโซเชียลมีเดียใด ๆ ก็ตาม ต่อให้บอกว่ามาจากแบงก์ก็เถอะ

ถ้า “คลิกลิงก์” เมื่อไหร่ หมดตัว หมดบัญชีแน่นอน และที่แย่!! ก็คือแบงก์เค้าไปรับผิดชอบให้นะ เพราะเค้าบอกแล้ว…บอกอีก…ว่าไม่มีการแนบลิงก์ใด ๆ จากแบงก์

Free photo finger touching the button to start

ต่อให้…บรรดาแบงก์ได้ยกระดับการรับแจ้งเหตุจาก 24 ชั่วโมง และ ระงับธุรกรรมชั่วคราวได้ 72 ชั่วโมง เพื่อตัดตอนเส้นทางการเงิน และยังมีกระบวนการต่าง ๆ เพื่อลดความเสียหาย ตามพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 หรือกฎหมายปราบโกงออนไลน์ ก็ตาม

แต่…สุดท้าย อย่างที่บอกถ้าคลิกลิงก์ ก็หมดตัวนั่นแหล่ะ!! สุดท้ายแล้ว การดูแล การระมัดระวังด้วยตัวเองก็คือวิธีการป้องกันการหมดตัวได้อย่างดีที่สุด ควบคู่ไปกับคาถาที่ต้องจำให้ขึ้นใจว่า “อย่าโลภ”

ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติได้ออก 3 มาตรการหลักเป็นแนวทางปฏิบัติให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องปฎิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน เริ่มตั้งแต่มาตรการการป้องกัน ที่มีถึง 6 เรื่องที่แบงก์ต้องทำตาม

ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของ การยกเลิกการแนบลิงก์ผ่านเอสเอ็มเอสและอีเมล์ การจำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นของธนาคารบนมือถือ การพัฒนาระบบความปลอดภัยบนดมบายแบงกกิ้ง การแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ การกำหนดเพดานวงเงินถอน วงเงินโอนสูงสุดต่อวัน รวมไปถึงการยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจจับ ที่มีการกำหนดเงื่อนไขการตรวจจับและติดตามธุรกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติ การจัดให้มีการแจ้งความออนไลน์ หรือแม้แต่การพัฒนาระบบตรวจจับและติดตามบัญชีหรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบทันที

ขณะที่มาตรการสุดท้าย คือ..การตอบสนองและรับมือ ทั้งการจัดให้ทุกแบงก์ต้องมีช่องทางฮอตไลน์ 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเหตุได้เร็ว การดูแลผุ้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ หากความเสียหายเกิดขึ้นจากแบงก์ สุดท้าย คือการสนับสนุนข้อมูลให้ตำรวจอย่างเต็มที่และรวดเร็ว

Free photo html and css collage concept with hacker

ทั้งหลายทั้งปวง! ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเป็น เหยื่อเพิ่มมากขึ้น แต่ต่อให้สารพัดหน่วยงานวางระบบวางระเบียบวางกฎเกณฑ์ไว้รัดกุมแค่ไหน? แต่บรรดาแก๊งหลอกลวง ก็สามารถแหกคอกแหกกฎออกมาหาวิธีใหม่ ๆ ออกมาตกเหยื่อ ได้อยู่ร่ำไป

เอาเป็นว่า ใครที่ตกเป็นเหยื่อ เข้าแล้ว อย่างแรกต้องมีสติจำบัญชีที่โอนเงินไปและหยุดติดต่อทันที จากนั้น…ก็ติดต่อแบงก์ที่ใช้บริการทันที เพื่อระงับธุรกรรมที่แบงก์ก็ทำได้แค่เพียง 3 วันหรือ 72 ชั่วโมงเท่านั้น

จากนั้น… ก็ต้องเร่งแจ้งความอย่างเร็วภายใน 72 ชั่วโมง ผ่านเว็บ Thaipoliceonline.com ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่สถานีตำรวจ เพื่อให้ตำรวจแจ้งแบงก์ให้ขยายเวลาการระงับธุรกรรมต่อไปอีก 7 วัน เพื่อสอบสวนและออกหมายอายัดบัญชีต่อไป

ณ เวลานี้ จำให้ดี เพียงแค่อย่าคลิกลิงก์!! ก็ปลอดภัยจากทุภัยแล้ว

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”