ปัญหาเด็กยากจนหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด! ปัญหาทางเศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหทางสังคม พ่อแม่หย่าร้าง ทำให้เด็กไทยกว่า 1 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากการศึกษาภาคบังคับ (ม.3)

เด็กยากจนพิเศษ!1.4ล้านคนที่ต้องดูแล

วันนี้ทีมข่าว “Special Report” มีโอกาสสนทนากับผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานที่เข้ามาดูแลเด็กยากจนในกลุ่มนี้อย่างเด่นชัดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าตัวเลขเด็กนักเรียนยากจนพิเศษที่อยู่ในฐานข้อมูลของกสศ. และเป็นตัวเลขที่นำเสนอต่อสมาชิกรัฐสภาในปี 65 เพื่อขอจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือ มีจำนวน 1,400,000 คน

เด็กนักเรียนยากจนพิเศษ จะเป็นกลุ่มใหญ่กว่าเด็กยากจนปกติตามรายงานของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ระบุว่าเด็กยากจนปกติ คือครอบครัวมีรายได้เฉลี่ย/เดือน 2,000 บาทปลายๆ แต่ไม่ถึง 3,000 บาท/เดือน แต่ข้อมูลของกสศ. เด็กนักเรียนยากจนพิเศษคือครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยแค่ 1,000 กว่าบาท/เดือน เท่านั้น

โดยช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด กสศ.ดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนที่เสี่ยงว่าจะหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 1,100,000 คน แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดรุนแรงในปี 64-65 จำนวนนักเรียนยากจนจึงพุ่งขึ้นมาอีก 300,000 คน กลายเป็นปี 66 กสศ.มีภารกิจในการดูแลนักเรียนยากจน 1,400,000 บาท ตามงบประมาณที่ได้รับ 6,000 ล้านบาท

“งบประมาณก้อนนี้ อยู่ในวิสัยที่กสศ.จะดูแลเด็กในระดับการศึกษาภาคบังคับ (ไม่เกิน ม.3) ได้ 1,400,000 คน ในอัตรา 3,000 บาท/คน/ปี แต่สิ่งที่น้องๆ จะได้มากกว่านี้คือการได้อยู่ในการประคับประคองของครู คือต้องมาโรงเรียน รวมทั้งผลชี้วัดทางการศึกษา การเจริญเติบโตทางร่างกายตามวัย พูดง่ายๆว่าอยู่ในสายตาของครู นอกจากนี้ยังเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และการขยายการศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น โดยขณะนี้กสศ.กำลังศึกษาทดลองในพื้นที่ 7 จังหวัดนำร่อง เพื่อหาทางขยายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กยากจน ขึ้นไปถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือระดับม.6 หรือปวช.”

เศรษฐกิจไม่ดี!ตัวเร่งให้หลุดจากระบบการศึกษา

ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวต่อไปว่ากสศ.ทำงานช่วยเหลือเด็กในนักเรียนในมิติของความยากจนเป็นหลัก แต่ก็ดูในมิติเรื่องสุขภาพ (เด็กพิการ) และมิติทางสังคมด้วย คือปัญหาพ่อ-แม่หย่าร้าง ต้องทิ้งเด็กไว้กับปู่-ย่า ตา-ยายฐานะยากจน ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะต้องทำงานช่วยเหลือปู่-ย่า ตา-ยายด้วย

รวมทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี กลุ่มเด็กยากจนพิเศษจะได้รับผลกระทบก่อน แค่ได้รับผลกระทบนิดเดียวจะหลุดออกจากระบบการศึกษาทันที ถึงขั้นไม่มีอาหารรับประทาน แต่เราจะกล้าพูดความจริงกันหรือเปล่า และถ้าโชคดีได้เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือของกสศ. 3,000 บาท/คน/ปี จะมีสิ่งการันตีในอันดับแรกถ้าเด็กมาโรงเรียน จะมีอาหารรับประทานอย่างแน่นอน

ตั้งรัฐบาลล่าช้า!ปีหน้า-เทอม 2 ไม่มีเงินจ่าย

เมื่อถามว่าถ้ามีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป 10 เดือน จะมีผลกระทบต่อเด็กนักเรียนยากจน 1,400,000 คน ที่อยู่ในความดูแลของกสศ.หรือไม่ นายพัฒนะพงษ์กล่าวว่าได้รับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากทุกวันนี้หน่วยงานรัฐใช้ “งบพลาง” ไปก่อน หมายถึงใช้ฐานของงบประมาณปีเดิม แล้วจ่ายให้มาเพียง 30-50% แต่สร้างงานใหม่ไม่ได้ ถ้ายังไม่มีรัฐบาลใหม่ จะไม่มีการสร้างงานใหม่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดอาจจะดูแลเด็กได้บางส่วนเท่านั้น

ปีนี้ยังไม่มีปัญหา เพราะกสศ.ได้งบประมาณมาแล้ว 6,000 ล้านบาท แต่ถ้าปี 67 การตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป นั่นหมายถึงเงิน 3,000 บาท/คน/ปี จำนวน 1,400,000 คน จะสามารถจ่ายได้แค่เทอมเดียว ส่วนเทอมที่ 2 คงไม่มีเงินจ่ายแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นเด็กต้องลำบากอย่างแน่นอน

สำหรับในปี 67 กสศ.ยังประเมินตัวเลขนักเรียนยากจนที่ต้องได้รับการช่าวยเหลือไว้ที่ 1,400,000 คน ตัวเลขอาจบวก-ลบเล็กน้อย เพราะต้องดูปัจจัยแนวโน้มของจำนวนประชากรไทยที่ลดลง แนวโน้มทางเศรษฐกิจ เพราะเด็กยากจนพิเศษจะโยงไปกับปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ถ้าเศรษฐกิจดี จำนวนเด็กยากจนพิเศษจะลดลง ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น หนี้ครัวเรือนสูง เด็กยากจนพิเศษจะเพิ่มขึ้นทันที โดยเมื่อปี 65 มีการประเมินว่าเด็กยากจนพิเศษที่ต้องหลุดออกไปจากระบบการศึกษา เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจมีถึง 300,000 คน แต่ไม่ทราบว่าปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวหายไปหรือยัง

ภาพรวมปี 66 ถือว่าดีขึ้นจากปี 65 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงไป เด็กสามารถไปโรงเรียนได้ โรงเรียนมีกิจกรรมต่างๆ ให้เด็กเข้าร่วมอย่างคึกคักมากขึ้น ในมิติของการดูแลเด็กดีขึ้น ภาวะการค้า-ขายกลับคืนมา เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น แต่หลายคนบ่นว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีเท่าไหร่ รายได้เฉลี่ยยังหนีไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง ถ้าได้รัฐบาลใหม่ที่ไม่มีฝีไม้ลายมือทางเศรษฐกิจ ตัวเลขนักเรียนยากจนอาจเพิ่มขึ้น

“เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามีแน่นอน! เพียงแต่เราไม่พูดความจริงกัน โดยปี 65 จำนวน 300,000 คนหลุดออกไปเลย จากปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม พ่อแม่หย่าร้าง เด็กต้องอยู่กับปู่-ย่า ตา-ยาย ในบางพื้นที่ เช่น จ.แม่ฮ่องสอน มีเป็น 100 คน เป็นคนไทยแต่ไม่มีเลขบัตร จึงเข้าไม่ถึงการศึกษา รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่จ.ราชบุรี เคยสำรวจแค่ 5 อำเภอ แต่พบว่าเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา 200 คน” นายพัฒนะพงษ์ กล่าว