ตัวเลขผู้โดยสารระบบรางทุบสถิติสูงสุด (New High) 1,687,961 คน-เที่ยว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.ค. 2566 วันทำงานสุดท้ายของเดือน ก.ค.ก่อนหยุดยาวต่อเนื่อง 6 วัน 28 ก.ค.-2 ส.ค.ในจำนวนนี้เป็นผู้โดยสารรถไฟฟ้า 1,599,181 คน-เที่ยว สายสีเขียวมีผู้ใช้บริการมากที่สุด 891,172 คน-เที่ยว รถไฟฟ้าจึงเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักของคนกรุงเทพฯ

ตามแผนแม่บทรถไฟฟ้า (M-Map) มีโครงข่ายรวม 553.41 กม. ปัจจุบันให้บริการแล้ว 242.34 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 105.40 กม. และทยอยเปิดบริการ โดย M-Map จะหมดอายุในปี 2572 กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จึงจัดทำ M-Map 2 เพื่อใช้ในระยะ 20 ปีต่อไป ( 2573- 2592) โดยจัดประชุมสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ภายใต้โครงการเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-Map 2 เพื่อนำเสนอสรุปผล

ผลการศึกษาทั้งจากการทบทวนแผน M-Map (แผนแม่บทฉบับแรก)ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และแผน M-Map 2 Blueprint(พิมพ์เขียว) ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ที่เคยศึกษาไว้ รวมถึงข้อเสนอจากหน่วยงาน และประชาชน ได้ข้อสรุปว่า M-Map 2 มีแนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ 33 เส้นทาง

แบ่งเป็น 1.เส้นทาง M-Map เดิมที่ยังไม่ดำเนินการ 8 เส้นทาง 2.เส้นทางใหม่ 14 เส้นทาง และ 3.เส้นทางต่อขยาย 11 เส้นทาง โดยใช้แบบจำลองนำข้อมูลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตมาจัดลำดับความสำคัญของ 33 เส้นทาง บางเส้นทางได้ตัดแบ่งเป็นช่วงที่จำเป็นเพิ่มอีก ทำให้มีจำนวนเส้นทางเพิ่มขึ้นมากกว่า 33 เส้นทาง รวมเป็น 45 เส้นทางแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่ม A1, กลุ่ม A2, (รวม 19 เส้นทาง) กลุ่ม B และกลุ่ม C

กลุ่ม A1 คือ เส้นทางที่มีความจำเป็น พร้อมดำเนินการทันที 4 เส้นทาง วงเงินรวม 63,474 ล้านบาท ได้แก่

1.รถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต – ธรรมศาสตร์(รถไฟฟ้าชานเมือง : Commuter) ระยะทาง 8.84 กม.วงเงิน 6,468 ล้านบาท

2.รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศาลายา(Commuter) 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท

3.รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศิริราช(Commuter) 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท

4. รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย – บึงกุ่ม (รถไฟฟ้ารางเบา : Light Rail) 22.1 กม. วงเงิน 41,720 ล้านบาท

กลุ่ม A2 คือ เส้นทางที่มีความจำเป็น แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน 6 เส้นทาง ได้แก่

1.รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ – หัวลำโพง (Commuter)

2.รถไฟฟ้าสายสีเขียว สนามกีฬาแห่งชาติ – ยศเส (รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ : Heavy Rail)

3.รถไฟฟ้าสายสีเขียว บางหว้า – ตลิ่งชัน (Heavy Rail)

4. รถไฟฟ้าสายสีแดง วงเวียนใหญ่ – บางบอน (Commuter)

5.รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา – สุวรรณภูมิ (Light Rail)

6. รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – ทองหล่อ (Light Rail)

กลุ่ม B คือ เส้นทางที่มีศักยภาพ 9 เส้นทาง ได้แก่

1.รถไฟฟ้าสายสีเทา พระโขนง –ท่าพระ (Light Rail)

2. รถไฟฟ้าสายสีฟ้า สาทร – ดินแดง (Light Rail)

3.รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – ลำลูกกา(Light Rail)

4.รถไฟฟ้าสายสีเขียว คูคต– วงแหวนรอบนอก(Heavy Rail)

5.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลิ่งชัน -รัตนาธิเบศร์ (Heavy Rail)

6.รถไฟฟ้าสายสีเขียว สมุทรปราการ – บางปู (Heavy Rail)

7. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางแค – พุทธมณฑล สาย 4 (Heavy Rail)

8. รถไฟฟ้าสายสีแดง บางบอน – มหาชัย – ปากท่อ (Commuter)

9. รถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง – วงเวียนใหญ่ (Commuter)

กลุ่ม C คือเส้นทางที่จะเป็นระบบ Feeder เช่น Tram ล้อยาง, รถเมล์ไฟฟ้า 26 เส้นทาง ได้แก่

1.เส้นทาง ลาดพร้าว – รัชโยธิน – ท่าน้ำนนท์

2.เส้นทาง ดอนเมือง – ศรีสมาน

3.เส้นทาง ศาลายา – มหาชัย

4.เส้นทาง ศรีนครินทร์ – บางบ่อ

5.เส้นทาง คลอง 6 – องค์รักษ์

6.เส้นทาง รัตนาธิเบศร์ –แยกปากเกร็ด

7.เส้นทาง คลองสาน – ศิริราช

8.เส้นทาง บางซื่อ – พระราม 3

9.เส้นทาง ราชพฤกษ์ – แคราย

10.เส้นทาง พระโขนง – ศรีนครินทร์

11.เส้นทาง บางซื่อ – ปทุมธานี

12.เส้นทาง เมืองทอง – ปทุมธานี

13.เส้นทาง บางแค – สำโรง

14.เส้นทาง แพรกษา – ตำหรุ

15.เส้นทาง ธรรมศาสตร์ – นวนคร

16.เส้นทาง บางนา – ช่องนนทรี

17.เส้นทางสุวรรณภูมิ – บางบ่อ

18.เส้นทาง บรมราชชนนี – ดินแดง – หลักสี่

19.เส้นทาง ธัญบุรี– ธรรมศาสตร์

20.เส้นทาง คลอง 3 – คูคต

21.เส้นทาง มีนบุรี – สุวรรณภูมิ – แพรกษา – สุขุมวิท

22. เส้นทาง เทพารักษ์ – สมุทรปราการ

23.เส้นทาง บางใหญ่ – บางบัวทอง

24.เส้นทาง บางปู – จักรีนฤบดินทร์

25. เส้นทาง ครุใน – สมุทรปราการ

26. เส้นทาง ปทุมธานี– ธัญบุรี

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) บอกว่า เมื่อได้รัฐบาลชุดใหม่ ขร. พร้อมเสนอผลการศึกษาทั้ง 45เส้นทางและที่จัดลำดับความสำคัญให้ครม. พิจารณาทันที ซึ่ง 10 เส้นทางในกลุ่ม A1 และ A2 เป็นเส้นทางเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ มีความจำเป็นจริงๆ ตั้งเป้าหมายว่าต้องก่อสร้าง และพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572

โดยขณะนี้ 3 เส้นทางสายสีแดงในกลุ่ม A1 พร้อมเสนอ ครม. ชุดใหม่พิจารณาเพื่อก่อสร้างทันที ส่วนสายสีน้ำตาล เหลือเพียงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ศึกษาผลกระทบอีกเล็กน้อย โดยเฉพาะสัญญาสัมปทานว่าส่งผลกระทบต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพู และเหลืองหรือไม่ ซึ่งกลุ่ม A1 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 4-5 ปีนี้แน่นอน

กลุ่ม A2 ยังมีเงื่อนไขที่ต้องปรับแก้ของแต่ละเส้นทางอยู่ทั้ง 2 กลุ่มจะเป็นรถไฟฟ้าสายใหม่รวม 19 เส้นทาง ส่วนอีก 26 เส้นทางต้องนำเสนอครม.พิจารณาด้วยเพราะอาจจะมีนโยบายให้ทบทวนจากแทรมล้อยางและ รถเมล์ไฟฟ้าเป็นระบบรถไฟฟ้าก็เป็นไปได้

ส่วนกลุ่ม B ขณะนี้ให้เตรียมพร้อมไปเรื่อยๆ ก่อน เพราะการพัฒนาของเมืองจะเปลี่ยนไปทุก 5 ปี ดังนั้นประมาณปี 2571-2572 จึงมาทบทวนใหม่อีกครั้งว่าปริมาณผู้โดยสารเติบโตขึ้นหรือไม่ และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และการเงินหรือไม่ เพราะปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารกับความคุ้มค่าฯ ยังไม่เพียงพอ ขณะที่กลุ่ม C ปริมาณผู้โดยยังน้อยมาก จึงควรต้องเริ่มจากรถเมล์ไฟฟ้าไปก่อน

สำหรับรูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าสีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเอกชนลงทุนระบบเดินรถเป็นรูปแบบที่เหมาะสมแล้ว แต่ในอนาคตหากต้องการให้ค่าโดยสารถูกลง รัฐต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนค่าระบบฯ บางส่วนกับเอกชนด้วย.

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกำลังเติบโตไปด้วยรถไฟฟ้า มีคำถามจากประชาชนตามมา2ข้อคือ 1.เมื่อไหร่จะมีตั๋วร่วมที่ใช้งานง่ายๆทุกคนเข้าถึง เพื่อลดค่าแรกเข้าไม่ต้องจ่ายค่าโดยสารซ้ำซ้อนหลายต่อ และ2.เสียงสะท้อนของผู้คนต่างจังหวัดโดยเฉพาะเมืองเศรษฐกิจท่องเที่ยวรถไฟฟ้าจะมาเมื่อไหร่??

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…