ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม A2 เป็นเส้นทางที่มีความจำเป็น ในแผนโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 ซึ่งจัดทำโดยกรมการขนส่งทางราง(ขร.) สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเทา แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน โดยมีแผนก่อสร้างภายในปี 2572 สถานะโครงการล่าสุดถึงไหนแล้ว?? “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” มีคำตอบ….

กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้จัดทำการศึกษา และวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit : LRT) สายบางนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้งชื่อรถไฟฟ้าสายใหม่เป็นสีเงิน เตรียมเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป นับเป็นรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบาสายแรกของไทย จากปัจจุบันที่มีรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีเป็นรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง&ชมพูเป็นโมโนเรลสายแรก(ขนาดเบาแต่ใช้รางเดี่ยว)

ส่วนกรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.มีแนวคิดจะมอบโครงการรถไฟฟ้าสีเงินให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ดำเนินการแทนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ส่งมอบให้ รฟม.

รถไฟฟ้าสีเงินมีระยะทาง 19.7 กม. 14 สถานี แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกจากแยกบางนาธนาซิตี้ 12 สถานี 14.6 กม. 1.สถานีบางนา, 2.สถานีประภามนตรี, 3.สถานีบางนา-ตราด 17, 4.สถานีบางนา-ตราด 25, 5.สถานีวัดศรีเอี่ยม, 6.สถานีเปรมฤทัย, 7.สถานีบางนา-ตราด กม.6, 8.สถานีบางแก้ว, 9.สถานีกาญจนาภิเษก, 10.สถานีวัดสลุด, 11.สถานีกิ่งแก้ว และ 12.สถานีธนาซิตี้ เฟส 2 ธนาซิตี้สุวรรณภูมิใต้ 2 สถานี 5.1 กม. 1.สถานีมหาวิทยาลัยเกริก และ2.สถานีสุวรรณภูมิใต้

ค่าลงทุนโครงการรวม 1.35 แสนล้านบาท แบ่งเป็นค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,181 ล้านบาท, ค่างานโยธา และงานระบบรถไฟฟ้า 36,020 ล้านบาท, ค่างานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า 6,720 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 91,767 ล้านบาท สัมปทานโครงการ 30 ปี

เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost รัฐจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธา และงานระบบO&M โดยรัฐให้สิทธิ์แก่เอกชนเป็นผู้รับรายได้และเอกชนจ่ายค่าสัมปทาน หรือส่วนแบ่งของรายได้แก่รัฐ

รายละเอียดโครงการ เป็นรถไฟฟ้ารางคู่ ขนาดราง 1.435เมตร มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ ความเร็ว 80กม./ชั่วโมง(ชม.) ใช้เวลาเดินทางไป กลับประมาณ 1ชม., 1ขบวนสูงสุด มี 4ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ 1.5-3หมื่นคน/ชม. เดิมวางแผนเริ่มก่อสร้างปี 2568 เมื่อเปิดบริการเฟสแรกในปี 2572 จะมีผู้ใช้บริการ 5.61หมื่นคนเที่ยว/วัน และปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 1.13แสนคนเที่ยว/วัน หากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 1.38แสนคนเที่ยว/วัน คาดการณ์ตลอดสัมปทานมีรายได้จากผู้โดยสารประมาณ 3.76แสนล้านบาท

สำหรับอัตราค่าโดยสารมีค่าแรกเข้าอยู่ที่ 14.5 บาท และคิดตามระยะทาง 2.4 บาทต่อกม. เก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 42 บาท เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ 2.5% ในปีที่เปิดบริการ(2572) ค่าแรกเข้าอยู่ที่ประมาณ 17.5 บาท และค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 45-48 บาท

อย่างไรก็ตามขร.ได้ระบุเงื่อนไขไว้ใน M-MAP 2 ว่า รถไฟฟ้าสายสีเงินจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเส้นทางเข้าไปเชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารทางด้านใต้ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้น เพราะหากหยุดอยู่ที่ธนาซิตี้ริมถนนบางนา-ตราด จะไม่เกิดประโยชน์

ขร.ใช้แบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางวิเคราะห์ออกมาว่า หากรถไฟฟ้าสายสีเงินมีสถานีปลายทางที่ธนาซิตี้ จะไม่มีประโยชน์ ปริมาณผู้โดยสารน้อย เพราะไม่มีแหล่งกำเนิดการเดินทาง การจะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเงินได้นั้น ควรต้องมีสถานีปลายทางเชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ เพื่อให้มีปริมาณผู้โดยสารที่เพียงพอและเกิดประโยชน์

กทม. ต้องหารือกับทอท. เพื่อออกแบบอาคารผู้โดยสารใหม่(ซึ่งยังไม่ได้ก่อสร้างเช่นกัน) ให้มีสถานีรถไฟฟ้ารองรับอยู่บริเวณชั้นใต้ดินของอาคารด้วย (จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้หารือร่วมกัน) นอกจากนี้หากเส้นทางการก่อสร้างไม่สิ้นสุดที่อาคารผู้โดยสารด้านใต้จะไม่ใช่เส้นทาง บางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตามที่กทม.ตั้งชื่อโครงการ ดังนั้นควรก่อสร้างในเฟสที่ 1 ให้ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ควรมาหยุดอยู่ริมถนนบางนา-ตราด

รถไฟฟ้า LRT จะช่วยเพิ่มความสะดวกการเดินทางให้ประชาชนโดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ที่สถานีบางนาและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงพัฒนาการ – สำโรง ที่สถานีศรีเอี่ยม รวมทั้งเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สถานีสุวรรณภูมิใต้

แม้รถไฟฟ้าสีเงินจะจบการศึกษาแล้ว แต่ยังขาดความพร้อมหลายด้าน ต้องขยับแผนก่อสร้างจากปี 2568 เป็น 2572 ที่สำคัญยังต้องรอนโยบายรัฐบาลใหม่ด้วยว่าจะให้หยุดหรือชะลอการเติบโตของรถไฟฟ้าหลากสีหรือไม่.

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…