ภาวะ “เอลนีโญ” ที่เข้าสู่ประเทศไทยช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณฝนโดยเฉลี่ยทั้งประเทศตกน้อยกว่าปกติ หลายภาคส่วนจึงมีความเป็นห่วงกันว่า จะเกิดปัญหาภัยแล้งถึงขั้นวิกฤติหรือไม่อย่างไรกับคนไทย

ทีมข่าว Special Report ได้สนทนากับ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในหลายประเด็นคำถาม ตั้งแต่แนวโน้ม-ภาพรวมปริมาณน้ำฝนปี 66-67 ศักยภาพในการกักเก็บ และปริมาณการใช้น้ำของแต่ละภาคส่วน (การเกษตร บริโภค อุตสาหกรรม ผลักดันน้ำเค็ม รักษาสมดุลทางธรรมชาติ) ภาคส่วนไหนมีปัญหามากที่สุด อย่างไร

นายสุรสีห์กล่าวว่าจากติดตามสถานการณ์ปัจจุบัน ปรากฏการณ์ “เอนโซ” อยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อน มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 66 โดยจะมีกําลังอ่อนลงและต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 67 ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณฝนสะสมภาพรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติ ร้อยละ 21 โดยต่ำสุดที่ภาคกลาง ต่ำกว่าค่าปกติ -37%

ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณน้ำใช้การรวม 19,779 ล้าน ลบ.ม. (34%) มีผลการจัดสรรน้ำ 11,609 ล้าน ลบ.ม. (74%) มีอ่างเก็บน้ำส่งน้ำเกินแผนแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนทับเสลา และเขื่อนบางลาง โดยแต่ละภาคยังสามารถจัดสรรน้ำได้

ขณะที่แหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก (ปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด (URC)) 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล และอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง และแหล่งน้ำที่น้ำน้อยกว่า 30 % ใช้การ จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำภูมิพล (18%) แม่มอก (16%) สิริกิติ์ (24%) แควน้อยฯ (13%) บึงบอระเพ็ด (3%) ทับเสลา (19%) ป่าสักฯ (7%) กระเสียว (17%) จุฬาภรณ์ (20%) อุบลรัตน์ (15%) คลองสียัด (11%) นฤบดินทรจินดา (29%) และปราณบุรี (16%)

default

ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน 66 จากการติดตามจัดสรรน้ำฤดูฝน ปี 66 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ช่วงวันที่ 1 พ.ค.66– 25 ส.ค.66 แผนจัดสรรน้ำ จำนวน 15,701.09 ล้าน ลบ.ม. และผลจัดสรรน้ำ 11,432.37 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 ของแผนทั้งฤดู พบว่าการจัดสรรน้ำยังคงน้อยกว่าแผนทั้งฤดู อีกเกือบ 2 เดือนที่เหลือมีปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรน้ำอีก 4,269 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันปริมาณน้ำใช้การของแหล่งน้ำทั่วประเทศมีอยู่ 19,779 ล้าน ลบ .ม. ดังนั้นปริมาณน้ำมีเพียงพอ สามารถสนับสนุนทุกกิจกรรมการใช้น้ำตลอดฤดูฝนนี้ โดยสทนช. เน้นย้ำการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอที่จะจัดสรรถึงฤดูแล้งปี 66/67

สำหรับการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง 66/67 แผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 66/67 จำนวน 35 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ช่วงวันที่ 1 พ.ย.66 ถึง 30 เม.ย.67 ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน  โดยคาดการณ์การจัดสรรน้ำในเขตชลประทานรวม 13,581 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย 4 กิจกรรมการใช้น้ำหลัก  ดังนี้

1.อุปโภคบริโภค  4,405 ล้าน ลบ.ม. 2.การเกษตรไม้ผลไม้ยืนต้น 1,422 ล้าน ลบ.ม. 3. อุตสาหกรรม 670 ล้าน ลบ.ม. 4.รักษาระบบนิเวศ 3,151 ล้าน ลบ.ม. และ 5. อื่นๆ 3,933 ล้าน ลบ.ม. จากการวางแผนจัดสรรน้ำคาดว่าปริมาณน้ำมีเพียงพอไม่มีผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำ  ทั้งนี้ สทนช. จะติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัดต่อไป และจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานปฏิบัติปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

ภาวะโลกร้อน-สถานการณ์เอลนีโญอาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยในปี 66-67

เลขาธิการ สทนช.  กล่าวว่าสถานการณ์น้ำและปรากฏการณ์เอนโซ มีแนวโน้มเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิ.ย.66 ยาวนานถึงเดือนเม.ย.67 ทำให้ปริมาณฝนมีแนวโน้มใกล้เคียงกับค่าปกติหรือน้อยกว่าค่าปกติในฤดูฝนปี 66 ต่อเนื่องถึงปี 67 ส่งผลต่อปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั้งประเทศ ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำรายฤดูกาล ในการวางแผนการจัดสรรน้ำของกิจกรรมการใช้น้ำต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่คาดการณ์ไว้ก่อนเข้าสู่ฤดูกาล สำหรับการวางแผนช่วงฤดูฝนจะอาศัยใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรที่ใช้น้ำมากกว่าร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับกิจกรรมการใช้น้ำอื่น ๆ

ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 66 สทนช. จึงได้นำมาตรการรับมือฤดูฝน ปี  66 (12 มาตรการ) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 พ.ค.66 ซึ่งมีมติรับทราบและเห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดย สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 ขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งได้มีการรองรับสถานการณ์เอลนีโญที่อาจส่งผลให้เกิดในสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงและขาดแคลนน้ำแล้ว ในมาตรการที่ 3 5 9 และ 12

การบริหารทรัพยากรจัดการน้ำส่งผลให้ทิศทางภัยพิบัติน้ำท่วม-ภัยแล้งเพิ่มขึ้นหรือลดลง? 

จากสถิติงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำตั้งแต่ปี  61-66 อยู่ที่ประมาณ 100,630 – 115,448 ล้านบาท ซึ่งยังคงมีแนวโน้มที่ทรงตัว และคาดว่าจะยังทรงตัวไปอย่างต่อเรื่องในระยะแรก เพื่อเน้นการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ณ ปัจจุบัน เมื่อใดที่การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานได้เต็มรูปแบบ การพัฒนาจะเน้นไปในด้านของการบริหารจัดการ/บำรุงรักษา จะทำให้งบประมาณลงลดในอนาคต

ขณะที่การบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติตั้งแต่รัฐบาลได้จัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (เมื่อวันที่ 10 ม.ค.63) เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาและสามารถแก้ไขปัญหาภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที ประกาศแจ้งเตือนข้อมูลให้ทุกภาคส่วนทราบ รวมถึงบัญชาการในขณะเกิดเหตุให้สถานการณ์คลี่คลายเร็วกว่าปกติ ทั้งในช่วงก่อนฤดูแล้ง ระหว่างฤดูแล้ง และหลังฤดูแล้ง โดยมีการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และกำหนดแผนการจัดสรรน้ำทั้งด้านอุปโภคบริโภค เกษตร อุตสาหกรรม ระบบนิเวศ และการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงการสรุปบทเรียนการดำเนินการที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในปีถัดไป

โดยรัฐบาลได้มุ่งมั่น ทุ่มเท และให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ส่งผลให้สถิติความเสียหายภัยจากน้ำลดลงอย่างชัดเจน เช่น ในปี 62 เป็นปีที่แล้งรุนแรงมาก แต่การบริหารจัดการน้ำในเชิงป้องกัน วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และหาแหล่งน้ำสำรอง ทำให้มีหมู่บ้านประกาศภัยแล้งปี 62 เพียง 30 จังหวัด 891 ตำบล ใน 7,662 หมู่บ้าน น้อยกว่าการบริหารจัดการน้ำในหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดในปี 64/65 ยังไม่มีประกาศภัยแล้ง

ส่วนปัญหาอุทกภัยมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า และบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ทำให้ความเสียหายน้อยลง ป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปีแรกที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงานมีความเสียหายเพียง 94 ล้านบาท สำหรับปี 64 ได้เริ่มมีการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ สามารถแจ้งเตือนและบูรณาการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ทำให้มีความเสียหายทั่วประเทศเพียง 580 ล้านบาทเท่านั้น

โครงการขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องทำในอนาคต

ปัจจุบันมีโครงการสำคัญที่ได้รับงบประมาณปี 66 จำนวน 34 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำใช้ประโยชน์ 148 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 39,690 ไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 84,417 ไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์ 65,715 ครัวเรือน เช่น อ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง จ.ตราด อ่างเก็บน้ำ ธารประเวศ จ.สุราษฎร์ธานี ระบบระบายน้ำหลักพื้นที่ชุมชนเมืองสตูล ระยะที่ 1 จ.สตูล พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่ ส.ป.ก. จ.กระบี่  

ส่วนแผนขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ที่อยู่ในเป้าหมาย ซึ่งสอดรับกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ในปี 67 หน่วยงานได้เสนอขอรับงบประมาณในระบบ Thai Water Plan จำนวน 165 โครงการ คาดว่าสามารถเพิ่มปริมาณน้ำใช้ประโยชน์ 2,634 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 2.7 ล้านไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 2.1 ล้านไร่ และรับประโยชน์ 959,323 ครัวเรือน เช่น โครงการคลองระบายน้ำหลาก ชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองพระยาราชมนตรี กรุงเทพ โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาชลบุรี-พนัสนิคม-(พานทอง)-(ท่าบุญมี) ระยะที่ 2 (รองรับ EEC) จ.ชลบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ น่าน โครงการเครือข่ายน้ำ อ่างเก็บน้ำ ประแสร์-อ่างเก็บน้ำ หนองค้อ-อ่างเก็บน้ำ บางพระ จ.ระยอง เป็นต้น

โครงการขนาดใหญ่ที่จะขับเคลื่อนในอนาคต เช่น อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี คลองระบายน้ำหลาก ชัยนาท-ป่าสัก จ.ชัยนาท โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี อ่างเก็บน้ำ ห้วยน้ำลาย จ.เลย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังทบทวนปรับปรุงแหล่งน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำ สทนช.ยังประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงแผนงานโครงการในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำและระบบการส่งน้ำให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจำเป็นต้องมีการทบทวนปรับปรุงโครงสร้างแหล่งน้ำให้เต็มศักยภาพและเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

ขับเคลื่อนการจัดการน้ำชุมชน สทนช.ได้ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ดำเนินโครงการสร้างต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง (กำหนดทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ 1.ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 2. ต.สะพานหิน อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท 3. ต.หนองมะเขือ อ.พล จ.ขอนแก่น ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความพร้อมของชุมชนในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ด้วยตนเอง

ทิศทางแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งให้น้อยลง-ใช้งบเยียวยาน้อยลงและข้อเสนอแนะรัฐบาลใหม่ 

ประเทศไทยขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยใช้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580) มีการทบทวนแผนแม่บทฯ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วตลอดระยะเวลา 5 ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบแผนแม่บทดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยจะใช้เป็นกรอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ ในระดับประเทศ ลุ่มน้ำ และพื้นที่ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

อีกทั้งที่ผ่านมา การวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จะวางแผนเป็นรายฤดูกาล คือ 1 ปี จะวางแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน ตั้งแต่ 1 พ.ค. ถึง 31 ต.ค. และ ฤดูแล้ง ตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึง 30 เม.ย. ปีถัดไป

โดยสทนช.มีระบบ Thai Water Plan (TWP) เพื่อบริหารจัดการแผนงานโครงการและฐานข้อมูลสำหรับบูรณาการแผนงาน/โครงการด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ ลดความซ้ำซ้อนในการขอใช้งบประมาณ เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้ตรงจุด เน้นการแก้ปัญหาเชิงรุก เพื่อลดผลกระทบและงบประมาณในการชดเชยเชียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

สำหรับรัฐบาลใหม่ ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ใช้เป็นกรอบแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และมีโครงสร้างในการบริหารจัดการทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับประเทศ (คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ระดับลุ่มน้ำ (คณะกรรมการลุ่มน้ำ) และระดับพื้นที่ (องค์กรผู้ใช้น้ำ) สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

โดยทิศทางการแก้ไขปัญหาโดยใช้งบประมาณให้น้อยลงนั้น ในอดีตที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาต่างๆ จะเน้นการใช้มาตรใช้สิ่งปลูกสร้างเป็นหลัก ซึ่งมีค่าดำเนินการที่สูง ปัจจุบันสทนช. ได้ผลักดันแนวคิดในการใช้มาตรการที่ไม่ใช้สิ่งปลูกสร้าง และการบริหารจัดการ เข้ามาร่วมในการแก้ไขปัญหาเพิ่มลงงบประมาณให้น้อยลง ได้แก่  มาตรการการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เป็นการบริหารจัดการแบบองค์รวมที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ ระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐาน เช่น การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างระบบกักเก็บน้ำย่อยๆ ในระดับท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำที่คอยรับน้ำดักตะกอน รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน การเพาะปลูกชนิดพันธุ์ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดการสมดุลยของการพัฒนา และการอนุรักษ์ควบคู่กัน

การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ โดยการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและประโยชน์ต่าง ๆ จากระบบนิเวศเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางปรับตัวในภาพรวม เพื่อช่วยให้ มนุษย์สามารถรับมือกับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

การใช้กฎหมาย องค์กรการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ การจัดทำแผนการพัฒนา และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเป็นกลไกในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในเกิดความสมดุลระหว่างความต้องการ (Demand) และ น้ำต้นทุน (Supply) ซึ่งจะช่วยลดปัญหาในการขาดแคลนน้ำได้

โครงการที่ออกแบบวางแผนไว้ต้องปรับเปลี่ยนตามบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายสุรสีห์กล่าวด้วยว่าปีนี้จนถึงหน้าแล้งปีหน้า จะไม่แล้งรุนแรงถึงขั้นวิกฤติ เพราะถ้าวิกฤติคือการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ไม่ไปถึงจุดนั้นแน่นอน เนื่องจากเราสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ และหน้าแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.66-30 เม.ย.67 ได้อย่างแน่นอน เพราะเรามีมาตรการต่างๆออกมารองรับ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความตื่นตัวและช่วยกันทำงานเป็นอย่างดี ดังนั้น ณ ปัจจุบันไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย.67 ไม่น่าจะมีอะไรรุนแรง โดยเฉพาะเดือนก.ย.-ต.ค.66 ตามสถิติจะมีพายุ ไต้ฝุ่น ร่องมรสุมเข้ามาบ้าง  ดังนั้นจึงไม่น่าห่วง แต่ก็ไม่ประมาท และเราได้มองสถานการณ์ล่วงหน้าไปวันที่ 1 พ.ย.67 กันแล้วว่า ถ้าเอลนีโญลากยาวไป จะต้องรับมืออย่างไร

“โครงการที่เคยวางแผน ออกแบบไว้ในอดีต หลายโครงการต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ถูกออกแบบมาให้รองรับพายุไต้ฝุ่น แต่ปัจจุบันโครงการขนาดใหญ่อาจจะสร้างยาก แล้วเราต้องทำอย่างไร? ทำโครงการพื้นที่รองรับน้ำ (หน่วงน้ำ) ตั้งแต่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ขึ้นไป จะหน่วงน้ำไว้ได้ 3,000 ล้านลบ.ม. หรือประตูสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ของการประปานครหลวง สามารถขยับขึ้นเหนือไปได้อีกหรือไม่ เพื่อลดการปล่อยน้ำจืดมาไล่น้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ต้องหยุดทำนาปรังบ้างเพื่อเก็บน้ำไว้อุปโภค-บริโภค ที่สำคัญทุกครัวเรือนควรมีที่เก็บน้ำไว้ใช้เองบ้านละ 10 ลบ.ม. ถ้าทำได้ทุกครัวเรือนทั่วประเทศรวมกันเท่ากับความจุน้ำในเขื่อนขุนด่านฯจ.นครนายก” นายสุรสีห์ กล่าว