ซึ่งนัยว่าซากร่างดังกล่าวไม่มี DNA เชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตใดบนโลก?? โดยกรณีนี้ เอาเข้าจริงยังไงกันแน่??…นั่นก็เรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีอีกเรื่องของเม็กซิโก…แต่ก็เป็น “เรื่องที่ยึดโยงทุกประเทศบนโลก…รวมถึงไทย” นั่นคือเรื่องที่เม็กซิโกจะใช้ “กฎหมายคุ้มครองน่านฟ้าอวกาศ”

แม้จะฟังดูล้ำ ๆ “เหมือนหนังไซ-ไฟ”

แต่ “กฎหมายนี้มีหลายประเทศที่ใช้”

และ “ไทยก็เกี่ยวพันกฎหมายอวกาศ”

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนดูเกี่ยวกับ“กฎหมาย” ที่เกี่ยวกับ“อวกาศ” ที่อาจฟังดูคล้าย ๆ นิยายหรือหนังแนวไซ-ไฟ ซึ่งเรื่องนี้มีข้อมูลโดย GISTDA หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ของไทย ที่ระบุเกี่ยวกับกฎหมายนี้เอาไว้ว่า… มี “กฎหมายอวกาศ” หรือ“Space Law” หรือ สนธิสัญญาว่าด้วยการใช้อวกาศอย่างสันติ ซึ่งนี่เป็น กฎหมายเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรในอวกาศบนหลักการที่ว่า…ทุกประเทศต่างมีเสรีภาพในการสำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศ รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ๆ บนพื้นฐานแห่งการเสมอภาคเท่าเทียมกัน

เน้นประโยชน์ทางสันติของทุกประเทศ

นอกจากนี้ ข้อมูลโดย GISTDA ยังมีการระบุไว้อีกว่า… “กฎหมายอวกาศ” นี้เป็น แขนงหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากลักษณะและธรรมชาติของ การส่ง “จรวด” หรือ “ยานอวกาศ” ขึ้นไปนอกโลก นั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จรวดหรือยานอวกาศนั้น ในระหว่างการเดินทางออกไปสู่อวกาศ หรือการออกไปโคจรรอบโลกในอวกาศ และเมื่อกลับเข้ามาในชั้นบรรยากาศและความดึงดูดของโลก จะต้องผ่านและเกี่ยวพันกับประเทศต่าง ๆ เกินกว่า 1 ประเทศขึ้นไปเสมอ ดังนั้น กฎหมายอวกาศจึงถูกจัดทำขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำกับและควบคุมให้นานาประเทศร่วมกันใช้ประโยชน์ห้วงอวกาศในทางสันติ…

ต้องเคารพน่านฟ้าอวกาศประเทศอื่น!!

และด้วยความที่ “กฎหมายอวกาศ – Space Law” ก็ถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ กฎหมายดังกล่าวนี้เกี่ยวพันกับเรื่องของ…สนธิสัญญา อนุสัญญา และข้อตกลงระหว่างประเทศ อย่างน้อย 5 ฉบับ ขณะที่ “ประเทศไทย” ก็ได้ “เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีของกฎหมายอวกาศ” เช่นกัน โดยที่เกี่ยวพันกับไทยแล้วก็มีอยู่ อย่างน้อย 2 ฉบับ ดังนี้คือ…

ฉบับหนึ่ง… สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก ที่ก็จะ รวมถึงดวงจันทร์ และเคหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ด้วย ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้เป็น สนธิสัญญาพหุภาคีฉบับแรกที่ว่าด้วยเรื่องความร่วมมือในอวกาศ โดยมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้ทุกประเทศมีเสรีภาพในการสำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศ รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้า บนพื้นฐานการเสมอภาคเท่าเทียมกันซึ่งกำหนดให้เป็นผลประโยชน์ของประเทศทั้งมวล ไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยการอ้างถึงอธิปไตย หรือโดยการใช้การยึดครอง

อีกฉบับหนึ่ง… ความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักบินอวกาศ การส่งคืนนักบินอวกาศ และการคืนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ซึ่งสำหรับฉบับนี้นั้น มีหลักการที่สำคัญคือ รัฐภาคีต้องให้การช่วยเหลือนักบินอวกาศที่ประสบภัย หรือต้องลงพื้นโลกอย่างฉุกเฉิน หรือแจ้งรัฐผู้รับผิดชอบในการปล่อยยานอวกาศ โดยหากเป็นวัตถุอวกาศให้แจ้งรัฐที่จดทะเบียนวัตถุอวกาศนั้น …นี่เป็น“กฎหมายอวกาศ” อีกฉบับที่ “ไทยมีข้อผูกพัน” ในฐานะประเทศที่เข้าร่วมเป็นรัฐภาคี

ขณะที่ยังมี “กฎหมายอวกาศ” อีก 3 ฉบับที่ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีด้วยในเวลานี้ กล่าวคือ… อนุสัญญาว่าด้วยความรับผิดระหว่างประเทศสำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศ ที่มีหลักการสำคัญคือ รัฐผู้ส่งวัตถุอวกาศจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งมวลสำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศนั้น ถัดมาเป็น อนุสัญญาว่าด้วยการจดทะเบียนวัตถุอวกาศ มีสาระสำคัญคือ รัฐผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนวัตถุที่ส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศ รวมถึงแจ้งต่อองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และอีกฉบับ ความตกลงว่าด้วยกิจกรรมของรัฐบนดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น

นี่คือ 3 กฎหมายอวกาศที่ไทยยังไม่ได้ร่วม

ทั้งนี้ ข้อมูลโดย GISTDA ยังระบุด้วยว่า… สนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลงระหว่างประเทศด้าน “อวกาศ” ที่มีในปัจจุบัน จะเน้นครอบคลุมหลักทั่ว ๆ ไปเพื่อคุ้มครองความมั่นคงในระดับสากล ขณะที่กฎเกณฑ์ในประเทศ จะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐแต่ละรัฐที่จะกำหนดมาตรการเพื่อกำกับดูแลและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนากิจการอวกาศภายในประเทศที่เป็นไปตามหลักสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันไม่ให้ประเทศของตนเสียผลประโยชน์จากการแข่งขันการ “ใช้ประโยชน์จากอวกาศ” ที่นับวันยิ่งมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ …ซึ่งกับ “ดวงจันทร์” นั้นตอนนี้ “ไทยก็มีสิทธิ” เช่นกัน

เหล่านี้เป็นเรื่องของ “กฎหมายอวกาศ”

ว่าด้วย “สิทธิในอวกาศของมนุษย์โลก”ที่ “ไม่เกี่ยวกับเอเลี่ยน-มนุษย์ต่างดาว”.