การปรับขึ้นค่าจ้างแพงๆ ผู้ใช้แรงงานที่ไหนก็อยากได้ทั้งนั้น รวมทั้งพรรคการเมืองที่ชูนโยบายหาเสียงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ก็พอใจถ้าสามารถทำนโยบายที่หาเสียงไว้ได้สำเร็จ แต่ในส่วนของนายจ้าง-สถานประกอบการ ซึ่งเป็น “ผู้จ่าย” มองอย่างไรกับเรื่องดังกล่าว

วันนี้ทีมข่าว Special Report นำมุมมองของ นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค มานำเสนอว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท จะมีทิศทางอย่างไร และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ปรับขึ้นค่าจ้างตามการแทรกแซงทางการเมืองไม่ได้!

นายอรรถยุทธกล่าวว่าเรื่องค่าจ้างแรงงานนั้น อยู่ดีๆจะปรับขึ้นตามการแทรกแซงทางการเมืองไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย โดยนวัตกรรมนโยบายการหาเสียงเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันของพรรคการเมืองต่างๆนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง เนื่องจากลูกจ้างมีจำนวนมากกว่านายจ้าง แต่สุดท้ายแล้วเรามีคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าว

โดยคณะกรรมการไตรภาคี มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากลูกจ้าง 5 คน ตัวแทนจากนายจ้าง 5 คน และตัวแทนจากภาครัฐ 5 คน โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ตอนนี้กำลังรอปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่เข้ามาเริ่มทำงานในเดือนต.ค.66 หลังจากนั้นจึงมีการนัดประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อพิจารณาเรื่องค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะเป็นวันละกี่บาท และมีผลเมื่อไหร่

“ยังบอกไม่ได้ว่าควรปรับขึ้นค่าแรงเท่าไหร่ เพราะต้องดูในหลายปัจจัย โดยเฉพาะในเรื่องของเงินเฟ้อ แต่ตอนนี้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทั่วประเทศ กำลังเก็บข้อมูลและกลั่นกรอง เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัดของตัวเองกันอยู่ หลังจากนั้นจะส่งข้อมูลมาให้คณะกรรมการชุดใหญ่ในกรุงเทพฯเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง”

นายอรรถยุทธกล่าวต่อไปว่าการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานนั้น ต้องพิจารณาใน 3 ส่วนนี้ คือ 1.ความจำเป็นของลูกจ้างมีมากแค่ไหน จากปัจจัยเรื่องค่าครองชีพ ดัชนีค่าครองชีพ ตั้งแต่ค่าเช่าบ้าน ค่ากิน ค่ารถ ในอดีตเคยมีการพิจารณาไปถึงค่าแทงหวยด้วย และตัวเลขเงินเฟ้อ

2.ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ต้องดูความพร้อมของนายจ้างแต่ละรายธุรกิจด้วย เนื่องจาก “ค่าแรง” ถือเป็นต้นทุนการผลิตที่ “ฟิกซ์ คอร์ส” หลบหลีกไม่ได้เลย ถ้าจะปรับค่าแรงเพิ่มก็ต้องถามกลับว่าวันนี้ประสิทธิภาพแรงงานในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ ตอบว่าไม่เลย แต่ในทางกลับกันถ้าแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะได้ใจนายจ้างมากขึ้นตามไปด้วย คุณทำงานดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ธุรกิจมีรายได้ มีกำไรดีก็ต้องแบ่งปัน (โบนัส) กันตามความเหมาะสมอยู่แล้ว

3.ภาวะเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศไทยและในภูมิภาคนี้ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร

ขยับขึ้นเป็น400บาทต่อวัน-นายจ้างตายแน่!

นี่คือ 3 ส่วนที่จะต้องนำมาพิจารณาก่อนที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท โดยเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลได้ประกาศใช้ค่าขั้นต่ำที่ปรับขึ้นมาใหม่อีกวันละ 8-22 บาท เมื่อวันที่ 1 ต.ค.65 แต่ปีนี้ตามข่าวว่ารัฐบาลอยากให้ประกาศมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.67 เพื่อเป็นของจวัญปีใหม่ให้ผู้ใช้แรงงานนั้น ตนมองว่าคงลำบาก!ในสภาพทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จากค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 352-354 บาท จะขยับขึ้นไปเป็น 400 บาท นายจ้าง-สถานประกอบการตายแน่นอน

โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีการจดทะเบียนอยู่ในระบบทั่วประเทศจำนวน 9 แสนราย แต่ปัจจุบันมีการแอคทีฟจริงๆ แค่ 4 แสนรายเท่านั้น เพราะรายได้หดหาย ขาดสภาพคล่อง และมีภาระหนี้สิน ดังนั้นถ้าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมารวดเดียว 40 กว่าบาทต่อวัน เขาอยู่กันไม่ได้หรอก

“ตอนนี้ยังพูดไม่ได้ว่าควรปรับค่าแรงขึ้นเท่าไหร่ เมื่อไหร่ เพราะเดือนต.ค.นี้เมื่อได้ปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่เข้ามาทำงาน คงมีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีกัน โดยส่วนตัวมองว่าอยากให้นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ทำงานบริหารประเทศไปก่อน 6 เดือน ผมเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกฯ ดังนั้นในระยะเวลา 6 เดือน น่าจะเห็นสัญญาณอะไรที่ดีขึ้นมาบ้าง ส่วนเรื่องการปรับค่าแรงค่อยไปมีผลในวันแรงงาน 1 พ.ค.67 แต่จะปรับเพิ่มได้แค่ไหนนั่นอีกเรื่องหนึ่ง คิดว่าตรงนี้นายจ้าง-สถานประกอบการคงพอจะยอมรับกันได้” นายอรรถยุทธ กล่าว