ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว รัฐบาลสหภาพโซเวียตสถาปนา “เขตปกครองตนเองนากอร์โน-คาราบัค” ซึ่งพลเมืองประมาณ 3 ใน 4 มีเชื้อสายอาร์เมเนีย ให้อยู่ภายในอาณาเขตของอาเซอร์ไบจาน แม้การสู้รบระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์ของทั้งฝ่ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลาไม่นานหลังจากนั้น แต่รัฐบาลของสหภาพโซเวียตสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ตลอด จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนธ.ค. 2534 อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ต่างได้รับเอกราช

ทิวทัศน์ของเมืองสเตพานาแกร์ต เมืองเอกของเขตนากอร์โน-คาราบัค

อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) รับรองเขตนากอร์โน-คาราบัค ให้เป็นดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของอาเซอร์ไบจาน พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างทั้งสองประเทศ และมีการสู้รบกันเรื่อยมา อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2531 หรือ 3 ปีก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต คณะผู้ปกครองในเขตนากอร์โน-คาราบัคต้องการผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เมเนีย แม้ดินแดนแทบทั้งหมดอยู่ภายในอาณาเขตของอาเซอร์ไบจาน อีกทั้งยังประกาศเอกราชเองฝ่ายเดียว หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตด้วย

เวลาล่วงเลยไปจนกระทั่งถึงปี 2536 อาร์เมเนียสามารถยึดครองพื้นที่ประมาณ 20% ในเขตนากอร์โน-คาราบัค และอีก 1 ปีต่อมา รัสเซียเป็นผู้นำในการเจรจาสงบศึกให้ทั้งสองฝ่ายด้วยข้อตกลงหยุดยิง ตามกรอบความร่วมมือของ “กลุ่มมินสก์” ร่วมด้วยสหรัฐและฝรั่งเศส ก่อตั้งตามมติขององค์การความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ( โอเอสซีอี ) เมื่อปี 2535 หลังจากนั้นอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานยังคงสู้รบกันเป็นระยะ รุนแรงที่สุดเมื่อปี 2563 ซึ่งทั้งสองประเทศสูญเสียทหารรวมกันราว 7,000 นาย

การแย่งชิงเขตนากอร์โน-คาราบัค ระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน เป็นมากกว่าการได้ครอบครองอาณาเขต แต่ยังมีเหตุผลเรื่องเชื้อชาติ จุดยุทธศาสตร์ และประเด็นทางเศรษฐกิจ แม้พื้นที่แห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเทือกเขาคอเคซัสไม่ได้มีทรัพยากรมากมาย แต่ความสำคัญอยู่ที่การเป็นจุดยุทธศาสตร์ลำเลียงก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากเอเชียกลาง และเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งหลายฝ่ายมีแผนการใช้เป็นเส้นทางวางท่อส่งพลังงานออกจากทวีปเอเชียเข้าสู่ทวีปยุโรปด้วย โดยอาเซอร์ไบจานอยู่ในกลุ่มประเทศซึ่งมีทรัพยากรน้ำมันมากเป็นลำดับต้นในแถบนี้ นอกเหนือจากเติร์กเมนิสถานและคาซัคสถาน

อย่างไรก็ตาม การที่ทหารอาเซอร์ไบจานและกองกำลังติดอาวุธฝักใฝ่อาร์เมเนียประจำการอยู่ใกล้กันมากในเขตนากอร์โน-คาราบัค และแทบไม่เคยคิดที่จะสื่อสารกัน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าจะเกิดการปะทะกัน อาเซอร์ไบจานจึงจำเป็นต้องก่อสร้างเส้นทางลำเลียงพลังงานให้ห่างจากเขตนากอร์โน-คาราบัคและอาร์เมเนีย แม้ต้องแลกกับการเสียเวลาเป็น 2 เท่าในการที่จะส่งพลังงานไปยังจอร์เจียและตุรกี ซึ่งเป็นลูกค้าหลักในการซื้อพลังงานจากอาเซอร์ไบจาน

ประชาชนในเขตนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายอาร์เมเนีย โดยสารรถบัสเพื่อลี้ภัยไปยังอาร์เมเนีย

เหตุการณ์รุนแรงรอบล่าสุดในเขตนากอร์โน-คาราบัค เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยกองทัพอาเซอร์ไบจานปฏิบัติการทางทหารแบบสายฟ้าแลบเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต “มากกว่า 200 ราย” และสถานการณ์ยุติด้วยการบรรลุข้อตกลงหยุดยิง และกองกำลังในพื้นที่ “ยุติการปกครองตนเอง” ภายในวันที่ 1 ม.ค. 2567

ความขัดแย้งระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนีย สามารถใช้เป็นเครื่องชี้วัด “การเดิมพันขอบเขตอำนาจ” ของตุรกีในบริเวณนี้ได้เช่นกัน และสามารถเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ “ที่ไม่ใช่ทั้งมิตรและศัตรู” ระหว่างตุรกีกับรัสเซีย

การที่ตุรกีประกาศสนับสนุนอาเซอร์ไบจาน “ไม่ใช่เรื่องแปลก” โดยเฉพาะการมีเรื่องหมางใจกับอาร์เมเนียตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเกิดหตุการณ์สังหารชาวอาร์เมเนีย 1.5 ล้านคนโดยกองทัพจักรวรรดิออตโตมัน ระหว่างปี 2458 ถึง 2466

แม้เบื้องหน้ารัสเซียแสดงจุดยืนตามแนวทางของกลุ่มมินสก์ นั่นคือการเรียกร้องให้อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานหยุดยิง แต่เป็นที่น่าสังเกตไม่น้อย ว่ารัฐบาลมอสโกเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง จริงอยู่ที่รัสเซียมีข้อตกลงความร่วมมือทางทหารกับอาร์เมเนีย ทว่ารัฐบาลมอสโกไม่เคลื่อนไหวทางทหารอย่างโจ่งแจ้ง โดยมารูปแบบของ “กองกำลังรักษาสันติภาพ”

จุดตรวจของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพรัสเซีย ในเมืองสเตพานาแกร์ต เมืองเอกของเขตนากอร์โน-คาราบัค

เขตนากอร์โน-คาราบัค ไม่ใช่ความขัดแย้งและการช่วงชิงอิทธิพลระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานเท่านั้น ท่ามกลางความหอมหวนของผลประโยชน์ด้านพลังงาน และบริบทภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงกลังความขัดแย้งด้านอาวุธรอบล่าสุด ที่สั่นคลอนความร่วมมือด้านความมั่นคงอันยาวนาน ระหว่างอาร์เมเนียกับรัสเซีย ตัวละครหลักจากทั้งภายในและภายนอก ต่างกำลังเน้น “เคลื่อนไหวหลังฉาก” เป็นหลัก.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP