ปรากฎการณ์…ที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์รวมตัวกันลงชื่อ “คัดค้าน” การดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นกันบ่อยนัก

ที่สำคัญ!! การคัดค้านครั้งนี้ เป็นการคัดค้านของอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ อดีตรองผู้ว่าการแบงก์ชาติ รวมไปถึงคณบดีเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการอีกจำนวนไม่น้อย ที่มีความเห็นต่าง

หากรัฐบาลยังคง “ดันทุรัง” ก็ยิ่งจะทำให้เกิดผลร้ายทางเศรษฐกิจตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายในการแจกเงินครั้งนี้ หากยังแจกแบบหว่านแห โดยยึดโยงคนไทย อายุ 16 ปี เป็นหลัก ภาระทางการคลังจะตามมาอย่างใหญ่หลวง และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะใช้หนี้กันได้หมดทุกบาททุกสตางค์

เพราะเงินจำนวน 5.6 แสนล้านบาท เพื่อนำมาแจกคนไทยมากถึง 56 ล้านคน ถือเป็นจำนวนมหาศาลทีเดียว แต่หากรัฐบาล “เลือกแจก” เฉพาะ “คนที่ใช่” โดยไม่รวมคนมีอันจะกิน ก็จะทำให้วงเงินลดลง

เบื้องต้นมีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาว่า ผลจากการรวมตัวคัดค้านของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลต้องถอยหลังมา 1 ก้าว เพื่อมาดูกลุ่มเป้าหมายใหม่ ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คนรวย” ที่ไม่มีความจำเป็นต้องนำเงินไปไล่แจก หากยกเว้นหรือยกเลิกไป ก็จะช่วยลดปริมาณทั้งจำนวนคน และวงเงินลงไปได้ด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันยังพบว่า รัฐบาลไม่มีฐานข้อมูลเลขที่บัญชีของผู้ที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องเปิดให้มีการลงทะเบียน เพื่อแสดงความต้องการในการเข้าร่วมโครงการกันใหม่

ก็หวังใจว่า ในการเปิดลงทะเบียนใหม่ครั้งนี้ ประชาชนบางส่วนอาจสละสิทธิ์ไม่เข้าร่วมโครงการก็ได้ เพราะจากฐานข้อมูลที่เข้าร่วมโครงการก่อนหน้านี้ จะมีเพียงประมาณ 40 ล้านคน

เมื่อคำนวณกับวงเงินที่จะแจก 10,000 บาท นั่นก็หมายความว่า… วงเงินที่ใช้จะลดลงเหลือเพียงประมาณ 4 แสนล้านบาท ก็เท่ากับว่าจำนวนเงินลดลงไป 1.6 แสนล้านบาททีเดียว

หรือแม้แต่ การหันไปใช้แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เหมือนเดิม ที่ประชาชนคนไทย ผู้มีรายได้น้อยต่างคุ้นเคยอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสร้างแอปใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย

รวมไปถึงเงื่อนไขของการใช้เงินในรัศมี 4 ก.ม. ที่ในความเป็นจริง ทั่วประเทศไทยแล้วคงไม่สามารถทำได้ทั่วทุกพื้นที่แน่นอน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกล

ว่ากันว่า…โครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเลต ครั้งนี้ จากความเห็นที่แตกต่าง ในเชิง “วิชาการ” ได้แปรเปลี่ยนขยายความกลายไปเป็นเรื่องในเชิง “การเมือง”

ด้วยเพราะจำนวนเงินที่ใช้มหาศาล ขณะที่แหล่งเงินที่ใช้ ยังไม่มีความชัดเจน แม้ล่าสุด “กุนซือ” อย่าง “นพ. พรหมมินทร์ เลิศสุรเดช” เลขาธิการนายกฯ ได้ออกมาระบุไว้ชัด ๆ ว่า มี 3 แนวทาง

ทั้งจากการเกลี่ยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 โครงการไหนไม่สำคัญ ก็ยกไปก่อน ทั้งการใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มทีกระแสข่าวกันออกมาบ้างแล้วว่าจะใช้เงินของรัฐวิสาหกิจ ที่ก็มีกระแสข่าวว่า เป็น ธนาคารออมสิน

แนวทางนี้…จำเป็นต้องมีการขยายเพดานหนี้มาตรา 28 ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพิ่มขึ้น แต่มีเงื่อนไขสำคัญ ที่ต้องจัดสรรเงินงบประมาณมาคืนให้กับรัฐวิสาหกิจปีละ 1 แสนล้านบาทด้วย

ส่วนแนวทางสุดท้าย… คือการกู้เงินมาใช้โดยตรง เพราะรัฐบาลมีช่องที่จะกู้เงินได้โดยตรงอีก 1.7 ล้านล้านบาท เมื่อดูจำนวนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่ยังไม่เต็มเพดาน

อย่างไรก็ตามวิธีการกู้เงิน ถือว่า “เสี่ยง”ไม่น้อย เพราะเท่ากับว่ารัฐบาลก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น หนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็มีผลต่อการประเมินเครดิตเรตติ้งของประเทศเช่นกัน

เอาเป็นว่า ณ เวลานี้ ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน มีเพียงแค่ว่ารัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้แน่ ๆ เพราะเป็นโครงการ “เรือธง” ที่หาเสียงไว้กับพี่น้องคนไทย

ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ต้องอดใจรอกันไปก่อน จนกว่าทุกอย่างจะเคาะกันออกมาอย่างเป็นทางการ!!

ส่วน…เสียงเตือน!! เสียงบ่น!! เสียงก่นด่า!! ที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่รัฐบาลต้องเงี่ยหูฟัง และนำมาคิดใหม่ ทบทวนในสิ่งที่เป็นไปได้

เพราะอย่าลืมว่า… “เงิน” ที่รัฐบาล นำมาแจกจะกี่หมื่นกี่แสนล้านบาทน่ะ ก็คือเงินของประชาชนคนไทยทั้งประเทศนั่นแหล่ะ!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”