ที่สำคัญยังเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างดีเสมอ…จึงยังคงเป็นสินค้าที่มีโอกาสไปได้อีกไกล และสามารถใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” สร้างรายได้เสริมได้อย่างน่าสนใจ

งานเพนต์ลวดลายลงบนวัสดุต่าง ๆ นั้นหากคนที่พอจะมีทักษะด้านการวาดภาพอยู่บ้างก็สามารถฝึกทำได้ไม่ยากและอาจจะใช้เวลาฝึกหัดไม่นานก็สามารถทำได้ ส่วนคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านการเพนต์มาก่อนก็สามารถฝึกหัดทำได้ไม่ยาก อยู่ที่ความตั้งใจ คนเริ่มฝึกทำใหม่ ๆ อาจจะเริ่มจากการลองวาดลวดลายง่าย ๆ และฝึกลงสีง่าย ๆ ที่ไม่ซับซ้อนไปก่อน และพยายามฝึกหัดเพนต์ลงสีบ่อย ๆ ก็จะเริ่มคล่องขึ้น พอเริ่มเก่งและชำนาญมากขึ้นก็ค่อยพัฒนาไปวาดลายที่ยากขึ้น จากนั้นก็มาเป็นเรื่องของไอเดียการออกแบบลวดลายให้มีความสวยงามมีเอกลักษณ์ เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานให้ออกมาเป็นที่โดนใจลูกค้า

สำหรับการลงทุนในการทำสินค้างานเพนต์นั้น ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 บาทขึ้นไปส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานชิ้นนี้ ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 50% จากราคา ซึ่งราคาสินค้าเพนต์ลวดลาย มีตั้งแต่หลัก 100-1,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับประเภทของชิ้นงาน ประเภทของวัสดุที่นำมาเพนต์ รวมถึงขนาดและความยากง่ายของลวดลายที่เพนต์ลงบนสินค้า

วัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย วัสดุที่ใช้เพนต์ลาย เช่น เสื้อ รองเท้า แก้ว กระถางต้นไม้ดินเผา เป็นต้น และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพนต์รูป เช่น สีอะคริลิก, ดินสอ, ยางลบ, พู่กัน, จานผสมสี เป็นต้น

ขั้นตอนการทำ…“การเพนต์ลวดลายลงบนชิ้นงานต่าง ๆ” ซึ่งในการเพนต์ลวดลายลงบนชิ้นงานที่เป็นวัตถุต่าง ๆ อาจมีขั้นตอนวิธีการทำที่ไม่แตกต่างกันมาก อย่าง การเพนต์ลงวัสดุที่ทำจากไม้ ก็จะต้องทำการขัดตกแต่งผิววัสดุให้เรียบ ถ้ามีรอยแตกของไม้ก็ทำการโป้วอุดรอยให้เรียบร้อยก่อน เสร็จแล้วก็ทำการลงสีรองพื้น และขัดอีกครั้ง ถึงมาออกแบบร่างลวดลายที่ต้องการลงไป จากนั้นก็ลงสีตามที่ต้องการ เสร็จแล้วก็ทานํ้ายาเคลือบอีกรอบ

ส่วนถ้าเป็น วัสดุที่ทำจากผ้า อย่าง “การเพนต์เสื้อ” นำเสื้อที่ต้องการจะเพนต์ลวดลายไปทำการซักและตากให้แห้งก่อน เพราะบางครั้งบนเสื้ออาจจะมีสารเคลือบผ้าอยู่ ถ้าไม่ซักก่อนเวลาเพนต์ลวดลายลงสีจะทำให้สีไม่ติด เมื่อเสื้อที่ซักตากไว้แห้งสนิทดีแล้วก็ใช้ดินสอวาดลวดลายที่ออกแบบไว้ลงบนเสื้อ พอร่างแบบเสร็จแล้วก็ลงสีได้ทันที โดยให้นำกระดานไม้ที่เป็นแผ่นเรียบรองไว้ด้านในของเสื้อบริเวณส่วนที่จะลงสีเพื่อป้องกันสีซึมไปเปื้อนอีกฝั่ง การเพนต์เริ่มจากการลงสีรองพื้นก่อน การลงสีรองพื้นจะลงหนาหรือบางนั้นขึ้นอยู่กับเนื้อผ้า พอสีรองพื้นแห้งสนิทดีแล้วก็เริ่มลงสีจริง พอเพนต์สีตามแบบเสร็จแล้วก็ดูและเก็บรายละเอียดให้เรียบร้อยอีกครั้ง ปล่อยทิ้งไว้รอจนสีแห้งสนิท เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการเพนต์เสื้อ

การเพนต์รองเท้า” หรือ “การเพนต์หมวก” เริ่มจากใช้ดินสอร่างแบบวาดลวดลายที่ต้องการเพนต์ลงบนชิ้นงาน จัดวางองค์ประกอบให้ได้ตามที่ต้องการเมื่อทำการร่างแบบเสร็จแล้วก็ลงสีตามแบบได้เลย โดยการลงสีนั้นต้องค่อย ๆ ลงสีทีละส่วน และพยายามอย่าให้สีออกนอกเส้นที่ร่างไว้ การเพนต์ลงสีนั้นต้องลงสีซํ้าหลาย ๆ รอบ เพื่อให้ลวดลายนั้นมีสีสันที่ดูสดและสวย ซึ่งการลงสีซํ้าแต่ละรอบต้องรอให้สีแห้งก่อนถึงจะทำการลงสีซํ้าได้ ลงสีลวดลายเสร็จแล้วก็ใช้พู่กันทำการลงเส้นตัดขอบเพื่อความสวยงาม เสร็จแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้รอให้สีแห้งก็ทำการเคลือบนํ้ายาเพื่อป้องกันสีลอกหลุด เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ

ขั้นตอนการเพนต์วัสดุที่เป็น “แก้ว” นำแก้วที่ต้องการจะเพนต์มาทำความสะอาดด้วยนํ้ายาล้างจานเช็ดให้แห้ง จากนั้นก็มาทำการออกแบบลวดลายหรือภาพตามที่ต้องการ โดยขนาดของแบบนั้นต้องพอดีกับขนาดของแก้วไม่ใหญ่หรือเล็กไป เสร็จแล้วก็นำแบบมาวาดใส่ลงบนแก้วที่ต้องการจะเพนต์ เสร็จแล้วนำกาวกากเพชรมาร่างเส้นตามแบบบ่อยทิ้งไว้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้กาวกากเพชรนั้นแห้งสนิท จากนั้นทำการลงสีระบายลงไปบนแบบตามที่ต้องการ ลงสีเสร็จแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ให้สีแห้งสนิท ประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง เมื่อสีที่ลงไว้แห้งสนิทดีแล้วนำกาวร่างเส้นกากเพชรมาเก็บรายละเอียดตามขอบอีกรอบ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการเพนต์แก้ว

กระเป๋าสานเพนต์” เริ่มจากวาดแบบที่ต้องการลงบนกระเป๋าสาน เมื่อทำการร่างแบบเสร็จแล้วก็ทำการเพนต์ลงสีตามแบบได้เลย พอลงสีเสร็จเรียบร้อยหนึ่งรอบรอจนสีแห้งสนิท ให้ทำการลงสีทับอีกหนึ่งรอบเป็นรอบที่ 2 รอจนสีแห้งก็ลงสีอีกรอบเป็นรอบสุดท้าย เพื่อให้สีนั้นเข้ม ติดแน่นทนนาน ไม่หลุดลอกง่าย เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการเพนต์ลายลงกระเป๋าสาน

การเพนต์ลายลง “กระถางต้นไม้ดินเผา” นำกระถางดินเผานั้นไปล้างด้วยนํ้าสะอาดเอาฝุ่นผงเศษดินออกให้หมด และใช้ผ้าสะอาดเช็ดทั้งด้านในและด้านนอกของกระถางให้แห้งสนิท เสร็จแล้วก็มาทำการลงสีพื้นด้วยสีขาวทั้งด้านนอกและด้านในกระถางพอสีแห้งสนิทดีแล้ว ก็วาดรูปภาพที่ต้องการจะเพนต์ลงบนกระถาง เสร็จแล้วก็เริ่มเพนต์ลงสีบนรูปภาพที่วาดไว้ได้เลย พอสีแห้งสนิทก็นำไปพ่นสเปรย์เคลือบ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำกระถางเพนต์

…นี่เป็นอีกชิ้นงานที่เป็นงานฝีมือที่ทำได้ไม่ยาก ยิ่งฝึกฝนบ่อยก็ยิ่งมีความชำนาญมากขึ้น ซึ่งเทคนิค “การเพนต์” นี้ยังสามารถนำต่อยอดเพนต์ลงบนสินค้าประเภทอื่น ๆ ได้หลากหลายเป็นการสร้างเอกลักษณ์ สร้างจุดเด่น ที่สำคัญเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถยึดทำเป็นอาชีพเสริมใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ได้อย่างน่าสนใจ…

คู่มือลงทุน…สินค้างานเพนต์ลาย
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 1,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัสดุ ประมาณ 50% จากราคา
รายได้ ราคาตั้งแต่ 100-1,000 บาทขึ้นไป
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด ขายออนไลน์, ตลาดงานฝีมือ
จุดน่าสนใจ งานฝีมือ+ศิลปะเพิ่มมูลค่าให้ชิ้นงาน

………………………………..
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์