เมื่อวันที่ 2 พ.ย. นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เปิดเผย ถึงความคืบหน้าคดีลักลอบส่งถุงมือยางอนามัยส่งจำหน่ายไปต่างประเทศว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 10 มี.ค. พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้สรุปสำนวนพร้อมความเห็นคดี ให้กับสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ 3 พิจารณา โดยมีบริษัท แพดดี้ เดอะรูม เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 นายลุก-เฟย หยาง หยาง กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทฯ ในฐานะส่วนตัว ผู้ต้องหาที่ 2 และ นายพิพัฒผล หอมจรรยา พนักงานบริษัทฯ ผู้ต้องหาที่ 3

แจ้งข้อหาฐานร่วมกันผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยไม่ได้จดทะเบียนสถานประกอบการต่อผู้อนุญาต, ร่วมกันผลิตเครื่องมือแพทย์ปลอม, ร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ปลอม, ร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ผิดมาตรฐาน ตามมาตรา 16, ร่วมกันใช้เครื่องหมายมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยรู้อยู่ว่าไม่เป็นไปตามมาตรา 16 หรือโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ใช้หรือแสดงเครื่องหมายมาตรฐานอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 31, ร่วมกันนำหีบห่อหรือภาชนะที่แสดงเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรมาใช้สำหรับสินค้าของตนหรือของบุคคลอื่นเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้า และร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน ปคบ. มีความเห็นควรสั่งฟ้อง บริษัทแพดดี้ฯ ผู้ต้องหาที่ 1 และนายพิพัฒผล ผู้ต้องหาที่ 3 และเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง นายลุก-เฟย หยาง หยาง ผู้ต้องหาที่ 2 ในทุกข้อหา ส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดี

ต่อมาอัยการเจ้าของสำนวนและอัยการผู้เชี่ยวชาญ พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนแล้วมีความเห็นสั่งฟ้อง บริษัท แพดดี้ฯ ผู้ต้องหาที่ 1 และนายพิพัฒผล ผู้ต้องหาที่ 3 ฐานร่วมกันผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้จดทะเบียนสถานประกอบการต่อผู้อนุญาต, ร่วมกันผลิตเครื่องมือแพทย์ปลอม, ร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ปลอม, ร่วมกันขายเครื่องมือแพทย์ผิดมาตรฐาน ตามมาตรา 16 , ร่วมกันใช้เครื่องหมายมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยรู้อยู่ว่าไม่เป็นไปตามมาตรา 16 หรือโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ใช้หรือแสดงเครื่องหมายมาตรฐานอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 31 , ร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ฯ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ออกตามความใน พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 พ ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 และ พ ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 โดยอัยการสั่งไม่ฟ้อง นายลุก-เฟย หยาง หยาง ผู้ต้องหาที่ 2 ทุกข้อหา รวมทั้งได้เสนอ ผบ.ตร. ซึ่งไม่แย้งกรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาบางคน และบางข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1

นายประยุทธ กล่าวต่อด้วยว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา พนักงานอัยการได้นำตัว นายพิพัฒผล ผู้ต้องหาที่ 3 ไปยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศูนย์ราชการฯ ซึ่งนายพิพัฒผล ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลทรัพย์สินฯ พิพากษาลงโทษจำคุกนายพิพัฒผล จำเลย รวม 8 ปี โดยไม่รอลงอาญา คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนนายลุก-เฟย หยาง หยาง ผู้ต้องหาที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท แพดดี้ฯ นั้นหลบหนี ไม่มารายงานตัวกับพนักงานอัยการตามนัด จึงให้ตำรวจติดตามนำตัวมายื่นฟ้องศาลต่อไป