เมื่อวันที่ 3 เม.ย. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3, พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผกก.กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท. นายภัทรวิน มหัธนสกุล ผอ.ฝ่ายบริการจัดส่ง บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (โรบินฮู้ด) ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติจัดวงจรออนไลน์ “CYBER SHUTDOWN OPERATION” จับกุมขบวนการลักลอบติดตั้งระบบดักข้อมูลแอปพลิเคชันสั่งอาหาร เอาเปรียบไรเดอร์ พบรายได้หลายแสนต่อเดือน

พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากราวเดือน ส.ค. 2566 ทาง บช.สอท. ได้รับการร้องทุกข์จากบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ให้ดำเนินคดีกับคนร้ายที่แอบติดตั้งโปรแกรมดักข้อมูลการสั่งอาหาร ก่อนคำสั่งนั้นจะถึงไรเดอร์ที่ใช้งานแอปพลิเคชันแบบปกติ หากมีไรเดอร์ที่ใช้แอปพลิเคชันโกงดังกล่าว อยู่ใกล้เคียงไรเดอร์ที่ทำถูกต้องจะไม่สามารถกดรับงานในระบบได้ เพราะแอปพลิเคชันดังกล่าวจะดักจับงานจากระบบไป ส่งผลให้ไรเดอร์ทั่วไปจะขาดรายได้ไม่สามารถกดรับงานหรือทำงานตามปกติได้ ทำให้เสียโอกาส เสียรายได้ และทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย มูลค่าหลายล้านบาท โดยหลังรับเรื่องได้ให้ชุดสืบสวนทำการสืบสวน จนทราบว่าผู้เขียนโปรแกรมคือ นายโอภาส (สงวนนามสกุล) โดยมีผู้ว่าจ้างคือ นายธงรบ (สงวนนามสกุล)

พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวอีกว่า จึงรวบรวมหลักฐานขออนุมัติหมาย ก่อนนำกำลังไปตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ 4 ต.เทพารักษ์ อ.เมืองสมุทรปราการ จับกุมนายธงรบ ในความผิดฐาน “ผู้จ้างให้กระทำการด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ และเป็นผู้จำหน่ายหรือเผยแพร่ชีตคำสั่งที่จัดทำขึ้น โดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือ” นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สอบสวนผู้ต้องหาเบื้องต้นให้การว่า ประกอบอาชีพขายโทรศัพท์มือถือในอำเภอบางพลี สมุทรปราการ และได้จ้างโปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรม 30,000 บาท จากนั้นนำโปรแกรมดังกล่าวไปติดตั้งให้กับไรเดอร์ คิดค่าติดตั้งครั้งละ 1,000 บาท และคิดค่าบริการรายเดือนเพิ่มเติม 500-800 บาท/เดือน/คน โดยมีไรเดอร์รับการติดตั้งไปแล้วประมาณ 500 คน ทำให้พนักงานไรเดอร์ ที่ลงทะเบียนตามปกติกับทางบริษัทสูญเสียรายได้จำนวนมาก

นายภัทรวิน กล่าวว่า คดีนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทมาตั้งแต่ปี 65 จากการที่ไรเดอร์ออกมาทำงานแต่ไม่สามารถรับงานได้ เพราะแอปดักข้อมูลดังกล่าว ทำการล็อกแม้กระทั่งร้านอาหาร คำสั่งซื้อ รวมถึงสถานที่รับงาน มีการยิงแพ็กเกจเข้ามาจำนวนมาก ที่ผ่านมาบริษัทมีการดักจับแอปเหล่านี้อยู่บ่อยครั้งทำให้ต้องพัฒนาและป้องกันระบบของแอปพลิเคชันเรามากขึ้น ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 15 ล้านบาท ในระยะ 6 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการแจ้งเตือนไปยังไรเดอร์อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่แอบใช้แอป ซึ่งภายหลังการจับตัวโปรแกรมเมอร์ตรวจสอบพบข้อมูลมีไรเดอร์เข้าใช้แอปมากถึง 3 พันราย และได้มีการแบนไรเดอร์ไปแล้วหลายราย สำหรับโปรแกรมเมอร์รายนี้ถือว่าเป็นเจ้าใหญ่ที่สุดและสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก มีการขายแบบไม่เกรงกลัวแต่อย่างใด

พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากการจับกุมขบวนการโกงแอปส่งอาหารแล้ว ทาง บช.สอท. ร่วม กสทช. จับหนุ่มหัวใสลักลอบขาย VPN เถื่อนเอื้อมิจฉาชีพ โดยพฤติการณ์คือมีการลักลอบเขียนโปรแกรมเพื่อปกปิดตัวตน และหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นนำไปขายในกลุ่มลับ ก่อนที่คนร้ายได้สร้างเพจเฟซบุ๊กปลอม เพื่อขายสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ พบความเชื่อมโยงทั้งสิ้น 21 คดี มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,324,000 บาท