เรื่องราวของสองลุงป้าสู้ชีวิต ขาย “ขนมถังแตก” ในตำนาน มีลูกค้ามากมายติดอกติดใจอุดหนุนมานานกว่า 20 ปี ทั้งสองขยันอดทน ใช้ชีวิตพอเพียง แม้รายได้ไม่มาก แต่ก็พอเลี้ยงตัวและส่งลูกจนเรียนจบปริญญาตรีถึง 2 คน

นายโกศล พลรัตน์ อายุ 60 ปี และนางสกุล พลรัตน์ อายุ 54 ปี สองสามีภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 131 หมู่ 16 บ้านหนองแขม ต.บ้านเขว้า อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ ยึดอาชีพขายขนมถังแตกและขนมรังผึ้งมานานกว่า 20 ปี โดยปัจจุบันปักหลักขายอยู่หน้าร้านสะดวกซื้อ ทางเข้าตลาดสดเทศบาลหนองบัวระเหว อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ในตอนเช้าของทุกวัน สองสามีภรรยาจะพากันนำอุปกรณ์ใส่รถกระบะ ขับรถข้ามอำเภอมาขายขนมถังแตกและขนมรังผึ้งสูตรโบราณ จนตกเย็นจึงเก็บของกลับบ้านเป็นประจำอย่างนี้ทุกวัน

สำหรับขนมถังแตกและขนมรังผึ้ง เป็นขนมโบราณที่คนรุ่นเก่านิยมซื้อรับประทาน แต่ปัจจุบันมีคนขายน้อยมาก เนื่องจากเป็นขนมที่ราคาถูกและกำไรน้อย แต่ด้วยความชื่นชอบในขนมโบราณของสองลุงป้า จึงไม่คิดที่จะเปลี่ยนอาชีพไปเป็นอย่างอื่น โดยแต่ก่อนเริ่มขายในราคาแผ่นละ 5 บาท จนปัจจุบันขาย 15 บาท แต่ละวันสองสามีภรรยามีรายได้ประมาณ 500-1,000 บาท ต่อวัน

“ป้าสกุล” กล่าวว่า ตนชอบทำขนมไทยโบราณ โดยเฉพาะขนมถังแตกและขนมรังผึ้ง จึงพาสามีมองหาตลาดขาย กระทั่งมาพบว่าในพื้นที่ อ.หนองบัวระเหว ไม่มีคนทำขาย ดังนั้นในช่วงเช้าของทุกวัน ตนและสามีจึงได้พากันมาขายที่นี่ ซึ่งขายมานานกว่า 20 ปีแล้ว จนเป็นที่รู้จักของลูกค้าทั่วไป ทุกวันนี้มีทั้งลูกค้าประจำและยังมีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ

โดยเฉพาะสูตรเด็ดของขนมถังแตกของป้า ที่ร้านจะใช้มะพร้าวที่กึ่งอ่อนกึ่งแก่ ซึ่งจะมีรสหวานมัน และยังใช้น้ำมันพืชผสมไข่แดงเค็ม ทากระทะแทนน้ำมันหรือเนยอีกด้วย เพราะไข่แดงเค็มจะมีรสกลมกล่อมในตัว เมื่อเทแป้งที่ผ่านการผสมแล้วลงไปในกระทะ ก็จะไม่ติดกระทะ ทำให้แป้งมีรสชาติดีกว่าเจ้าอื่น จึงเป็นที่ชื่นชอบและถูกปากของลูกค้า และเวลาขนมสุก ทางร้านจะโรยมะพร้าวขูดและน้ำตาลทรายผสมงาขาวลงไป ชนิดว่าไส้ทะลัก พร้อมขายให้กับลูกค้าแบบจุใจไปเลย

นอกจากนี้ “ป้าสกุล” ยังบอกวิธีทำขนมถังแตกแบบไม่มีกั๊ก ให้ใครที่ชื่นชอบลองไปทำดู อย่างแรกคือ เตรียมน้ำเปล่า 600 มล. เกลือสมุทร 1 ช้อนชา กะทิ 150 มล. แป้งข้าวเจ้า 500 กรัม แป้งสาลีอเนกประสงค์ 200 กรัม น้ำตาลทราย 200 กรัม ไข่ไก่เบอร์ 2 จำนวน 1 ฟอง กลิ่นวานิลลา 1 ช้อนชา ยีสต์ 1 ช้อนชา ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ นำใสภาชนะผสมให้เข้ากัน จากนั้นก็นำไปเทลงบนกระทะ ที่ทาด้วยไข่เค็มแดง นำขึ้นตั้งไฟและเปิดไฟอ่อนๆ ปิดฝาไว้ 5 นาที ก่อนจะโรยหน้าด้วยมะพร้าวขูด และน้ำตาลคลุกงา แล้วนำออกจากกระทะ ก็สามารถรับประทานได้แล้ว

ขณะที่ “ลุงโกศล” ซึ่งนั่งขูดมะพร้าวช่วยภรรยาอยู่หลังร้าน กล่าวว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องใช้ความอดทน ซื่อสัตย์กับลูกค้า ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ลูกค้าจึงเชื่อมั่นไม่หนีไปไหน ต้องขอบคุณลูกค้าทุกคนที่อุดหนุนมาโดยตลอด จนวันนี้ตนกับภรรยาสามารถส่งลูก 2 คน เรียนจบได้ เป็นที่ภาคภูมิใจในอาชีพ ส่วนของชีวิตคู่นั้น ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานาน ถือคติดูแลกันช่วยเหลือกัน หนักนิดเบาหน่อยก็อภัยให้กัน ตั้งใจทำมาหากินนำพาครอบครัวให้มีความสุขก็พอแล้ว

คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : วิรัตน์ ดวงแก้ว จ.ชัยภูมิ
[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” ได้ที่นี่..