ปัญหาสินค้าจีนดาหน้าถล่มเศรษฐกิจไทย กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ซ้ำเติมธุรกิจคนไทยที่แย่อยู่แล้ว ให้เจ็บหนักขึ้นไปอีก ความเดือดร้อนกระจายทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่ธุรกิจรายเล็กไปถึงรายใหญ่ เห็นได้ตามหน้าข่าวในทุกวันว่ามีทุนใหญ่จากจีนกำลังเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจไทยหลาย ๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ พลังงาน ท่องเที่ยว ร้านอาหาร การศึกษา ค้าปลีก โลจิสติกส์ ล้วนมีชาวจีนเข้ามาทำธุรกิจแข่งกับคนไทย ทั้งแบบถูกกฎหมาย หรือแบบเทา ๆ ดำ ๆ ทั่วไปหมด

ฉายามณฑลไท้กั๋ว
เห็นได้จาก สินค้าเมด อิน ไชน่า เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราจนแยกไม่ออก ไม่ว่าจะโทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ ล้วนผลิตมาจากจีนทั้งสิ้น ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นไม่ได้ส่งของมาขายอย่างเดียว คนจีนยังแทรกซึมเข้ามาเป็นคนขายเองในย่านการค้าสำคัญของไทย อย่างห้วยขวาง เยาวราช ประตูน้ำ มีการทุ่มซื้ออาคารพาณิชย์ มาเปิดร้านค้าหรือมินิมาร์ท นำเข้าสินค้าจากจีนมาขายกันเองโดยตรง ขณะที่คนไทยได้แค่มองตาปริบ ๆ จนมีคำกล่าวว่าประเทศไทย ก็เป็นแค่มณฑลใหม่ของจีนหรือ“มณฑลไท้กั๋ว” เท่านั้น

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ก็ทำให้สินค้าจีนขยายตัวเร็วขึ้น เพราะช้อปง่ายเพียงปลายนิ้ว ผ่านแอป ชอปปี้ ลาซาด้า และอาลิเอ็กซ์เพรส  ได้สินค้าราคาถูกมาใช้ แถมค่าส่งไม่แพง รอเดี๋ยวเดียว 5-7 วันของก็มาถึงมือ และล่าสุดก็เป็นประเด็นเพิ่มอีก เมื่อ ทีมู (TEMU) แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ชื่อดังอีกเจ้าหนึ่งของจีน  กำลังแผ่ขยายอาณาจักรอีคอมเมิร์ซเข้ามาในไทย ซึ่งเป็นแอปขายของถูกกว่าทุกแอป ที่มีมา จนกลัวกันว่าจะมาช่วยขุดหลุมฝังธุรกิจคนไทยให้ตายเร็วขึ้นกว่าเดิม

ขาดดุลทะลุล้านล้าน
เทียบดูสถิติตัวเลขซึ่งไม่เคยโกหกใคร ยอดขาดดุลการค้าของไทยกับจีน นับวันมีแต่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 60 ไทยขาดดุล 14,733 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 61 ขาดดุลเพิ่มเป็น 19,586 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 62 ขาดดุล 21,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 63 ขาดดุลลดเหลือ 19,987 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากอยู่ช่วงโควิดระบาด แต่ต่อมาปี 64 ไทยก็ขาดดุลแบบพุ่งพรวด 29,492 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 65 ไทยขาดดุลเพิ่มเป็น 36,336 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และปี 66 ก็ขาดดุลเพิ่มอยู่ 36,633 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทตก 1.28 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณประเทศทีเดียว

ขณะที่สถิติปี 67 ตัวเลขขาดดุลไม่มีทีท่าบรรเทาลง จนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แสดงความกังวลชัด เพราะสถิติช่วง 6 เดือน พบไทยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มถึง 7.12% มูลค่ากว่า 37,569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีนไปแล้ว 19,967 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดง่าย ๆ เกือบ 7 แสนล้านบาท จนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม เป็นปัญหาหมักหมม ที่กำลังค่อย ๆ ระเบิดออกมาทีละน้อยเพื่อให้เห็นบาดแผลที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

มือถือ-คอมพ์ขาดดุลยับ
สอดรับกับสถิติจากกรมศุลกากร ที่ระบุว่าสินค้าที่ไทยขาดดุลกับจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม โดยสินค้าที่ขาดดุลสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน เช่น ไอโฟน เสียวหมี่ ออปโป วีโว่ 2.เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และ 3.ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าแผ่นรีด เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อชีวิตยุคใหม่ ประกอบกับสินค้าจีนมีข้อได้เปรียบจากการยกเว้นภาษีนำเข้าของไทยภายใต้เอฟทีเอ ทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทยจำนวนมาก

จุดแข็งสำคัญที่ทำให้สินค้าจีนเข้ามาถล่มไทยและประเทศอื่นทั่วโลกแบบย่อยยับ คือ ความสามารถในการผลิตสินค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศอื่น เช่น ค่าแรงที่ต่ำเพราะมีประชากรจำนวนมาก มีซัพพลายเออร์การผลิตที่พร้อม มีการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนคงที่จากรัฐบาล ทำให้ได้เปรียบในการกำหนดราคาส่งออก ตลอดจนมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาล การทำกฎระเบียบ และโครงสร้างต่าง ๆ เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจของตัวเอง

รง.เจ๊ง-ปลดแรงงาน 
ผลกระทบที่ชัดเจนจากปัญหาสินค้าจีนถล่มเศรษฐกิจไทย คือ การหดตัวของภาคการผลิต เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมตลอดปี 66 หดตัวถึง 3.8% โดยภาคการผลิตที่หดตัวส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น การผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ หดตัว 18.9% การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าหดตัว 14.5% และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าหดตัว 6.7% นอกจากนี้ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบ เช่น ผลิตเครื่องแต่งกาย หดตัว 30.4% ผลิตเฟอร์นิเจอร์ หดตัว 27.7%  ผลิตสิ่งทอหดตัว 15.3% เครื่องหนังหดตัว 14.3%

ส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ลุกลามไปจนถึงสถานการณ์การจ้างงานภายในประเทศ โดยข้อมูลกระทรวงแรงงานระบุว่าในปี 66 มีสถานประกอบการแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว 656 แห่ง เพิ่มขึ้น 9.7% กระทบต่อแรงงาน 312,938 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นอุตสาหกรรมภาคการผลิตถึง 524 แห่ง เพิ่มขึ้น 15.7% โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการถูกการยกเลิกคำสั่งซื้อจำนวนมาก ขาดทุนสะสม และขาดแคลนวัตถุดิบ

ย้อนรอยกระทบทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการไหลบ่าของสินค้าจีน ไม่ได้เกิดกับไทยเป็นที่แรก เพราะที่ผ่านมาทั่วโลก ต่างเผชิญปัญหานี้มาแล้วทั้งสิ้น จนหลายประเทศต้องออกมาตรการต่อสู้กลับไป เช่น บราซิลที่ถูกสินค้าจีนไล่ตีตลาดถึง 2-3 ทศวรรษ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องจักร ขณะที่อินเดีย ก็ถูกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ราคาถูกจากจีนเข้ามาครอบงำตลาด จนต้องออกมาตรการตอบโต้ เช่น การเปิดไต่สวนการทุ่มตลาด (เอดี) หรือการตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี)  รวมไปถึงการปกป้องการนำเข้าสินค้า หรือมาตรการเซฟการ์ด

ขณะที่หลายประเทศก็เพิ่มความเข้มงวดควบคุมมาตรฐานสินค้า มาใช้บังคับทางออก เช่น การออกใบอนุญาตภาคบังคับสินค้าให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพราะสินค้าราคาถูกจากจีนมักมีจุดอ่อน การขาดมาตรฐานเหล่านี้ นอกจากนี้ยังดำเนินนโยบายสนับสนุนพัฒนาภาคการผลิตอุตสาหกรรมภายในประเทศควบคู่กัน เช่น ลดหย่อนภาษี ให้เงินอุดหนุน พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างแต้มต่อให้สินค้าที่ผลิตในประเทศสามารถแข่งขันกับจีนได้ ตลอดจนการขอทบทวนข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับจีน เพื่อแก้จุดอ่อนทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และปกป้องอุตสาหกรรมภายในของตัวเอง

รัฐบาลเพิ่งตื่นแก้ปัญหา
สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มขยับและตื่นตัวต่อปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยมากขึ้น เช่น มีการแก้ไขกฎหมายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทุกชิ้นตั้งแต่บาทแรก จากเดิมที่จะยกเว้นให้สินค้าที่ราคาไม่เกิน 1,500 บาท  เนื่องจากที่ผ่านมามีสินค้าจากจีนจำนวนมากใช้ช่องโหว่จากกฎหมายภาษีนี้นำเข้ามาขายในไทย จนผู้ผลิต และบรรดาพ่อค้า แม่ค้าคนไทย แทบอยู่ไม่ได้

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็สั่งการในที่ประชุม ครม. ให้กระทรวงพาณิชย์ไปติดตามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ก็รับลูกเรียกประชุม 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม สาธารณสุข เพื่อหาทางควบคุมมาตรฐานสินค้า ตลอดจนการพิจารณาการนำเข้า-ส่งออกสินค้าให้มีมาตรฐานอุตสาหกรรม  และมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ทั้งหมดจะต้องทำภายใต้กฎหมายขององค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ

จี้รื้อข้อตกลงการค้า
จุดอ่อนของปัญหานี้ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ไทยมีระบบและกฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง ทำให้สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดง่ายเกินไป ควบคู่กับการหย่อนยานการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาจริง ๆ อาจต้องอาศัยความกล้าที่ต้องยกเครื่องระเบียบต่าง ๆ ขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น การทบทวนนโยบายและเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์เขตประกอบการเสรี (ฟรี เทรด โซน) เช่น การเลือกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ การลดนำเข้าชั่วคราว และการควบคุมนำเข้าสินค้าบางประเภทจีน เพื่อสกัดสินค้ากลุ่มเสี่ยง ที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้ามากเกินไป

ตลอดจนการทบทวนเงื่อนไขข้อตกลงเอฟทีเอกับจีน และสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนของบีโอไอ เพราะที่ผ่านมากว่า 20 ปี จีนได้ใช้ประโยชน์จากยกเว้นภาษีนำเข้า 0% จากไทยมหาศาล ทั้งจากข้อตกลงเอฟทีเอ อาเซียน-จีน และอาร์เซป จึงควรดูว่า จำเป็นไหมที่จะยกเลิกภาษีนำเข้า 0% สำหรับสินค้าบางกลุ่มที่ไทยเสียเปรียบจีน ขณะเดียวกัน ควรควบคุมสิทธิประโยชน์การลงทุนจากจีน ไม่ให้เข้ามากระทบต่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย หรืออุตสาหกรรมที่มีความเปราะบางของไทยหรือไม่

บี้รัฐเก็บภาษีทุนจีน 
นอกจากนี้ รัฐบาลควรเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับนักธุรกิจและสินค้าจีนอย่างจริงจัง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจ โดยเฉพาะการไล่เก็บภาษีธุรกิจต่าง ๆ กับนักธุรกิจจีนอย่างจริงจัง รวมถึงเพิ่มความเข้มงวดตรวจจับสินค้าที่ลักลอบ หลบเลี่ยงภาษี ตลอดจนการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้านำเข้า โดยเพิ่มสินค้าควบคุมตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นที่นิยมจำนวนมากของคนไทย ตลอดจนการออกกฎระเบียบคุมความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันสินค้าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ผลิตไทยแข่งกับจีน  เป็นต้น

วัดใจความกล้ารัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลก็รู้อยู่เต็มอกอยู่แล้ว แต่จะทำหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ต้องวัดใจดู เพราะต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันจีนเองถือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยสูงเป็นอันดับหนึ่ง เช่นข้อมูลการค้าล่าสุด ไทย-จีน มีสูงถึง 104,999 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 3.7 ล้านล้านบาท ขณะที่ยอดส่งออกไทยไปจีนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท หากรัฐบาลมีการทำอะไรที่เกินขอบเขตเกินไป อาจถูกการตอบโต้กลับจากจีน ลุกลามเป็นสงครามการค้าไปได้

ดังนั้น หากรัฐบาลจะงัดไม้แข็ง เข้ามากำราบสินค้าจีน เหมือนประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นขอทบทวนเอฟทีแบบอินเดีย หรือการออกมาตรการกีดกันสินค้าอีคอมเมิร์ซจีนเหมือนอินโดนีเซีย หรือการเปิดสงครามการค้าอย่างสหรัฐ และสหภาพยุโรปหรือไม่นั้นก็ต้องคิดดูให้ดี ว่าผลกระทบต่าง ๆ ที่ตามมาจะเป็นอย่างไร มากน้อยแค่ไหน

เช่น ทุเรียนที่ส่งออกไปจีนปีละแสนล้าน หากถูกกีดกันจะนำไปขายต่อให้ใคร  หรือภาคการท่องเที่ยว ที่มีชาวจีนเดินทางเข้าไทยสูงเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าถูกแบนเข้ามาไทย จะสร้างความเสียหายมากแค่ไหน จึงเป็นการบ้านสำคัญที่รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนัก หาทางออกที่ลงตัว ให้สามารถดูแลผู้ประกอบการไทยได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศควบคู่ไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรออกมา เพราะหากปล่อยนิ่งเฉยไป รับรองไม่นานธุรกิจไทยอีกนับร้อยนับพันราย นับร้อยนับพันแห่ง อาจต้องสูญพันธ์ุในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน.

หวั่นเอสเอ็มอีเจ๊ง 100%
“อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) มองว่า การเข้ามาของสินค้าจีนในทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขายสินค้าจีนบนช่องทางออนไลน์ ที่เข้ามาในทุกแพลตฟอร์มดัง ๆ เช่น ชอปปี้ ลาซาด้า ชีอิน และล่าสุดทีมู ได้ส่งผลกระทบทางบวกและลบต่อไทยอย่างกว้างขวาง จากการประเมินเบื้องต้นของไออาร์ซี พบว่าปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ได้เจ๊งไป 70% เมื่อมีการเข้ามาของทีมู อาจทำาให้เอสเอ็มอีไทยเจ๊ง 100% ภาคการผลิตไทยจะถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของนักธุรกิจจีนมากขึ้น เกิดการผูกขาดในหลายธุรกิจทั้งโดยตรง และที่เกี่ยวข้อง

สำาหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถือว่า “วิกฤติ” ประเทศไทยต้องรีบหาทางแก้ไขโดยด่วน ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เจอสถานการณ์แบบนี้ ประเทศไทยต้องทบทวนนโยบายการค้าและการลงทุนที่ผ่านมา“สำเร็จหรือล้มเหลว”จำเป็นต้องหามาตรการต่าง ๆ เพิ่มหรือไม่ เพราะต้นทุนการผลิตไทยที่สูงและไม่มีเทคโนโลยีการผลิตคือปัจจัยหลักที่ทำาให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันไม่ได้? ประเทศไทยต้องศึกษาบทเรียน และข้อเท็จจริงจากประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน และศึกษาประเทศที่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามตนขอข้อเสนอแนะ 7 ประเด็น เริ่มจาก1.ออกระเบียบ กติกา หรือกฎหมาย ห้ามขายสินค้าในบางแพลตฟอร์มออนไลน์จีน ที่มีผลกระทบต่อสินค้า ผู้ประกอบเอสเอ็มอีไทยรุนแรง 2.กำหนดราคาสินค้าขั้นต่ำ ที่ห้ามขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น อินโดนีเซียห้ามขายสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 3,500 บาท ต่อชิ้น 3.เก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่มีราคาถูก เช่น อินโดนีเซียเก็บภาษีนำาเข้า 100-200% ขณะที่ 4.ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้านำเข้าให้เข้มข้น และบทลงโทษการหลีกเลี่ยงส่วนผสมของสินค้า เพื่อเลี่ยงภาษี 5.กำาหนดให้โรงงานจีนที่เข้ามาตั้งในไทยต้องซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากผู้ประกอบการไทยในสัดส่วน 60 ต่อ 40 6.กำหนดโลเคิลคอนเทนต์ ในโครงการต่าง ๆ ของรัฐ และเอกชนต้องซื้อสินค้าที่ผลิตในไทยสัดส่วน 70 ต่อ 30 7.กำหนดต้องสร้างผู้ประกอบการไทยจากการเข้ามาทำาธุรกิจจีนในไทย ตั้งแต่ 100 รายขึ้นไป ตามขนาดของธุรกิจที่เข้า