“บ้านถ้ำสิงห์ผ่านวิกฤติมาหลายช่วง จากเคยสูงสุดก็ร่วงสู่ต่ำสุด แล้วก็พลิกฟื้นกลับมาสูงสุดอีกครั้งได้ ก็เพราะชุมชนเรามีความเข้มแข็ง” เป็นเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของ “ชุมชนบ้านถ้ำสิงห์ จ.ชุมพร” จากการบอกเล่าโดย “นิคม ศิลปศร” ผู้ริเริ่มและหนึ่งในแกนนำสำคัญในการกู้ชีพให้กับ “กาแฟแบรนด์ถ้ำสิงห์” ซึ่งเป็นของดีของชุมชนแห่งนี้ ให้กลับมามีชื่อเสียงโด่งดังอีกครั้งได้สำเร็จ หลังเคยเกือบจะสูญสลายไปจากชุมชนมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งอะไรที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของชุมชนนี้ วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปถอดรหัส และทำความรู้จักกับชุมชนเข้มแข็งแห่งนี้กัน…
ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมวิถีชีวิต” ได้รับเชิญจากทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ร่วมเดินทางไปกับคณะผู้บริหารของธนาคาร เพื่อติดตามเยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่ม “เกษตรกร ธ.ก.ส.” ในพื้นที่ จ.ชุมพร โดย “บ้านถ้ำสิงห์” ซึ่งเป็น วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟ ก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ โดยมีเรื่องราวและแนวคิดน่าสนใจ ที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่น ๆ ได้ ซึ่งความสำเร็จของชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นจาก “แนวคิดเรียบง่าย” อย่างคำว่า “หัวไว-ใจสู้” จนสามารถแจ้งเกิด “กาแฟถ้ำสิงห์” ขึ้นมา และกลายเป็น “ของดีขึ้นชื่อ” ได้สำเร็จ โดย นิคม แกนนำผู้ริเริ่มเรื่องนี้ และในฐานะที่เขาเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ด้วย เล่าให้ฟังว่า ตนเองเติบโตที่นี่ ทำให้ได้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้านมาตั้งแต่เด็ก ซึ่ง คนในชุมชนมีอาชีพหลักคือปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า และปลูกทุเรียนกับกล้วยหอมทองเป็นพืชเสริม เมื่อก่อนบ้านถ้ำสิงห์จะมีพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 20,000 กว่าไร่ โดยถือเป็นพืชที่ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ และสร้างความอยู่ดีกินดีให้ชาวบ้านมาตลอด จนช่วงที่เกิดพายุเกย์ ช่วงนั้นเองที่ทำให้กาแฟบ้านถ้ำสิงห์ต้องเจอกับวิกฤติ ทั้งเรื่องราคาที่ตกต่ำ รวมถึงนโยบายของรัฐช่วงนั้นก็บังคับให้ลดพื้นที่ปลูก ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่จำใจต้องตัดต้นกาแฟทิ้ง
“อย่างที่บ้านผมเองเคยปลูกไว้ 30 ไร่ ก็ตัดทิ้งหมด จนไม่เหลือสักต้น โชคดีที่ยังมีคนเก่าแก่บางคนที่ยังปลูกไว้ ซึ่งหลังชาวบ้านเลิกปลูกกาแฟ ก็หันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันมากขึ้น จนทำให้บ้านถ้ำสิงห์เกิดวิกฤติปัญหาสารเคมีรุนแรง และตามมาด้วยเกิดโรคระบาดรุนแรง จนทำให้ที่นี่ถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ใช้สารเคมีเข้มข้น!!”
นิคม ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ฉายภาพปัญหาในอดีตที่เคยเกิดขึ้น ก่อนจะเล่าให้ฟังอีกว่า ตอนนั้น ในฐานะที่เป็นผู้นำ ทำให้เขาต้องมาคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง เพราะมองว่าหากปล่อยแบบนี้ไปจะทำให้กาแฟโรบัสต้าสูญหายไปจากชุมชน หรืออาจหายไปจาก จ.ชุมพร เลยก็ได้ ทั้งที่เคยเป็นพืชที่สร้างรายได้อันดับ 1 ของชาวบ้าน จนมาได้ข้อสรุปว่าจำเป็นจะต้องนำพืชกาแฟที่ล้มหายตายจากไปกลับมา และนำมาเป็นพืชที่ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ อาทิ ช่วยปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ช่วยปรับปรุงดิน รวมถึงช่วยลดปัญหาเรื่องโรคระบาด กับการใช้สารเคมีเข้มข้นด้วย …ทางประธานกลุ่มเล่าถึงที่มา จุดเริ่มต้นที่ได้กลายเป็นจุดกำเนิดของ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์” แห่งนี้ในที่สุด โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 ซึ่งเขาได้เล่าต่อไปอีกว่า ได้ทำการรวบรวมและคัดเลือกคนที่เคยมีประสบการณ์ปลูกกาแฟในยุคเก่าที่ผ่านมา โดยมีหลักพิจารณาเลือกคนเข้ามาทำภารกิจนี้คือจะเน้น “เลือกคนที่หัวไว-ใจสู้” จนได้สมาชิกมาประมาณ 20 คน จากนั้นก็เริ่มเดินหน้าตามเป้าหมาย นั่นก็คือ ฟื้นคืนชีพกาแฟถ้ำสิงห์ ซึ่งโชคดีมาก ๆ ที่ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากทาง ธ.ก.ส. ภายใต้ สินเชื่อพัฒนาการเกษตรแปลงใหญ่ ดอกเบี้ย 0.01 % เป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียน
“กาแฟนั้นเป็นพืชชีวิตของพวกเราบ้านถ้ำสิงห์ เราจึงอยากคืนชีพกาแฟขึ้นมา แต่ก็ต้องทำกาแฟให้ดี มีคุณภาพ แตกต่างไปจากเดิมด้วย ซึ่งที่อื่น ๆ อาจรวมตัวกันเพื่อรับซื้อผลผลิตกาแฟจากสมาชิก แต่ของถ้ำสิงห์เรารวมกลุ่มกันเพื่อส่งเสริมการปลูกกาแฟ และสอนให้สมาชิกทุกคนทำกาแฟที่มีคุณภาพ โดยทางกลุ่มจะรับซื้อเมล็ดสดเท่านั้น เพราะเราต้องการคัดคุณภาพเมล็ด โดยเมื่อได้เมล็ดกาแฟมา ก็จะเอาเมล็ดสุกสีแดงไปลอยน้ำ เพื่อแยกเมล็ดเสียออก พอได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพแล้ว ก็จะนำไปเข้าเครื่องสีเปลือกนอกออก แล้วนำไปอบที่โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะมีการตรวจสอบความชื้น แล้วก็นำไปบ่มไว้ในโกดังที่มีอากาศถ่ายเทอีกอย่างน้อย 1 ปี ก่อนนำมาสีเปลือกกะลาเพื่อคัดแยกขนาดของเมล็ด แล้วนำไปคั่วด้วยเครื่อง ที่จะมีการควบคุมอุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสมจนได้กาแฟคั่วตามมาตรฐาน” นิคม อธิบายถึง “กระบวนการผลิตกาแฟคุณภาพของบ้านถ้ำสิงห์” ให้เราฟัง
ก่อนจะบรรยายถึง “รสชาติกาแฟบ้านถ้ำสิงห์” ว่า เมื่อนำกาแฟที่ผ่านกระบวนการข้างต้นมาชง กาแฟที่ได้จะมีรสเข้ม หอม ไม่มีรสเปรี้ยว ซึ่งการแก้โจทย์ตรงนี้ทำให้ตอบสนองความต้องการของคอกาแฟ หรือผู้บริโภคทั่วไปได้มากขึ้น จนทำให้กาแฟบ้านถ้ำสิงห์มีคาแรกเตอร์ต่างจากกาแฟที่อื่น ๆ …พร้อมกันนี้เขายังบอกว่า ที่ต้องยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อทำทุก ๆ ขั้นตอนให้ดีที่สุดนั้น เป็นเพราะสมาชิกทุกคนของกลุ่มต้องการสร้างกาแฟโรบัสต้าที่ดีที่สุด เพราะทุกคนต้องการเห็น จ.ชุมพร เป็นเสมือนแบรนด์ผู้นำของกาแฟโรบัสต้า หรือเมื่อนึกถึง จ.ชุมพร ก็ต้องนึกถึงกาแฟโรบัสต้า และแน่นอนเมื่อนึกถึงกาแฟโรบัสต้า ก็ต้องนึกถึงกาแฟถ้ำสิงห์ ในฐานะที่เป็นกาแฟโรบัสต้าที่ดีที่สุดของจังหวัดนี้
“ตรงนี้คือสิ่งที่เราตั้งใจทำ โดยจะเห็นว่ากระบวนการที่เราทำ ทำให้กลุ่มได้ GI ในเรื่องกระบวนการจัดการเมล็ดกาแฟโรบัสต้าที่ไม่เหมือนใคร โดยไม่ได้ใช้ GI ในเรื่องของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” นิคม ขยายความเรื่องนี้ ก่อนจะบอกเล่าต่อไปว่า ทางกลุ่มจะรับซื้อเมล็ดกาแฟสดจากสมาชิก ในราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ทั้งนี้เพื่อจูงใจชาวบ้านให้หันมาปลูกกาแฟกันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านก็ได้หันมาปลูกกาแฟเพิ่มขึ้น จนพื้นที่ปลูกขยายกลายเป็น 1,200 ไร่ แต่ก็มาเจอกระแสทุเรียนในระยะต่อมา จึงทำให้พื้นที่ปลูกกาแฟหดมาเหลืออยู่ที่ราว ๆ 800 ไร่
ประธานกลุ่มคนเดิม บอกว่า ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟถ้ำสิงห์มีสมาชิกประมาณ 650 คน โดยได้ดำเนินธุรกิจมา 7 ปีแล้ว จนเรียกได้ว่าวันนี้ทางกลุ่มเติบโต และขยายเป็นธุรกิจแบบครบวงจรแล้ว เพราะมีตั้งแต่การปลูก การแปรรูป การจำหน่าย และการสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา โดย “กาแฟถ้ำสิงห์” ไม่ได้ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่ขายผ่านศูนย์ OTOP ที่ทางกลุ่มจัดสร้างขึ้นเองด้วยทุนของชุมชน รวมถึงขายผ่านโซเชียลอย่างทางเฟซบุ๊กด้วย
“พอถึงช่วงสิ้นปี กลุ่มก็จะปันผลให้สมาชิกราว 70% จากรายได้สุทธิของกลุ่ม นอกจากนั้นยังนำลูกหลานของคนในชุมชนประมาณ 15 คนให้มาทำงานที่กลุ่มด้วย โดยจ่ายค่าตอบแทน คิดรวม ๆ ก็ตกเดือนละ 300,000 บาท นอกจากนั้น เด็กที่พ่อแม่ทำงานที่นี่ ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เราก็รับให้มาทำงานพาร์ทไทม์ โดยจะจ่ายค่าตอบแทนในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ” เขาเล่าให้ฟังถึงแนวทางส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้เสริมให้กับลูกหลานชุมชนบ้านถ้ำสิงห์
นิคม ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันกาแฟเริ่มกลับมาเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชนถ้ำสิงห์อีกครั้ง หลังจากมีคนสนใจปลูกกาแฟเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากการดูแลกาแฟให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานแล้ว นิคมยังย้ำว่า สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยกับการปลูกกาแฟก็คือ “การบริหารจัดการน้ำในชุมชน” เพราะตัวเขามองว่า อาชีพเกษตรกร…ถ้าไม่มีน้ำคือตายอย่างเดียว
“ที่นี่เราจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เอง ซึ่งธนาคารน้ำใต้ดินนี้เปรียบเสมือนการฝากน้ำไว้กับดิน โดยในช่วงฤดูฝนที่น้ำมีมาก แทนที่จะปล่อยน้ำไหลทิ้งตามธรรมชาติ ก็นำมาฝากไว้กับดิน เมื่อต้องการใช้ ก็สูบขึ้นมา”
และนี่ก็นับเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ชุมชนแห่งนี้ร่วมกันนำมาใช้แก้ปัญหา ทั้งนี้ กับคำถามที่ว่าทางกลุ่มมีเป้าหมายที่จะมีการขยายเพิ่มขึ้นอีกไหม? นิคม ประธานกลุ่ม ได้ตอบคำถามนี้ว่า “สิ่งที่ทุกคนคิดตรงกันคือ ต้องพยายามพัฒนาฝีมือ และทำยังไงก็ได้ให้กาแฟของเราไปอยู่ในใจของผู้บริโภค โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องทำกาแฟที่พิเศษ แต่ทำกาแฟที่สะอาด ที่คนดื่มแล้วปลอดภัย ส่วนที่ถามว่าจะขยายเพิ่มไปมากกว่านี้มั้ย ผมมองว่า การที่ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง แค่นี้ก็เป็นที่พอใจแล้ว เพราะสำหรับผม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ และทำให้กาแฟถ้ำสิงห์ฟื้นชีพกลับมามีชีวิตอีกครั้งได้สำเร็จ ก็พอใจแล้ว”
นิคม ประธาน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ด้วยว่า สำหรับบ้านถ้ำสิงห์นั้น ไม่ได้ขายกาแฟออกเป็นวัตถุดิบไปภายนอก แต่จะแปรรูปขาย ทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จ จนสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มถึงปีละประมาณ 21,000,000 บาท สมาชิกก็จะได้เงินปันผลมากถึง 70% จากรายได้สุทธิ โดย นิคม ย้ำทิ้งท้ายว่า “ถ้าต้องการจะทำให้กลุ่มเกษตรกรเกิดความเข้มแข็ง ชุมชนก็ต้องรู้จักการรวมตัว และสร้างแบรนด์ เพราะจะทำให้สินค้าไม่ไปล้นตลาด โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น เกิดจากเกษตรกรเอาแต่ขาย แต่ไม่ได้คิดเรื่องแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงคิดแต่ปลูกอย่างเดียว แต่ไม่เคยศึกษาตลาดเลย ซึ่งเมื่อใดที่สินค้าไม่ล้นตลาด เรื่องราคาก็จะไม่ตกต่ำ…และการถูกกดราคาก็จะไม่มี”.
แนวคิดอัปเกรด ‘ทำน้อยได้มาก’
ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวถึง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ว่า เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ดี ที่มีกระบวนการผลิตพิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่คัดเลือกสายพันธุ์กาแฟ การเก็บผลผลิต การตาก การสี การคั่ว ทำให้กาแฟถ้ำสิงห์มีรสเข้มข้น กลิ่นหอม ไม่มีรสเปรี้ยว นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังนำเทคโนโลยี นวัตกรรม มาใช้ในกระบวนการผลิตกาแฟ เช่น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ตากกาแฟ ใช้เครื่องจักรคั่วเมล็ดกาแฟ ทั้งยังมีการแปรรูปเป็นกาแฟรูปแบบต่าง ๆ ทำให้กาแฟถ้ำสิงห์มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญคือ นอกจากผลิตกาแฟแล้ว ทางกลุ่มยังมองไปถึงเรื่อง “การบริหารจัดการทรัพยากร” ด้วย อาทิ การสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อใช้กักเก็บน้ำฝนช่วงฤดูฝน ด้วยการเจาะท่อลงพื้นดิน และขุดบ่อบาดาลเพื่อให้น้ำฝนที่ตกมาถูกดูดซับผ่านท่อและพื้นดินลงไปในชั้นใต้ดิน ก่อนไหลไปรวมที่บ่อบาดาลของชุมชน ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี ซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าและสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวเสริมอีกว่า พันธกิจ ธ.ก.ส. นอกจากสนับสนุนเงินทุน สิ่งที่ ธ.ก.ส. กำลังยกระดับคือ “การพัฒนาคุณภาพ” และภายใต้การเป็นกลางทางการเกษตร ธ.ก.ส. เริ่มจากให้เงินทุนก่อน ถัดมาเป็นการนำองค์ความรู้ใหม่เข้ามาให้ใช้ และสุดท้ายที่กำลังทำคือ “ส่งเสริมการตลาด” เพราะอยากให้เกษตรกรก้าวข้ามการขายแค่วัตถุดิบ เพื่อไม่ต้องเน้นขายแบบปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ ภายใต้แนวคิด “ทำน้อยได้มาก”
“สิ่งที่ ธ.ก.ส. ทำ ก็พยายามทำให้กลุ่มเกษตรกรอื่น ๆ เกิดความเข้มแข็งแบบบ้านถ้ำสิงห์ แล้วให้กระจายไปทั่วประเทศ โดยพยายามที่จะบอกกลุ่มเกษตรกรเสมอ ๆ ว่า ไม่ควรพาเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่ระบบธุรกิจ เพราะจะถูกปลาตัวใหญ่กินหมด แต่ให้เขาโตเป็นฝูงปลา ตัวเล็ก ๆ แต่เยอะ ๆ จะดีกว่า” ทาง ฉัตรชัย ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุ.
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน