ทั้งนี้ การผลักดันเรื่องนี้สู่เป้าหมาย ที่เมื่อนึกถึง “เส้นไหมคุณภาพดี” ต้องนึกถึง “จ.สุรินทร์” แนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิตผ้าไหม ผลิตภัณฑ์และการบริการสร้างสรรค์ ตามรอยอารยธรรมของอีสานใต้ด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้” ซึ่งนักวิจัยตั้งเป้าผลักดัน โดย…
“ส่งเสริม” ให้ “ชาวบ้านเป็นนวัตกร”…
เพื่อการ “ยกระดับเส้นไหม จ.สุรินทร์”
ผศ.ดร.มาโนช ริทินโย
กับการผลักดัน “สุรินทร์เป็นฮับเส้นไหมคุณภาพ” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อ… ทาง ผศ.ดร.มาโนช ริทินโย อาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นักวิจัยโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิตผ้าไหม ผลิตภัณฑ์และการบริการสร้างสรรค์ ตามรอยอารยธรรมของอีสานใต้ด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้” ที่สนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีการเผยไว้ว่า… พื้นที่ จ.สุรินทร์ ถูกยอมรับเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่ขึ้นชื่อ ดังนั้นโจทย์การพัฒนาผ้าไหมให้มีคุณภาพจึงเป็นโจทย์ของการทำงานโครงการนี้…
โดยต้อง “เริ่มต้นตั้งแต่ระดับต้นน้ำ”
คือ…“ยกระดับปลูกหม่อนเลี้ยงไหม”
ทางนักวิจัยได้แจกแจงเรื่องนี้ไว้ โดยสังเขปมีว่า… หลังจากที่ได้ลงพื้นที่สำรวจการผลิตเส้นไหม ทำให้พบว่า…ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ สามารถผลิตเส้นไหมได้เพียงปีละ 37 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับความต้องการของตลาดในพื้นที่ ที่ต้องการเส้นไหมมากถึงปีละกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อจะนำไปใช้เป็นวัสดุในการทอเป็นผืนผ้า และด้วยความที่ในพื้นที่มีปริมาณเส้นไหมไม่เพียงพอ ทำให้ อุตสาหกรรมทอผ้าในพื้นที่นี้ต้องนำเข้าเส้นไหมมาจากพื้นที่อื่น เช่น บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา
กรณีนี้ก็ “นับเป็นปัญหาต้นน้ำที่สำคัญ”
ส่งผลทำให้ “ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น”
“จากโจทย์ดังกล่าว ทีมวิจัยมองว่า…วิธีแก้ปัญหาจะต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ คือต้องผลิตเส้นไหมให้ได้มากขึ้น จึงเริ่ม หาวิธีการที่จะทำให้ในพื้นที่มีใบหม่อนที่มีคุณภาพและมีปริมาณมากพอสำหรับเลี้ยงหนอนไหม เนื่องจากที่ผ่านมาหม่อน 1 ไร่ได้ผลผลิตที่เป็นใบหม่อนแค่ 900 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งไม่พอนำไปเลี้ยงไหม”…ทางนักวิจัยท่านเดิมระบุไว้ถึงโจทย์ที่ต้องแก้
เริ่มต้นด้วยการเพิ่มผลผลิตใบหม่อน
เพื่อจะใช้สำหรับการเลี้ยงหนอนไหม
ผศ.ดร.มาโนช มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้อีกว่า… หลังแก้ปัญหาต้นน้ำด้วยการเพิ่มผลผลิตใบหม่อนแล้ว ทีมวิจัยก็ได้เข้าไปช่วย แก้ปัญหาในช่วงกลางน้ำ เนื่องจากพบว่า…ชาวบ้านที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมักจะเลี้ยงหนอนไหมแบบซ้อนรุ่น จึงเข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้าน ให้ ปรับเรื่องการให้อาหารที่ถูกต้อง และแนะนำการ จัดโรงเรือนกับการปรับสภาวะแวดล้อมการเลี้ยงที่เหมาะสม เพราะเดิมชาวบ้านเลี้ยงไหมได้เปอร์เซ็นต์เปลือกรังอยู่ที่ 12-15% ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อย
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ทางทีมวิจัยนี้ได้เข้าไปช่วยปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงหนอนไหมใหม่ให้กับเกษตรกร ปรากฏว่า…เกษตรกรที่ทดลองทำวิธีนี้ได้เปอร์เซ็นต์เปลือกรังไหมเพิ่มขึ้นมาที่ 18% โดยในทุก 1% เกษตรกรจะได้ความยาวเส้นไหมเพิ่มขึ้นมาที่ 30 เมตร ซึ่งหากเกษตรกรเลี้ยงไหมจำนวน 1 รุ่น โดยได้รังไหม 10,000 รัง เมื่อนำมาคูณกับ 30 เมตร เกษตรกรที่เลี้ยงหนอนไหมวิธีนี้ก็จะได้เส้นไหมที่ประมาณ 300,000 เมตรต่อรอบการผลิตรังไหม ซึ่งเป็นปริมาณเส้นไหมที่ได้เพิ่มขึ้นมาก
เป็น “ความเปลี่ยนแปลงหลังปรับปรุง”
ทำให้“ได้เส้นไหมในปริมาณที่มากขึ้น”
นอกจากนั้น ทางทีมวิจัยยังได้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีผลิตเส้นไหมขึ้นมาใหม่ให้กับชาวบ้านด้วย ที่ประกอบด้วย… เครื่องสาวเส้นไหม, เครื่องช่วยฟอกและย้อมสีเส้นไหม, เครื่องตีและควบเกลียวเส้นไหม, เครื่องขึ้นลำมัดหมี่, เครื่องค้นหูกเส้นไหม และเครื่องช่วยขึ้นม้วนเส้นไหม ส่งผลทำให้ชาวบ้านสามารถ ผลิตเส้นไหมได้คุณภาพเกรดA และทำให้ การผลิตเส้นไหมของชุมชนมีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากเดิม 50%อีกด้วย …ทาง ผศ.ดร.มาโนช นักวิชาการทีมวิจัยให้ข้อมูลไว้
พร้อมระบุไว้ด้วยว่า… กระบวนการต่าง ๆ ที่ทีมวิจัยได้เข้าไปทำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำนั้นเป็นกระบวนการทำงานที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้มากพอสมควร ซึ่งจะสามารถลดการซื้อเส้นไหมจากนอกพื้นที่ จ.สุรินทร์ ได้แบบ 100% อีกทั้งยังลดความเมื่อยล้าจากกรรมวิธีการผลิตแบบวิธีดั้งเดิมให้กับกลุ่มผู้ผลิตเส้นไหม โดยที่เป้าหมายต่อไปของโครงการนี้ก็คือ…การ “สร้างนวัตกรชุมชนที่มีทักษะสูง” เพื่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนให้มั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายคือการผลักดัน “จ.สุรินทร์” ให้ยกระดับเป็น “ฮับของเส้นไหม”
“แนวคิด–แนวทาง” เหล่านี้ “น่าสนใจ”
น่าปรับใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ของดีอื่น ๆ
ไม่เพียงพื้นที่นี้-ไม่เพียงกับเส้นไหม.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์