เรียนคุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่เคารพ
ดิฉัน อายุ 57 ปี ร่างกายแข็งแรงเป็นปกติทุกอย่างไม่มีโรคประจำตัว ส่วนสามีอายุ 62 ปี สามีเป็นคนที่มีความต้องการทางเพศค่อนข้างสูงมักจะมีเพศสัมพันธ์บ่อยมาก อาทิตย์หนึ่งประมาณ 4-5 ครั้งได้ บางคืนก็ 1-2 หน ในช่วงแรกก็สนองตอบความต้องการของสามีได้อยู่ แต่ช่วง 6-7 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ประจำเดือนมากะปริดกะปรอย บางเดือนก็ไม่มา บางเดือนก็มา ทำให้ไม่ค่อยสบายตัวเท่าที่ควร เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว ส่งผลให้ไม่มีอารมณ์ทางเพศร่วมกับสามี ร่วมเพศก็ไม่มีความสุข ไม่ถึงจุดสุดยอดเลย

อาการลักษณะนี้จะมียาอะไรช่วยรักษาได้บ้างไหม ช่วงหลังมานี้ไม่อยากร่วมเพศกับสามีเลย แต่ก็ไม่รู้จะบอกกับสามียังไง ถ้าสามีรู้ก็กลัวว่าจะไปมีหญิงอื่นนอกบ้าน จึงอยากได้คำแนะนำจากคุณหมอ

ด้วยความนับถืออย่างสูง
สมใจ

ตอบ สมใจ
อาการของหญิงวัย 57 ปีนี้เรียกว่าภาวะก่อนหมดประจำเดือนเป็นช่วงเวลาก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งร่างกายในช่วงนี้เริ่มสร้างฮอร์โมนบางชนิด อาการส่วนใหญ่ของภาวะก่อนหมดประจำเดือนคล้ายกับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) เช่น โกรธ วิตกกังวล ปวดหลัง ท้องอืด อารมณ์แปรปรวน ความคิดสับสน ไม่มีความต้องการทางเพศ และฉุนเฉียว มีฮอร์โมน 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดอาการของภาวะก่อนหมดประจำเดือน ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลในเลือด ได้แก่ อินซูลินและกลูคากอน ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ได้แก่ ฮอร์โมนเพศ เช่น เอสโตรเจน โปรเจนเตอโรน และเทสโทสเตอโรน และฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด (คอร์ติซอล และ ACTH) ฮอร์โมนจากรังไข่ ได้แก่ ฮอร์โมนเพศ เช่น เอสโตรเจน โปรเจนเตอโรน และเทสโทสเตอโรน ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่สามารถรักษาระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดและฮอร์โมนที่เกี่ยวกับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะสมดุลไว้ได้ แต่ฮอร์โมนเพศจะไม่สามารถควบคุมได้ส่งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักเกี่ยวกับอารมณ์ทางเพศและการตอบสนองที่ลดลง

จากการศึกษาพบว่าในช่องคลอดของผู้หญิงจะมีรีเซพเตอร์แอนโดรเจน (เออาร์) ซึ่งจะกระจายและอยู่อย่างหนาแน่นแตกต่างกันตามอายุของผู้หญิงและรอบประจำเดือน เมื่อมีอายุมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มหญิงก่อนหมดประจำเดือน และกลุ่มหญิงวัยทอง จะรีเซพเตอร์ลดลงทำให้การรับความรู้สึกที่อวัยวะเพศบริเวณช่องคลอด ความต้องการทางเพศ การถึงจุดสุดยอดน้อยลง แม้ว่าจะได้รับการเสริมฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนทดแทนก็ไม่สามารถทำให้ฟื้นอาการได้ดีดังเดิม

ปัจจุบันได้มีการศึกษาโดยการใช้ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนทดแทนในกลุ่มหญิงดังกล่าวพบว่าช่องคลอดสามารถแสดงโปรตีนเออาร์เพิ่มขึ้นจากการได้ฮอร์โมนชนิดนี้ทดแทนทำให้ผู้หญิงมีความต้องการทางเพศดีขึ้น และอวัยวะเพศตอบสนองกับอารมณ์เพศได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศในหญิงกลุ่มก่อนและหลังหมดประจำเดือน อย่างไรก็ดีเมื่ออายุมากกว่า 35 ปีควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์อย่างน้อยปีละครั้งซึ่งหากพบสิ่งผิดปกติจะได้แก้ไขทันการณ์ เรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญของชีวิตคู่ ฝ่ายชายมีความต้องการสูง ฝ่ายหญิงก็ต้องรีบรักษาปัญหาประจำเดือนกะปริดกะปรอยร่างกายจะได้ตอบสนองฝ่ายชายได้.

…………………………………………..
ดร.โอ สุขุมวิท51

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…