ประเทศไทยมีโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 4,044 กิโลเมตร (กม.) ครอบคลุมพื้นที่ 46 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร มีสถานีรถไฟรวม446สถานี สายใต้มีโครงข่ายรถไฟยาวที่สุด1,570กม. สายอีสาน 1,094 กม. สายเหนือ781กม. สายตะวันออก 534 กม. และสายแม่กลอง 65 กม.

ส่วนอีก 30 จังหวัดที่ยังไม่มีเส้นทางรถไฟได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี เลย เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา กระบี่ สตูล ภูเก็ต และ จ.สมุทรปราการ(มีแค่เส้นทางรถไฟฟ้า)

นอกจากโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ซึ่งต่อยอดมาจากแผนแม่บทรถไฟฟ้า M-MAP สายหลักของประเทศไทย ในเวอร์ชันM-MAP2 รวม19 สาย(เส้นทาง) ระยะทางรวม 245 กม. วงเงินลงทุน 583,409 แสนล้านบาท หากรวมกับโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เปิดบริการแล้ว 8 สี 8 สาย (277 กม.) และที่กำลังก่อสร้าง(สีม่วงใต้23.6กม./สีชมพูส่วนขยาย2.8กม./และสีส้ม35.9กม.) จะเพิ่มโครงข่ายรถไฟฟ้ารวมเป็น584.3กม.

ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง(ขร.) ยังจัดทำแผนแม่บทโครงข่ายรถไฟของประเทศไทย (Rail-Mapหรือ R-Map) โดยทบทวนแผนการพัฒนาของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ซึ่งรวมโครงข่ายทางรถไฟและโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ไว้ในฉบับเดียวกัน และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เป็นประธานแล้วเมื่อปลายเดือน ธ..2567 พร้อมกับให้ความเห็นชอบ M-MAP2 ด้วย

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) ให้รายละเอียดว่า ขร. ได้เสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ และรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-Map) ไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางดำเนินงานตามผลการศึกษาฯ ต่อไป R-Map มีระยะเวลาพัฒนา 10 ปี แบ่งช่วงการพัฒนาเป็น ระยะเร่งด่วน (ปี 2566 – 2570) และระยะกลาง (.. 2571 – 2575) ระยะทางรวม 3,427 กม. วงเงินรวมประมาณ 1.38 ล้านล้านบาท

อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ไล่เรียงแผนการพัฒนา ประกอบด้วย
1.โครงการรถไฟทางคู่ แบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน รวมระยะทาง 1,290 กิโลเมตร(กม.) ได้แก่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 167 กม., ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 321 กม., ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 308 กม., ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม., ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 281 กม. และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม. (ทางคู่ระยะ(เฟส)2ส่วนระยะกลาง รวม 201 กม. ได้แก่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม. และช่วงวงเวียนใหญ่-บางบอน 12 กม.

2.โครงการรถไฟไฮสปีด แบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน ได้แก่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ระยะที่ 2 (ช่วงนครราสีมาหนองคาย) 355 กม. ส่วนระยะกลาง 591 กม. ได้แก่ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก) 380 กม. และกรุงเทพฯ-หัวหิน-สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน) 211 กม.

3.โครงการรถไฟสายใหม่ แบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน 403 กม. ได้แก่ ช่วงชุมพร-ระนอง (MR 8 – Landbridge) 91 กม., ช่วงสุพรรณบุรี-นครหลวง-ชุมทางบ้านภาชี (MR10) 68 กม., รถไฟเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ดอนสัก-สุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต-กระบี่ ระยะที่ 1 ประกอบด้วย ช่วงสุราษฎร์ธานี-พังงา-ท่านุ่น (MR9) 158 กม., ช่วงท่านุ่น-สนามบินภูเก็ต (MR 9) 18 กม. และช่วงทับปุด-กระบี่ 68 กม.

ส่วนระยะกลาง 553 กม. ได้แก่ รถไฟเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ดอนสัก-สุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต-กระบี่ ระยะที่ 2 ช่วงสุราษฎร์ธานี-ดอนสัก (MR9) 78 กม., ช่วงอุบลราชธานี-ด่านช่องเม็ก (MR5) 87 กม., ช่วงกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้านใต้ ลาดกระบัง- สมุทรสาคร (MR10) 90 กม., ช่วงกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้านใต้ฝั่งตะวันตก สมุทรสาคร-ปากท่อ (MR10) 42 กม. และช่วงแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ (MR4) 256 กม.

และ 4.แผนพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม/แหล่งอุตสาหกรรม แบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน 14.4 กม. ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมเหล็กของกลุ่มสหวิริยาสตีลอินดัสตรี ช่วงสถานีนาผักขวง และ SSI’s Distribution Hub กับ SSI’s Logistics Terminal 2.4 กม., นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ลำพูน 2 กม., นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร กฟผ. แม่เมาะ

ระยะที่ 1 : ช่วงสถานีแม่เมาะ- CY กฟผ.แม่เมาะ ลำปาง 2 กม., นิคมอุตสาหกรรม WHA ตะวันออก ระยอง 3 กม. และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี 5 กม. ส่วนระยะกลาง 19.6 กม. ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย สระบุรี 5.1 กม., นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร สมุทรสาคร 6 กม. และเขตอุตสาหกรรมเหล็กของกลุ่มสหวิริยาสตีลอินดัสตรี ระยะที่ 2 : ช่วงสถานีนาผักขวง-เขตอุตสาหกรรมเหล็กสหวิริยาฯ-ท่าเรือประจวบ 8.5 กม.

หากเดินหน้าตามแผน R-Map ภายในปี 2575 จะเพิ่มโครงข่ายรถไฟไทยรวมเป็น 7,471 กม. จากปัจจุบัน 4,044 กม. ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศด้านคมนาคมขนส่ง กระจายโอกาสการพัฒนาความเจริญสู่จังหวัดต่างๆ และยกระดับคุณภาพชีวิต อำนวยความสะดวกการเดินทางให้ประชาชน

….คำถาม??….ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีโรดแม็ป เพื่อเดินสู่เป้าหมายหลายมิติ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งแผนแม่บทรถไฟฟ้า แผนแม่บทรถไฟ รวมทั้งแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ เป็นต้น แต่ไม่สามารถเดินตามแผนได้ตามเป้าหมาย จากปัญหาอุปสรรคต่างๆ ยกตัวอย่าง

1.รถไฟไฮสปีดสายแรกของไทย(กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) สร้างมาแล้ว 8 ปี ผลงานยังไม่ถึงครึ่ง ต้องเลื่อนแผนเปิดบริการไปเรื่อยๆ

2.รถไฟไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน(สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ลงนามสัญญากับเอกชนมาแล้ว 6 ปี จนป่านนี้ยังไม่เริ่มก่อสร้าง (ไม่นำมาบรรจุในR-Map)

แล้วโรดแม็ปฉบับใหม่ของประเทศไทย ชื่อ R-Mapรถไฟ+ไฮสปีด อายุ 10 ปี งบลงทุน 1.38ล้านล้านบาท ด้วยเป้าหมายเพิ่มโครงข่าย 3,427กม. เป็น 7,471 กม…จะเป็นได้แค่แผนที่..หรือพลังขับเคลื่อน…คำถามที่ไร้คำตอบ

……………………………………………………
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…