“พี่เช Dailynews” ได้รับเกียรติให้ไปสัมภาษณ์พิเศษ “นักรบ มูลมานัส” ศิลปินตัดปะหรือคอลลาจ (Collage) ที่โดดเด่นในการผสมผสานประวัติศาสตร์ความเป็นไทยเข้ากับสไตล์ตะวันตกและเรื่องราวร่วมสมัย สร้างสรรค์เป็นศิลปะเซอร์เรียลที่สะท้อนนิยามความเป็นไทยได้อย่างมีเอกลักษณ์ โดยคุณนักรบได้มารังสรรค์คอลเลกชันพิเศษ ICONCRAFT x NAKROB MOONMANAS เพื่อต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ โดยนำบรรยากาศความสดใสของฤดูร้อนและช่วงเวลาแห่งความชุ่มฉ่ำของไทย เชื่อมโยงเข้ากับฤดูใบไม้ผลิในโลกตะวันตกที่งดงามด้วยการผลิบานของดอกไม้นานาพันธุ์ อีกทั้งยังนำเสนอภาพ “ทุงสะเทวี” นางสงกรานต์ประจำปี 2568 ในมุมมองที่แปลกใหม่ โดยนำภาพใบหน้าจากจิตรกรรมยุคเรอเนซองส์ (Renaissance) มาประกอบเข้ากับสัตว์พาหนะที่ตีความใหม่จากครุฑสู่กริฟฟิน (Griffin) สัตว์วิเศษในตำนานตะวันตก ไม่เพียงแค่นั้น ยังสะท้อนความสนุกสนานของเทศกาลผ่านภาพเด็กไทยโบราณและนางรำนายรำที่ร่วมเฉลิมฉลองความงดงามของวัฒนธรรมไทยในมิติร่วมสมัย ถ่ายทอดผ่านสินค้าไลฟ์สไตล์ที่สามารถใช้ได้ทุกวัน อาทิ เสื้อยืด, เสื้อเชิ้ตฮาวาย, เสื้อ Tank Top, กางเกง, กางเกงขาสั้น, หมวก Bucket, กระเป๋า Tote Bag, กระเป๋าสะพายกันน้ำ และอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยว

ถาม : แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์คอลเลกชันพิเศษ ICONCRAFT x NAKROB MOONMANAS ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คืออะไรครับ?

“จริง ๆ แล้วมันก็เป็นอะไรที่ใกล้ตัว คือตอนนี้เราอยู่ในเดือนเมษายน แล้วก็เดือนเมษาทุกคนจะเฝ้ารอเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมันก็เป็นเทศกาลแห่งความสุข แล้วก็สําหรับเรามันก็เป็นเทศกาลที่มันทําให้เราได้ไปหวนคิดถึงความเป็นไทยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะคิดถึงตอนเด็ก ๆ ที่เรารอคอยจะได้ไปเล่นสงกรานต์ แต่ในอีกพาร์ทนึง มันก็มีพาร์ทของศิลปะวัฒนธรรมเยอะอยู่เหมือนกัน ได้ไปก่อเจดีย์ทราย ได้ไปตามวัดที่มีการจัดงานต่าง ๆ แล้วก็ภาพที่เราเห็นในสงกรานต์ มันจะเป็นภาพที่มีสีสัน ไม่ว่าจะเป็นสีสันของดอกไม้ หรืออะไรต่าง ๆ ในวัดวาอาราม หรือจะเป็นสีสันของผู้คนที่แต่งตัวสีสันสดใส ก็แน่นอนว่างานของเรามันพูดถึงวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว แล้วก็วัฒนธรรมที่มันมาจากตะวันตกด้วย พอมาเป็นแรงบันดาลใจของเทศกาลนี้ เราก็เลยหยิบจับสิ่งที่มันเป็นตํานาน เป็นความเชื่อ แล้วก็สงกรานต์ปีนี้ นางสงกรานต์ชื่อว่าอะไร แล้วเราก็สนใจเรื่องสื่อสิ่งพิมพ์ของไทยที่มีมาแต่อดีต สิ่งพิมพ์อันนึงที่สนใจมากก็คือว่าในสมัยก่อนนะครับ เค้าจะมีการทําปฏิทินสงกรานต์ขึ้นมา แล้วก็อาร์ตเวิร์คต่าง ๆ จะสวยมาก แล้วก็จะเป็นรูปนางสงกรานต์ต่าง ๆ อะครับ เราก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตที่มันเป็นวิถีชีวิตในปัจจุบัน คนไปเล่นสงกรานต์ก็ใส่เสื้อฮาวายสีสันสดใส กับเรื่องรากฐานวัฒนธรรมในอดีต แล้วก็สิ่งพิมพ์ในอดีต ซึ่งมันเป็นแก่นของงานของเรา เป็นคอนเซ็ปต์โดยรวม แต่ถ้าเจาะลงไปถึงรายละเอียดต่าง ๆ อย่างนางสงกรานต์ที่เราพูดถึง นางสงกรานต์ในปีนี้ชื่อ ทุงสะเทวี มีพาหนะเป็นครุฑ ด้วยความที่งานของเราอยากจะถ่ายทอดความเป็นไทย โดยที่มี Reference มาจากศิลปะตะวันตก จากครุฑเราก็เปลี่ยนให้เป็นกริฟฟิน แล้วก็นางสงกรานต์ของเรา เหมือนหน้าตาของนางสงกรานต์ก็อาจจะไม่ได้เป็นคนไทย แต่ว่าเป็นภาพที่มาจาก Painting สมัยเรเนซองส์ (Renaissance) เป็นผู้หญิงตะวันตก แต่ว่าลักษณะท่าทางต่าง ๆ ก็พยายามที่จะถอดมาจากประติมากรรมไทย”

ถาม : แนวคิดในการผสมผสานความสดใสของฤดูร้อนไทยและสงกรานต์ เข้ากับฤดูใบไม้ผลิโลกตะวันตกเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ?

“คือฤดูร้อนของเรา เราก็รอคอยสงกรานต์ ได้พักผ่อน ได้กลับบ้าน ขณะเดียวกันในเวลานี้ในโลกตะวันตก มันก็เป็นช่วงเวลาของฤดูใบไม้ผลิพอดี มันเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนรู้สึกผ่อนคลายที่สุดของปี หลังจากผ่านความเยือกเย็นของฤดูหนาว ก่อนจะเข้าสู่ความร้อนของซัมเมอร์ มันก็เป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่า คนฟากหนึ่งของโลกรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่สบาย ผ่อนคลาย แล้วก็เป็นฤดูกาลที่มันสวยงาม เหมือนพอเรานึกถึงเสื้อฮาวาย ก็จะมีดอกไม้ดอกไร่ต่าง ๆ ในงานของเราที่มันพูดถึงวัฒนธรรม เราก็เลยไปหยิบจับพวกมวลดอกไม้ในวัฒนธรรมต่าง ๆ ในศิลปกรรมต่าง ๆ มีความเป็นดอกไม้ที่เป็นเปอร์เซีย มีความเป็นดอกไม้ที่เป็นดอกไม้ร่วง ที่เป็นงานลงรักปิดทองของไทย มาผสมผสานกัน

ในงานก็จะมีลวดลายดอกไม้ ซึ่งชาวตะวันตกตีความโดยได้รับ inspiration มาจากโลกตะวันออก มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาที่ตะวันออก แล้วก็ซึมซับวัฒนธรรมต่าง ๆ ไป เค้าก็ไปตีความเป็นลายที่เรียกว่า เพสลีย์ (Paisley) ลายที่เป็นลายลูกน้ำ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอิหร่าน เปอร์เซีย และศิลปะแบบอินเดียอะครับ เราก็เลยไปหยิบจับมา หรือลายดอกไม้ที่ชาวฝรั่งเศสเข้ามาที่จีน เขาเห็นภาพความเป็นจีน แล้วก็ไปตีความเป็นศิลปะของตัวเอง เรียกว่า ชิโนเซอรี (Chinoiserie) แรงบันดาลใจจากศิลปะจีนไปสู่ศิลปะตะวันตก เราก็รวบรวมหยิบจับสิ่งเหล่านี้มาร้อยเรียงให้เป็นเสื้อที่เต็มไปด้วยมวลดอกไม้ของเรา ในเวอร์ชั่นเรา มันอาจจะไม่เป็นเหมือนลายเสื้อฮาวายทั่วไป แต่มันทำให้รู้สึกเป็นสากล เป็นมุมมองตะวันตกมองตะวันออก ตะวันออกมองตะวันตก อย่างไรก็ตาม ความเป็นสงกรานต์ ความเป็นเทศกาลเฉลิมฉลอง เทศกาลแห่งความสุข เทศกาลครอบครัว งานเทศกาลท่ามกลางฤดูร้อนที่เป็นสากล เป็นเทศกาลที่ทุกคนทุกเพศทุกวัยเอ็นจอยกับมันได้ แล้วก็รอคอยการมาของมัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยว คนที่เข้ามาที่ประเทศไทยก็เอ็นจอยกับสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ค่อย ๆ ซึมซับรับรู้แบบแผนความเป็นวัฒนธรรมไทย ความสวยงามของความเป็นไทยผ่านเทศกาลนี้ด้วย”

ถาม : อยากให้คุณนักรบพูดถึงศิลปะแนวคอลลาจ (Collage) ว่ามันมีความพิเศษ ความแตกต่างจากศิลปะแนวอื่น ๆ อย่างไรบ้าง?

“คอลลาจคืองานปะติดปะต่อ งานตัดปะ ผมก็จะไปหาองค์ประกอบต่าง ๆ ส่วนประกอบรูปภาพต่าง ๆ จากวัฒนธรรมทั้งของไทยแล้วก็ของตะวันตก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจ แล้วก็หยิบจับดัดแปลงมาให้เป็นรูปภาพต่าง ๆ เราก็จะพยายามเอาสิ่งต่าง ๆ ที่มันอยู่ในวัฒนธรรมไทย หรืออยู่ในความเชื่อของไทย เอามาถ่ายทอดในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น การที่เราจะทําภาพสมมุติพระพิฆเนศอะไรอย่างเงี้ย เราก็อาจจะเห็นพระพิฆเนศในปางที่ดูเป็นไทย เป็นแบบอินเดีย แต่ถ้าเราลองคิดกลับกันว่า ถ้าสมมติเราจะเอาแบบแผนของศิลปะตะวันตก เอาปะติมากรรมตะวันตก เอารูปภาพที่ชาวตะวันตกวาดช้างอะไรอย่างเงี้ย มาปะติดปะต่อกับงานที่เป็นจิตรกรรมไทยประเพณีได้มั้ย อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของงานเราตั้งแต่แรก อย่างงานครั้งนี้ก็เหมือนกัน เราพยายามที่จะถ่ายทอดงานสงกรานต์ ถ้าเราไปเสิร์ชภาพนางสงกรานต์ในกูเกิล ก็จะเห็นภาพนางสงกรานต์แต่งตัวแบบไทย มีเครื่องทรงอะไรต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องทรงแบบไทย ขี่พาหนะที่เป็นครุฑ ซึ่งก็เป็นสัตว์ที่ดูเป็นไทยมาก ๆ เราก็เลยลองเปลี่ยน ถ้าเกิดสมมุติมองในมุมที่เป็นประวัติศาสตร์ศิลปะสากล รูปลักษณ์ของงานสงกรานต์จะเปลี่ยนแปลงไปยังไงได้บ้าง”

ถาม : คอลเลคชั่นนี้มีสินค้าอะไรบ้างครับ?

“มี เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต เสื้อฮาวาย กางเกง หมวก กระเป๋า”

ถาม : ที่ผ่าน ๆ มา งานคอลเลคชั่นของคุณนักรบ เวลาคนต่างชาติ ฝรั่ง นักท่องเที่ยวเค้าเห็นงานของเรา เค้ารู้สึกยังไงบ้าง?

“เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว โชคดีที่ได้รับทุนจากสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย ให้ไปเป็นศิลปินพํานักที่ปารีสครับ ตอนนั้นก็คือยังไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นยังไง คืองานของเรามันมีการผสมผสานความเป็นตะวันออกกับตะวันตกมาอยู่ด้วยกัน คืองานเรามี reference ของความเป็นศิลปะตะวันตกต่าง ๆ แล้วอีกส่วนหนึ่งมันมีความอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ไทยด้วย เรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อ ตํานาน มันก็เป็นสิ่งที่เราไม่แน่ใจว่า ชาวต่างชาติที่เค้าไม่ได้มีพื้นฐานความรู้เรื่องเซาท์อีสเอเชีย เรื่องความเป็นไทย เค้าจะเก็ทงานเรารูปแบบไหน แต่ตอนที่ได้ไปแลกเปลี่ยนอะครับ ก็ทําให้เรารู้ว่า จริง ๆ แล้วความเป็นศิลปะมันมีอะไรบางอย่างที่มันดูเป็นสากล ถึงเราจะพยายามเล่าเรื่องของเรา แต่ผู้ชมชาวต่างชาติก็จะสามารถ connect ถึงงานของเราได้ แม้เขาจะไม่ได้เข้าใจเรื่องราวทั้งหมด แต่มันก็มีอะไรบางอย่างที่ related ได้ว่า อันนี้มันเป็นเรื่องตำนาน อันนี้มันเป็นเรื่องความเชื่อ อันนี้มันเป็นเรื่องความรัก อันนี้มันเป็นเรื่องที่เราพูดถึงเรื่องชาติ เหมือนมันมีความมหัศจรรย์อะไรบางอย่างของศิลปะ ที่มันจะไปทัชใจ มันจะไปสื่อสารกับกับคนในหมู่มากได้ โดยที่เขาอาจจะไม่จําเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้อะไรที่มันลึกซึ้งในเรื่องของวัฒนธรรมของเรา ศิลปะมันเป็นตัวกลางที่พาวเวอร์ฟูล แล้วมันสําคัญมาก ๆ เลยในการนําเสนอเรื่องราวต่าง ๆ หรือว่านําเสนอวัฒนธรรมของชาติ”

ถาม : ในการทําพวกสินค้าไลฟ์สไตล์ เสื้อ กางเกง หมวก กระเป๋า ฯลฯ พอมันเป็นสงกรานต์ คุณนักรบรู้สึกว่ามันมีความพิเศษมากขึ้นไหม?

“คือช่วงหนึ่งเราก็เคยทําอาร์ตเวิร์คต่าง ๆ ขึ้นมา อย่างงานลอยกระทง แทนที่เราจะเห็นภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังลอยกระทง เราก็เปลี่ยนเป็นคนไทยไปลอยกระทงอยู่ในสระบัวของโมเนต์ เป็นรูปภาพประมาณนั้น ผสมผสานกัน เหมือนลองจินตนาการถึงบริบทที่มันเปลี่ยนไป”

ถาม : ก็คือคุณนักรบเคยทำงานลักษณะแบบนี้อยู่เป็นประจําอยู่แล้ว

“ใช่ครับ”

ถาม : คิดว่างานคอลเลคชั่นนี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยได้มากขนาดไหน สําหรับนักท่องเที่ยวที่มาเดินเล่นที่ไอคอนสยาม และได้เห็นสินค้าคอลเลคชั่นนี้?

“ความเป็นสงกรานต์ มันเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจง่ายอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทํากับไอคอนคราฟท์ มันจะเป็นอีกสีสันนึง เหมือนกิมมิคอย่างนึงของเทศกาลสงกรานต์ คนที่มาซื้อเสื้ออาจจะไม่ได้ซื้อเสื้อฮาวายเพลน ๆ แต่ซื้อเสื้อที่มันมีเรื่องราวที่มันลึกลงไปในความเป็นไทย ขณะเดียวกันเราก็พยายามทําให้หยิบจับได้ง่าย ให้คนเข้าใจง่าย มีลักษณะของความเป็นแฟชั่น มันอาจจะมีรูปคนถือปืนฉีดน้ำ แต่ว่าเราไม่ได้อยากจํากัดแค่ว่ามันเป็นเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น จริง ๆ แล้วเราตั้งใจที่จะออกแบบให้มันมีความ universal มีความ timeless ประมาณนึง ทุกคนสามารถหยิบจับมาใส่ในชีวิตประจําวันได้ คุณอาจจะมีเสื้อผ้าที่เป็นกิมมิคที่หยิบจับมาใส่ในวันสงกรานต์ แต่ว่าโลกทุกวันนี้ก็ให้ความสนใจเรื่องของการหยิบจับอะไร มาพยายามทําให้มันยั่งยืนที่สุด เสื้อของเราภาพรวมมันอาจจะมีเรื่องสงกรานต์บ้าง แต่รวม ๆ กันแล้ว มันพูดถึงเรื่องความเป็นไทยที่มัน timeless ความสนุกสนานอะไรต่าง ๆ ที่มันไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่เดือนเมษา หรือแค่สงกรานต์อย่างเดียว”

ถาม : ชิ้นงานคอลลาจในคอลเลคชั่นนี้ ทำมือหรือผ่านโปรแกรมครับ?

“ก็คือแรกเริ่มเลยที่ทําอาชีพนี้ ทําภาพประกอบศิลปินอะไรอย่างนี้ เริ่มต้นจากการทําเป็นชิ้นงานมือครับ แต่ว่าพอทําไปทํามา ชิ้นงานมือเนี่ย เราต้องไปเสาะแสวงหาชิ้นส่วนต่าง ๆ บางทีมันอาจจะเป็นโปสการ์ดเก่า หนังสือพิมพ์เก่า ภาพถ่ายเก่า ๆ บางทีเราก็รู้สึกเสียดายที่ต้องตัดออกมา แล้วก็มันมีข้อจํากัดเยอะในการที่นําไปผลิตซ้ำ ก็เลยเริ่มค่อย ๆ พัฒนา ลองทําหลาย ๆ อย่าง แล้วก็ค้นพบว่า การทําที่เป็นดิจิตอล มันก็เวิร์คเหมือนกันในแง่ที่เราสามารถคอลเลคองค์ประกอบต่าง ๆ แล้วก็เอาไปสแกน แล้วเราก็สามารถเอาไปดัดแปลง สามารถเอาไปผลิตซ้ำได้ ด้วยวิธีที่มันง่ายมากขึ้น ช่วงหลัง ๆ ก็เลยทําเป็นดิจิตอล ทําในกราฟิกโปรแกรมเป็นหลัก งานนี้ก็ใช้กราฟิกโปรแกรมทำ แต่ว่าองค์ประกอบต่าง ๆ เราก็เสาะแสวงหามาจากหลาย ๆ ที่ อาจจะเป็นจากหนังสือเก่าบ้าง จากโปสการ์ดเก่า หนังสือพิมพ์เก่าบ้าง หรือจาก Archive ออนไลน์ด้วย เพราะการที่เราจะคอลลาจ หรือตัดต่อภาพ ปะติดปะต่อ สิ่งที่จําเป็นคือ เราต้องมี Archive มีคลังภาพ”

“จริง ๆ การทำงานของเราหลาย ๆ โปรเจกต์ เวลาที่คนเห็นรูปนางรํา คนก็จะไป related กับความน่ากลัว กับคนสมัยก่อนที่หน้าตาอาจจะไม่ได้เป็นพิมพ์นิยมในสมัยนี้ แล้วก็เวลาถ่ายรูปเค้าไม่ได้ยิ้มกัน บางคนก็อาจจะตีความว่ามันเป็นความน่ากลัว แต่งานของเรา เราก็จะหยิบจับสิ่งเหล่านี้มา แล้วเราก็แอดอะไรที่แตกต่างออกไป อย่างรูปคน เราก็ใส่ปืนฉีดน้ำเข้าไป มันก็เปลี่ยนความหมายนิดนึง ทําให้ดูสดใสมากขึ้น ทําให้อดีตดูเป็นมิตรกับผู้คนมากขึ้น เราในฐานะ คนที่สนใจประวัติศาสตร์ อยากจะบอกว่าจริง ๆ แล้วอดีตไม่เห็นน่ากลัวอะไรเลย มันก็เป็นสิ่งที่ related แล้วก็เป็นรากฐาน หรือว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในเนื้อ อยู่ในตัว อยู่ในความคิดเราส่วนหนึ่ง เราก็เลยอยากหยิบจับรูปเก่า ๆ นอกจากมันมีเรื่องราวต่าง ๆ เรายังอยากให้คนรู้สึกว่า อดีตมันไม่ได้ไกลไปจากตัวเราขนาดนั้น เหมือนเราก็เป็นผลผลิตของอดีตด้วย”

ถาม : อยากให้คุณนักรบพูดถึงไอคอน คราฟท์ ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ ให้คนไทยได้แสดงออกถึงผลงานต่าง ๆ

“ส่วนตัวมาไอคอนคราฟท์บ่อย เวลามีเพื่อนต่างชาติมาหา หรือเวลาที่ต้องไปไหน แล้วอยากมีของฝากที่มีความเป็นไทย ๆ หน่อย ก็จะมาที่นี่ เพราะไม่ว่าจะหาของให้ผู้ใหญ่ หรือหาของให้วัยใกล้ ๆ กับเรา มันก็มี ไอคอนคราฟท์ก็เหมือนสิ่งที่เราทำ ก็คือหยิบจับความเป็นไทยในแง่มุม ต่าง ๆ ที่มันน่าสนใจ สิ่งที่มัน related กับวิถีชีวิตของผู้คนร่วมสมัย อะไรที่มีคุณค่า เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ก็ยังรักษาเอาไว้ด้วย อะไรที่มันพัฒนาต่อยอดไป ไอคอนคราฟท์ก็มีด้วย เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ ๆ ดีมากเลย ที่สนับสนุนส่งเสริมให้กับศิลปิน หรือว่านักออกแบบได้มีพื้นที่ เพราะว่าเอาจริง ๆ คนที่ทําเรื่องไทย ๆ เนี่ย บางส่วนหรือว่าบางช่วงขณะ เราก็คิดว่าการทําเรื่องที่เป็นไทย มันมีพื้นที่แสดงออกยากนิดนึง แต่ว่าด้วยความที่หลาย ๆ คนหลาย ๆ หน่วยงาน ผู้คนลุกขึ้นมาทําสิ่งนี้กันมากขึ้น มันก็ทําให้คนเห็นว่า ความเป็นไทยมันสมัยใหม่ได้นะ มันไปกับวิถีชีวิตของพวกเราได้ การที่มีพื้นที่อย่างนี้เยอะ ๆ หรือว่าการที่คนหยิบจับความเป็นไทยมานําเสนอมากขึ้น ทําให้เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันไม่ได้ห่างไกลไปไหน เราหยิบจับสิ่งนี้มาอยู่ในชีวิตเราได้อย่างไม่เคอะเขิน ถ้าเป็นสมัยก่อน เวลามีความเป็นไทยอยู่ในงาน มันจะรู้สึกเขิน มันเป็นการทํางานจากหลายภาคส่วนจริง ๆ ในส่วนของดีไซเนอร์ ศิลปิน ผู้ประกอบการต่างๆ หรือว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาสนับสนุน”

ถาม : อยากให้คุณนักรบเล่าให้ฟังถึงการทำงานคอลลาจช่วงแรก ๆ หน่อย มีปัญหาอะไรบ้าง?

“ตอนที่เราเริ่มทํางานแรก ๆ หรือตอนที่ทําปกหนังสือให้มติชนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว การหยิบจับอะไรแบบเนี้ย มันอาจจะยังดูใหม่ คนอาจจะตั้งคําถามว่า เอ้ย.. ได้หรอวะ เหมือนการหยิบจับสิ่งที่มันมีอยู่แล้วมาใช้ คนก็อาจจะตั้งคําถามว่า ทำแบบนี้ได้ใช่มั้ย แล้วอีกอย่างนึงก็คือเรื่องความเหมาะสม ไม่เหมาะสมของการหยิบจับวัฒนธรรมไทยมาดัดแปลง เอาความเป็นไทยที่สมัยก่อนเราก็จะคุ้นชินว่า จิตรกรรมฝาผนังมันก็จะต้องอยู่กันแบบนั้น แต่ว่างานของเราที่เริ่มต้นทําก็คือหยิบจับเอาจิตรกรรมฝาผนังมาผสมกับภาคตะวันตก หรือว่าเอาสิ่งที่มันดูใหม่ไปเลย มาใส่กับภาพโบราณ เหมือนรูปนางรําเอามาหยิบจับใส่กับสิ่งใหม่ มันเป็นการผิดขนบมั้ย มันเป็นการละเมิดครูมั้ย คือในตอนนั้น มันมีคําถามประมาณนึง แต่ว่าถึงทุกวันนี้มันผ่านไป 10 ปีแล้ว สังคมไทยวิวัฒน์ แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คนมีความคิดเปิดกว้างมากขึ้น มันเป็นการทํางานกันของหลายภาคส่วนมาก ๆ ไม่ใช่เฉพาะสื่อที่เป็นการออกแบบหรือศิลปะอย่างเดียว ในแวดวงต่าง ๆ ก็ให้พื้นที่กับความเป็นไทย โดยเฉพาะในรูปแบบที่มันแปลกใหม่มากขึ้น อย่างตอน 10 ปีก่อน คนก็ตื่นเต้นกับ MV ที่ทศกัณฐ์ไปเล่นโกคาร์ท คนก็จะรู้สึกว่า เอ๊ย มันไม่ได้ มันผิด แต่ทุกวันนี้มันผ่านมา 10 ปี โลกมันเปิดมากขึ้น มีอิสระมากขึ้น มีอะไรที่เอาไปต่อยอดได้ เราหวังว่าอีก 10 ปี ข้างหน้า คนก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้ แทนที่จะเห็นว่าเป็นยาขม ไม่อยากทําสิ่งเหล่านั้น เพราะกลัวจะโดนดราม่า ก็อยากให้มันเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ทุกอย่างมันย่อยง่าย คนเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นขุมทรัพย์ที่หยิบจับไปต่อยอด เป็นสิ่งที่ unique เป็นสิ่งที่คนต่างชาติมีความชื่นชม ด้วยวัฒนธรรมของเรามันมีรากเหง้าที่เนิ่นนาน เราอาจจะมีสิ่งที่แย่ หรือเลวร้ายหลายอย่าง แต่มันปฏิเสธไม่ได้ว่า รากฐานความเป็นไทย วัฒนธรรมของเรา มันรุ่มรวยจริง ๆ”

ถาม : ในฐานะศิลปินคอลลาจ คิดว่าศิลปะแขนงนี้มันมีเสน่ห์แตกต่างกับศิลปะแขนงอื่นยังไงบ้าง?

“สมัยก่อนเราก็อาจจะเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินคอลลาจ แต่เราก็พยายามต่อยอดงานของเราออกไป จาก 2 มิติก็ไปเป็นงานวิดีโอ installation ปะติมากรรม งานต่าง ๆ แต่ว่าในรากฐานที่มีพื้นฐานมาจากการทำงานปะติดปะต่อ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม วรรณคดี เรารู้สึกว่ามันอาจจะมีความน่าสนใจในแง่ที่ เราหยิบจับสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว แต่ว่าคนอาจจะหลงลืมไป มาเปลี่ยนแปลงบริบทนิดหน่อย แล้วมันก็จะสามารถเล่าเรื่องที่เรารู้สึกว่าเก่า ๆ อดีตมันย้อนกลับมาเสมอ เราแค่หยิบจับสิ่งที่มันมีอยู่แล้วมาจัดวางใหม่ เพื่อนําเสนอเรื่องราวในอดีตที่มันสะท้อนไปถึงปัจจุบัน แล้วก็ในอนาคต”

ถาม : อยากให้คุณนักรบแนะนําน้อง ๆ ที่มีอยู่จํานวนมากที่ชอบงานศิลปะ แต่ว่าไม่ได้มีสกิลที่วาดเอง หรือแบบลงสีเองได้ คอลลาจก็เหมือนเป็นศิลปะทางเลือกนึงที่น้อง ๆ สามารถทำได้

“คือเป็นข้อดีมาก ๆ ของโลกในยุคสมัยนี้ ที่แวดวงศิลปะ แวดวงการออกแบบมีพื้นที่มากขึ้น มีการยอมรับในศาสตร์ หรือวิธีการทํางานที่แตกต่างหลากหลายแขนงมากขึ้น ทุกวันนี้เครื่องมือต่าง ๆ มันมีมากมายมาก ๆ เลย งานศิลปะมันไม่ได้ถูกจํากัด ตอนเด็ก ๆ โลกทัศน์ของเรายังไม่ค่อยรู้อะไรมาก พอนึกถึงงานศิลปะ เราก็จะนึกถึงงานวาดรูประบายสีอย่างเดียว หรือว่างานปั้น มีการความรับรู้ เข้าใจบ้าง แต่ว่างานที่มันเป็นดิจิตอล งานที่มันเป็นภาพเคลื่อนไหว งานที่มันเป็นแอนิเมชัน เราไม่รู้จัก แล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งนี้คือศิลปะมั้ย นิยามของความว่าศิลปะเมื่อ 10 ปี 20 ปีก่อน มันอาจจะค่อนข้างตายตัว แต่ว่าทุกวันนี้ มันมีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ มากมาย โดยเฉพาะการที่เรามีวิวัฒนาการของโลกดิจิทัล มีปัญญาประดิษฐ์ต่าง ๆ แน่นอนว่า คอลลาจ เป็นทางเลือกหนึ่งในการหยิบจับทำงานศิลปะ และงานออกแบบ แต่มันก็เป็นหนึ่งในทางเลือก ในอีกหมื่นทางเลือก หรือว่าแสนทางเลือก เด็ก ๆ ที่เติบโตมากับโลกดิจิทัล มันมีทางไปมากกว่านั้นอีก คนที่จะทํางานศิลปะ อาจจะต้องหาวิธีการทํางานของตัวเองให้เจอ แล้วก็พัฒนาลายเซ็น พัฒนาสิ่งที่เราสนใจในรูปแบบที่เราสนใจกับมันจริง ๆ นะครับ มันก็จะเป็นกุญแจที่ทําให้เราสามารถที่จะทํางานศิลปะ หรือว่าสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาได้ มันมีวิวัฒนาการเยอะมาก บางอย่างผมก็ตามไม่ทันแล้วเหมือนกัน แต่ว่าศิลปินแต่ละคน มันก็มีการเดินทางของตัวเอง ว่าเราจะไปหยิบจับสิ่งไหน เราจะเลือกวิธีไหนเป็นวิธีการในการบอกเล่าเรื่องราวของเรา ทุกวันนี้โชคดีว่างานศิลปะมันไม่ได้จํากัดว่า คุณต้องวาดรูปสวยงามเท่านั้น หรือว่าคุณต้องระบายสีแบบเป๊ะ ตามแบบที่เรียนในโรงเรียนประถม มัธยม เท่านั้น มันมีวิถึทาง แล้วก็ความเป็นไปได้ที่มันมากมายกว่านั้น ก็ถือเป็นข้อดีมาก ๆ สำหรับทุกคน”

ถาม : พูดถึง AI ในวงการศิลปะไทย มีการยอมรับว่างานที่สร้างจาก AI เป็นงานศิลปะหรือยัง และคุณนักรบมีแผนที่จะนำ AI มาช่วยในการสร้างงานศิลปะไหม?

“ถ้าจะบอกว่า AI มันสร้างงานศิลปะขึ้นมาไหม สําหรับตัวเองคิดว่า มันอาจจะไม่ใช่สร้างงานศิลปะขึ้นมา แต่คําถามที่มันน่าสนใจกว่านั้น ก็คือว่าศิลปินสามารถหยิบจับ AI มาเป็นเครื่องมือในการช่วยทํางาน หรือว่าสอดประสานกันกับโลกที่มันวิวัฒน์ไปยังไงบ้าง มีศิลปินเยอะมากเหมือนกันทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่เอาเอไอมาช่วยทํางานศิลปะ แต่ว่าไม่ได้ช่วยแบบที่ช่วยให้ทํางานให้นะครับ แต่ว่าช่วยในวิธีการคอนเซปต์ต่าง ๆ อย่างมีงานหนึ่งของผม ก็ทํางานกับปัญญาประดิษฐ์เหมือนกัน ผมก็หาวิธีการว่าเราจะทํางานกับ AI ยังไง แน่นอนไม่ใช่ให้เอไอเราทําภาพคอลลาจให้ แต่ว่างานนั้น ผมคิดว่า AI มันเป็นสิ่งที่ใหม่มาก มันเป็นสิ่งที่ปัจจุบันมาก ๆ ขณะเดียวกันงานของผม มันไปศึกษาวรรณคดีวรรณกรรม เราก็เลยไปหยิบจับ Text หรือข้อความของวรรณคดีที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่คนไทยรับรู้ ก็คือเรื่องไตรภูมิพระร่วง แล้วเราก็ใส่ลงไปในโปรแกรมที่เราเขียนขึ้นมา เพื่อให้เขาวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ ไปถึงตัว AI ก็จะวิเคราะห์โครงสร้างของวรรณกรรม ไตรภูมิพระร่วง แล้วเค้าก็จะเห็นโครงสร้างของวิธีการสร้างไตรภูมิพระร่วงขึ้นมา แล้วผมก็ให้ AI generate ไตรภูมิพระร่วงฉบับใหม่ขึ้นมา หลังจากนั้นเราก็ทำงานศิลปะจัดวาง installation ขึ้นมาจากแรงบันดาลใจไตรภูมิพระร่วงฉบับใหม่ที่ AI generate งานนี้ก็แสดงที่ The Jim Thompson Art Center เมื่อ 2 ปีก่อน เรามองเห็นว่า AI เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการของเครื่องมือมากกว่าที่จะให้ AI ลุกขึ้นมาทำงานแทนเรา”

ถาม : ถ้าพูดถึงงานศิลปะคอลลาจที่ผ่าน ๆ มา เราต้องกังวลเรื่องลิขสิทธิ์มากน้อยแค่ไหน ในการนำภาพต่าง ๆ มาตัดแปะ ปะติดปะต่อ?

“สิ่งเหล่านี้มันมาควบคู่กับความรู้เรื่องลิขสิทธิ์ คืองานของเราที่หยิบจับมาใช้ในการทํางาน โดยเฉพาะงานที่เป็น Commercial เราจะหยิบจับในสิ่งที่เรียกว่า พับบลิคโดเมน หรือว่า สาธารณะสมบัติ หมายถึงงานที่ไม่ถูกคุ้มครองโดยลิขสิทธิ์แล้ว สมมุติว่าเราสร้างงานศิลปะ หรือสร้างงานวรรณกรรม เมื่อผ่านไป 100 ปีแล้ว สิ่งเหล่านั้นเราไม่สามารถครอบครองไว้ได้ มันจะหลุดจากการเป็นลิขสิทธิ์ของเรา มันจะไม่ถูกคุ้มครองแล้ว เพราะว่าในแต่ละประเทศ จะมีเวลาที่กําหนดไว้ไม่เหมือนกัน ปกติง่าย ๆ คร่าว ๆ เลย หางานที่เกิน 100 ปีแล้ว อย่างเช่น รูปภาพนางรํา แล้วก็หยิบจับรูปภาพที่มันเก่าแก่เกิน 100 ปีขึ้นไปมาใช้ เราก็มั่นใจได้ว่า ภาพเหล่านั้นจะไม่ได้มีคนถือครอง ไม่ได้ไปละเมิดใคร อย่างรูปหน้านางสงกรานต์ในคอลเลคชั่นนี้ เป็นภาพในยุคเรเนซองส์ ซึ่งผ่านมา 400-500 ปีแล้ว ซึ่งพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศให้สิ่งเหล่าเนี้ยกับทุกคนไปใช้ฟรี เค้าสนับสนุนให้เราไปทําสินค้า Commercial ด้วยซ้ำ เพราะว่ามันเป็นสาธารณสมบัติ มันกลายเป็นสมบัติของทุกคนไปแล้ว เราก็หยิบจับสิ่งเหล่านี้มาใช้ อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยบ้าง หมายถึงในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ อย่าง อุฟฟิซิ หรือ ลูฟวร์ หรือ เม็ท เค้าก็จะถ่ายรูป หรือว่าสแกนรูปภาพเหล่านั้นลงในเว็บไซต์ของเค้าหมดเลย เพื่อให้ผู้คนไปโหลดมาใช้ ไปซูมดู ไม่ว่าคุณจะเป็นศิลปิน คุณก็สามารถซูมดูเทคนิคได้ หรือถ้าคุณเป็นนักเรียน นักศึกษา คุณก็สามารถไปหยิบจับสิ่งเหล่าเนี่ย มาดัดแปลงทําเป็นรายได้ หรือถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการ คุณก็ต่อยอดจากสิ่งเหล่านั้นได้ อยากให้วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย หมายองค์ความรู้ต่าง ๆ มันควรจะเผยแพร่ะ ไม่ใช่การที่สงวน แล้วก็เก็บไว้ให้คนเพียงหยิบมือนึงใช้ประโยชน์”

ถาม : อยากให้คุณนักรบพูดทิ้งท้ายถึงคอลเลคชั่น ICONCRAFT x NAKROB MOONMANAS?

“คอลเลคชั่นนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้คุณนึกถึงเวลามีเทศกาลอะไร เราสามารถที่จะหยิบจับสิ่งที่มันเป็นงานศิลปะ สิ่งที่มันมีเรื่องราว เราได้แต่งตัวตามธีม แล้วมันมีเรื่องราวเบื้องหลัง มันมีอะไรที่ทําให้เรา related กับช่วงเวลาเหล่านั้นได้ เราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่พิเศษ แล้วก็หวังว่ามันจะเป็นสีสันอีกส่วนหนึ่งของเทศกาลสงกรานต์ จากเดิมที่มันจะเป็นภาพเสื้อฮาวายโผล่ขึ้นมา บางทีมันอาจจะเป็นภาพเสื้อของเราโผล่ขึ้นมาก็ได้”

ถาม : ในช่วงนี้คุณนักรบมีโครงการทําอะไรอยู่ หรือว่าวางแผนจะทํางานอะไรในอนาคตบ้างครับ และสามารถติดตามได้ที่ไหนครับ?

“ตอนนี้ผมทําหนังอยู่ เป็น Production Designer ทําเรื่องวันทองครับ ช่วงนี้ก็ไปออกกองบ่อยนิดนึง ปลายปีนี้ก็จะมีนิทรรศการ แต่ว่ายังเป็นความลับอยู่ สามารถติดตามผมได้ที่ ig – nakrob.art และ nakrobmoonmanas หรือที่เว็บไซต์ www.nakrobmoonmanas.com”

————————-

ICONCRAFT ต้อนรับสงกรานต์ด้วยแคมเปญ “The Art of Thai Celebration” ยกขบวนผลิตภัณฑ์คราฟต์ภายใต้แคมเปญ ICONCRAFT Co:Create มาให้เลือกช็อปต้อนรับปีใหม่ไทย พบกับคอลเลกชันพิเศษโดยศิลปินดัง “นักรบ มูลมานัส” พร้อมหลากหลายสินค้าน่าใช้จากช่างฝีมือทั่วประเทศ ที่ยกทัพมาให้ช็อปคลายร้อนอย่างคับคั่ง ระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน 2568 ที่ไอคอนคราฟต์ ชั้น 4-5 ไอคอนสยาม และเตรียมนำเสนอเสน่ห์งานหัตถศิลป์ไทยร่วมสมัยให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้ชื่นชมและเลือกซื้อในงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2568” ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน 2568 ณ บริเวณท้องสนามหลวง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: @ICONCRAFT และ Instagram / TikTok: @ICONCRAFT_TH

วุฒิ พิศาลจำเริญ