“ต้นน้ำ” ของกระบวนการยุติธรรมคดี “จำนำข้าว” คือ “ไม่ต้องพิจารณาเรื่องความยุติธรรม” เป็นประโยคที่หลุดออกมาจากปาก “หัวหน้าคณะรัฐประหาร” ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ

หลัง “รัฐประหาร” 22 พ.ค. 57 มีข้าวสารโครงการรับจำนำถูกเก็บไว้ในคลัง-โกดัง 18.5 ล้านตัน ถ้าไม่มีอคติ! แล้วเปิดประมูลขายกันอย่างตรงไปตรงมา เปรียบเทียบกับข้าวสารอายุ 10 ปี ลอตสุดท้ายในคลัง จ.สุรินทร์ ที่เปิดประมูลขายปิดคลังไปเมื่อ มิ.ย. 67 ยังแข่งกันเสนอราคา 15-19 บาทต่อ กก.

ดังนั้นข้าวสารอายุ 2 ปี จำนวน 18.5 ล้านตัน ถ้าไม่เอาทหารเกณฑ์มาเป็น “เซอร์เวเยอร์” ไม่จัดเกรดข้าว จากข้าวดี ๆ ตีเป็นข้าวเสื่อมสภาพ เพื่อขายเป็นข้าวอาหารสัตว์-เผาเป็นพลังงาน ควรจะขายได้เงินประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ก็นำมาหักลบกับงบประมาณที่ใช้ไป! จะคิดเรื่องขาดทุน-กำไรไม่ได้ แต่การขายถูก ๆ เป็นข้าวอาหารสัตว์ ได้เงินมาเท่าไหร่ มีใครทราบตัวเลขบ้าง?

2 เม.ย. 67 ผู้ประกอบการคลังสินค้าฝากเก็บข้าวสารโครงการรับจำนำข้าว ปี 56/57 กว่า 40 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ “ดีเอสไอ” ให้สอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำเนินการไม่ถูกต้องจากการจัดเกรดข้าว การระบายข้าว ตามคำสั่งของคณะอนุกรรมการระบายข้าวที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เนื่องจาก คสช. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 100 ชุด เป็นตัวแทนจากกระทรวงต่าง ๆ และทหาร แล้วจัดอบรมแค่ 2 วัน จากปกติคนตรวจคุณภาพข้าว คือ เซอร์เวเยอร์ต้องมีใบรับรองจาก “อคส.-อ.ต.ก.” แต่นี่อบรมกัน 2 วัน ส่งมาตรวจคุณภาพข้าว ไปเอา “พลทหาร” มาตรวจคุณภาพข้าวได้อย่างไร?

โครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีคณะทำงานหลายชุด (ฝ่ายปฏิบัติ) จำนวนหลายร้อยคน ทั้งจากกระทรวงพาณิชย์-กระทรวงเกษตรฯ-กระทรวงมหาดไทย ส่วนนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหาร ถือว่าอยู่บนยอดสุดของนโยบาย แต่เมื่อโครงการนี้มีปัญหา ฝ่ายปฏิบัติก็รับผิดชอบกันไปแล้วหลายคน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี “บุญทรง-ภูมิ” และข้าราชการระดับ “อธิบดี” ในกระทรวงพาณิชย์

2 เม.ย. 64 ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหาย เป็นเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท และเพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการยึด อายัดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาด ด้วยเหตุผลที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับดูแลนโยบายโดยทั่วไประดับมหภาคของโครงการ มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

เมื่อมีเบาะแสทุจริต น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการใช้มาตรการทางอาญากับผู้ทุจริตหรือผู้กระทำผิด ควบคู่กับการใช้มาตรการทางปกครองตัดสิทธิผู้สวมสิทธิเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จึงถือได้ว่าอดีตนายกฯ มิได้เพิกเฉยละเลย

ผมปิดต้นฉบับก่อน 22 พ.ค.68 ที่ศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว จึงไม่รู้ว่าผลที่ออกมาจะเป็นบวก! หรือเป็นลบกับอดีตนายกฯ แล้วทำไมจะต้องรับผิดชอบคนเดียว?

แต่เท่าที่รู้! โครงการนี้ใช้งบฯอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง, ข้าว 18.5 ล้านตัน ถูกทำปู้ยี่ปู้ยำก่อนขาย, คนเก็บรักษาข้าวสารจะขอซื้อในราคาแพงกว่า แต่รัฐบาล ม.44 ไม่ยอมขายให้เขา! ที่สำคัญคือคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย เป็นอะไรที่ไม่ปกติในยุครัฐประหาร!!.

………………………………………………
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…