วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล ณ ที่นี้…ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับภาวะที่เรียกว่า“Parental burnout”หรือ “ภาวะพ่อแม่หมดไฟในการเลี้ยงลูก” ที่มีข้อมูลระบุว่าในไทยยุคปัจจุบันพบภาวะนี้บ่อยขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวนี้มาจากบทความโดย จันทมา ช่างสลัก ที่เผยแพร่ไว้ผ่าน เว็บไซต์ istrong.co โดยอธิบายถึง “ภาวะพ่อแม่หมดไฟในการเลี้ยงลูก” ไว้ว่า…ในทางจิตวิทยามีชื่อเรียกว่า “Parental burnout” ซึ่งเป็น ภาวะที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กเกิดความเหนื่อยกับการเลี้ยงลูกเลี้ยงเด็ก ท้อแท้ หมดพลัง หรือดูแลเด็กจนไม่ได้พักผ่อนซึ่งทัศนคติของคนทั่วโลกนั้น หากใครสักคนได้อยู่ในสถานะแม่หรือพ่อก็ย่อมถูกคาดหวังว่าจะต้องเลี้ยงลูกดูแลลูกให้ดี ซึ่งจากทัศนคตินี้นี่เอง…
ที่ “ทำให้พ่อแม่ต้องเผชิญแรงกดดัน”
จาก “ความคาดหวังต้องเลี้ยงลูกให้ดี”
ในบทความดังกล่าวทางผู้เขียนยังแจกแจงเอาไว้อีกว่า… ภาวะพ่อแม่หมดไฟนี้ มักจะเกิดขึ้น หรือ พบได้บ่อยในกลุ่มของพ่อแม่ที่มีลักษณะการเลี้ยงดูลูกแบบทุ่มเทโดยเฉพาะที่ได้รับการยกย่องชมเชยในการเลี้ยงลูก…ก็จะยิ่งทุ่มเทมากขึ้น จนพ่อแม่กลุ่มนี้มักจะ หลงลืมว่าคนเป็นพ่อแม่ก็ต้องการการพักผ่อน หรือไม่ได้เข้มแข็งตลอดเวลา แต่เพราะต้องการทุ่มเท…นั่นก็ยิ่งทำให้พ่อแม่มีความกดดันอย่างมากในการเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะ “พ่อแม่มือใหม่” และ “พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว”
จนอาจ “นำสู่ภาวะพ่อแม่หมดไฟได้”

ขยายความภาวะนี้เกิดจากสาเหตุใด? ในบทความเดิมได้นำ งานวิจัยทางจิตวิทยา โดย วิวรรณา คล้ายคลึง และคณะ ที่ศึกษาภาวะนี้ไว้เมื่อปี 2561 มาใช้อธิบาย “ปัจจัย” ที่ส่งผลให้เกิด “ภาวะพ่อแม่หมดไฟ” ไว้ว่า…อาจมีสาเหตุดังนี้…
“ความเครียดในการเลี้ยงลูก”การที่ใครสักคนต้องรับผิดชอบชีวิตใครคนหนึ่ง ก็ย่อมมีความกดดันอยู่แล้ว ยิ่งต้องรับผิดชอบชีวิต และต้องเลี้ยงดูอบรมทุกอย่างในชีวิตจนเติบใหญ่ จึงเป็นงานที่หนัก แถมเลิกกลางคันก็ไม่ได้ จึงทำให้พ่อแม่รู้สึกเครียด โดยจากการวิจัยพบว่า…ผู้เลี้ยงดูเด็กในช่วงปีแรกนั้นมีความเครียดถึง 87.91% ซ้ำยังเป็น ความเครียดระดับสูง ด้วย
“สถานการณ์การเงินครอบครัว” ภาวะพ่อแม่หมดไฟมีความสัมพันธ์กับสถานะทางการเงินครอบครัว เพราะการเลี้ยงเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ต้องใช้เงินมหาศาล ทำให้พ่อแม่นอกจากจะมีหน้าที่เลี้ยงดูลูกแล้ว ก็ยังต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงลูกด้วย ยิ่งเป็นกรณีพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวก็จะยิ่งหนัก เพราะทั้งไม่มีคนสับเปลี่ยน และต้องทำทั้งสองอย่างไปพร้อม ๆ กัน
“ความเหน็ดเหนื่อยในการเลี้ยงลูก” ในการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความสุขและมีคุณภาพ พ่อแม่ก็จะต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ เวลา และเงิน ในการดูแล ด้วยเหตุนี้จึงเลี่ยงที่จะไปรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกช่วงขวบปีแรก ๆ เนื่องจากเป็นช่วงที่วงจรการหลับการตื่นของเด็กสั้นแค่ 3 ชั่วโมง ทำให้ในช่วงนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงมักจะไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ซึ่งความเหน็ดเหนื่อยในการเลี้ยงลูกนั้น มีความสัมพันธ์กับอาการซึมเศร้า ของพ่อแม่ด้วย
“ปัญหาสุขภาพ” เนื่องจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจและเวลาดูแลลูก ทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่ ลืมที่จะดูแลตนเอง เช่น รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รับประทานอาหารน้อย ออกกำลังกายน้อย นอนไม่เต็มที่ พักผ่อนไม่พอ ซึ่งอาจส่งผลให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ และมีแนวโน้มที่จะยอมให้ตนเองเจ็บป่วยเรื้อรังเพียงเพราะอยากที่จะทุ่มเทในการใช้เวลาเพื่อดูแลลูก หรือหากเจ็บป่วยก็มักจะไม่ยอมไปหาหมอหรือไปรักษา เพราะต้องการที่จะเก็บเงินไว้เลี้ยงลูก จึงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรังได้
“ความสงสัยในคุณค่าของตนเอง” ค่านิยมและทัศนคติที่คาดหวังว่า…พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกให้ดีและมีคุณภาพ ทำให้พ่อแม่จำนวนไม่น้อยมักจะเกิดความสงสัยในคุณค่าของตนอยู่เสมอ เพราะมักมีสิ่งท้าทายความเชื่อมั่นในตนเองอยู่ตลอด เช่น เวลาลูกป่วย ลูกบาดเจ็บ หรือในเวลาที่ลูกถูกเปรียบเทียบในเชิงพฤติกรรมหรือผลการเรียนกับลูกคนอื่น ๆ ซึ่งโดยธรรมชาติของพ่อแม่ทุกคนนั้นมักจะมีแนวโน้มที่จะ โทษตนเองอยู่เสมอ และความรู้สึกผิดนี้เองที่ไปลดทอนคุณค่าของพ่อแม่ลงโดยไม่รู้ตัว
“ไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว” โดยปกติแล้วพ่อแม่ทุกคนต่างต้องการจะเลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง แต่ก็มีบางช่วงเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือบ้าง ทำให้พ่อแม่หวังพึ่งพิงคนในครอบครัวที่ไว้ใจที่สุดให้ดูแลลูกให้ แต่ถ้าหากพ่อแม่ ได้รับการปฏิเสธจากครอบครัว ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดพุ่งสูง และแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธตามมา ซึ่งการไม่ได้รับการช่วยเหลือจากครอบครัวในด้านใดด้านหนึ่งนั้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญทำให้คนเป็นพ่อแม่เกิด “ภาวะหมดไฟในการเลี้ยงลูก” ได้
อย่างไรก็ดี ในบทความโดย จันทมา ช่างสลัก ได้ให้ “คำแนะนำเพื่อฟื้นพลังพ่อแม่”ไว้ว่า…ทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้คือ… 1.ยอมรับข้อจำกัดตัวเอง, 2.ขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจ, 3.หาเวลาเติมความสุขให้ตัวเองบ้าง, 4.ดูแลตัวเองให้ดี, 5.ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ…นี่เป็นวิธีเติมพลังพ่อแม่ ทั้งนี้ หากพ่อแม่คนใดเริ่มรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกทำให้ความสุขชีวิตลดลง หรือเห็นลูกแล้วไม่มีความสุข ก็ให้สงสัยว่าอาจกำลังเผชิญ “Parental burnout”หรือ “ภาวะหมดไฟเลี้ยงลูก”
ย้ำว่า “ภาวะนี้เริ่มพบมากในคนไทย”
ภาวะนี้ “คนเป็นพ่อแม่ก็ต้องเท่าทัน”
และ “คนใกล้ชิดช่วยได้ช่วยด้วยก็ดี”.
ทีมสกู๊ปเดลินิวส์