ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีกระแสชวนประหลาดใจ เป็นกรณีหญิงสาวรายหนึ่งโพสต์ภาพ “เหล็กตะขอที่พบในคอ” หลังเจ้าตัวมีอาการเจ็บคอ แต่เบื้องต้นแพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุ จนเมื่อนำตัวไปเอกซ์เรย์ก็ทำให้หลายคนตกตะลึง เมื่อปรากฏ “วัตถุปริศนาลึกลับ” ในภาพเอกซ์เรย์ ตามมาด้วยการเกิดกระแสร่ำลือถึงเหตุการณ์นี้ ว่าเป็นเหตุที่ เกี่ยวโยงกับไสยศาสตร์??

สำหรับกระแสร่ำลือดังกล่าวข้างต้น ก็ว่ากันไปตามแต่วิจารณญาณและความเชื่อส่วนตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “ไสยศาสตร์”โดยเฉพาะไสยศาสตร์ที่เชื่อกันว่าเป็นตำรับประเทศติดไทยที่กรณีพิพาทเขตแดนเกิดความตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง กรณีนี้ก็มี “มุมวิชาการ”ที่น่าสนใจ ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลจากบทวิเคราะห์ที่มีการเผยแพร่ไว้ผ่านทาง วารสารดำรงวิชาการ ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2547โดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นหนึ่งในบทวิเคราะห์น่าสนใจ ที่จัดทำไว้โดย กังวล คัชชิมา ในฐานะอาจารย์ประจำ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้มีการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในเรื่องนี้ไว้ เพื่อ “ทำความเข้าใจเกี่ยวกับไสยศาสตร์”

ในมุม “ความรู้ความเชื่อ” ที่น่าสนใจ

ทางอาจารย์ท่านดังกล่าวระบุไว้ในบทความบทวิเคราะห์ว่า… ไสยศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งความลึกลับ” ที่คนทั่วไปให้ความสนใจ และเชื่อถือตามฐานานุรูปที่แต่ละคนได้มีประสบการณ์ หรือสัมผัสมา ซึ่งหากพิจารณาตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2542 ได้ให้ความหมาย “ไสยศาสตร์” เอาไว้ว่าหมายถึง “ลัทธิอันเนื่องด้วยเวทมนตร์ คาถา”ซึ่งเชื่อว่าได้มาจากพราหมณ์ ในขณะที่ตาม พจนานุกรม ฉบับพุทธศาสนาบัณฑิตย์ นั้น ได้ระบุถึงคำว่า “ไสยศาสตร์” ไว้ว่า… ที่มา” ของคำว่า “ไสย” ในคำว่า “ไสยศาสตร์” นั้น มีที่มาหลากหลาย แต่เท่าที่ประมวลได้จะ มี 3 นัย ด้วยกัน กล่าวคือ…

นัยแรกมาจากภาษาบาลีคำว่า “เสยุย” ที่แปลว่า “ดีกว่า ประเสริฐกว่า” ฉะนั้น “ไสยศาสตร์” จึงถูกแปลว่า “ความรู้ที่ประเสริฐกว่าความรู้ที่ดีกว่า” โดยที่คนโบราณมีการใช้ความรู้นี้เป็นกำลังใจในการต่อสู่กับภยันตราย เช่น เวลามีการรบราฆ่าฟันกัน หรือเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ส่วน นัยที่สองก็มาจากภาษาบาลีคำว่า “เสยุย” หรือ “เสยุยา” ที่หมายถึง “การหลับการนอน” จึงแปลไสยศาสตร์ว่าหมายถึง “ศาสตร์แห่งการหลับใหล”หรือ “ศาสตร์ของผู้หลับ” ขณะที่ นัยที่สาม มาจากคำว่า “ไศว” ซึ่งหมายถึง “พระศิวะ” เพราะ เชื่อว่าไสยศาสตร์มีต้นเค้ามาจากคัมภีร์อาถรรพเวทในศาสนาพราหมณ์

นี่เป็น “3 นัย” คำว่า “ไสยศาสตร์”

ทั้งนี้ ในบทความบทวิเคราะห์มีการระบุไว้อีกว่า… สังคมไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์อยู่เป็นจำนวนมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังปรากฏในวรรณคดี สมุดข่อย คัมภีร์ใบลาน และจากการสืบทอดกันในสำนักต่าง ๆ ซึ่งเมื่อพูดถึงไสยศาสตร์ หรือคาถาอาคม คนส่วนมากก็มักจะนึกถึง “ไสยศาสตร์เขมร” ที่มักมีความเชื่อว่า… ขลัง?” กว่าไสยศาสตร์ทั่วไป อย่างไรก็ตาม แต่การศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์พบจุดน่าสนใจว่า… ตัวคาถาอาคมมักไม่ค่อยปรากฏที่เป็นภาษาสันสกฤต แต่มักพบเป็นภาษาบาลี ยกเว้นคำว่า “โอม” ที่มักเป็น “คำเริ่มต้นของคาถา” อีกทั้งในเขมรโบราณก็ไม่ปรากฏจารึกที่กล่าวถึงเรื่องไสยศาสตร์ไว้โดยตรง แต่จะพบจากการกล่าวถึงในลักษณะอื่น ๆ …เป็นเกร็ดความรู้ที่ระบุอยู่ในบทความนี้

รวมถึง… การใช้“ไสยศาสตร์” ในกลุ่มคนเขมรนั้น จากการศึกษาค้นคว้าก็พบว่า…มีการใช้ในทุกลำดับชั้นฐานะทางสังคม อีกทั้งมีการใช้ในหลากหลายรูปแบบมาก โดยที่พอจะจำแนกได้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้คือ…

กลุ่มแรก…ไสยศาสตร์เพื่อการรักษา”หรือมักเรียกว่า “ไสยขาว” เพราะเป็นประโยชน์ต่อผู้คน และ ส่วนมากจะเป็นการใช้วิชามนตร์ คาถา อาคม ร่วมกับการใช้สมุนไพรต่าง ๆ ในการรักษาโรค ซึ่งคนเขมรส่วนใหญ่เชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นด้วย 3 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ 1.เป็นโรคแท้จริง เช่น ไข้จับสั่น ไข้หวัด ฝีดาษ อีสุกอีใส 2.โรคที่เกิดจากคนทำของ เช่น ปอบสิง ถูกปล่อยของเข้าตัว ถูกทำร้ายด้วยไสยศาสตร์ 3.โรคที่เกิดจากภูตผีปิศาจ เช่น ทำให้บ้า เสียสติ ปวดท้อง จุกเสียด ร้อนรุ่ม

กลุ่มที่สอง… ไสยศาสตร์เพื่อการป้องกัน” ที่มักจะใช้ในการป้องกันภยันตรายต่าง ๆเช่น อันตรายจากภูติผีปิศาจ จากโจรผู้ร้าย จากศัตรู โดย มักใช้ในรูปแบบของคาถาอาคมเพื่อความคงกระพันชาตรี ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า หรือมีการใช้ร่วมกับตะกรุด ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ การสักยันต์ เป็นต้น รวมถึงอาจมีการใช้ว่านหรือสัตว์บางชนิดมาประกอบร่วมด้วย

กลุ่มที่สาม… ไสยศาสตร์เพื่อการทำลาย”หรือที่มักจะเรียกว่า “ไสยดำมนตร์ดำ” เพราะมีความชั่วร้ายแฝงอยู่ และ ใช้เพื่อให้คนอื่นได้รับทุกข์ทรมาน จนอาจถึงแก่ชีวิตได้ เช่น เสกหนังวัวหนังควายเข้าท้อง เป็นต้น

…เหล่านี้เป็นโดยสังเขป ว่าด้วยข้อมูล “ความเชื่อ” เรื่อง “ไสยศาสตร์ไสยศาสตร์เขมร” ที่ยุคนี้ก็ยังมีกระแสเป็นระยะ ทั้งนี้ ในช่วงท้ายบทความบทวิเคราะห์ทางวิชาการโดยอาจารย์ กังวล คัชชิมา ซึ่งติดตามศึกษาเรื่องนี้ ได้ระบุไว้ด้วยว่า… การเขียนเรื่องนี้มิได้เป็นไปเพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้ลุ่มหลง แต่เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อนี้

ความเชื่อไสยศาสตร์” ยุค AI ก็ยังอยู่

ทั้ง 3 กลุ่ม” นั้น “ยังเชื่อกันไม่น้อย”

และยุคนี้ก็บ่อย ๆ…“สนั่นโซเชียล!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์