เมื่อโลก “ออนไลน์” เข้ามามีบทบาทในสังคมปัจจุบัน ทำให้ทุกคนใกล้ชิดติดจอกันเพียงปลายนิ้วสัมผัส การมีเรื่องราวเด่นดัง หรือประเด็นสังคมต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น และหายไปรวดเร็ว เมื่ออาชีพคนดัง คนมีชื่อเสียงไม่ได้กำหนดในโลกของละคร ภาพยนตร์ วงการบันเทิงในรูปแบบต่าง ๆ เหมือนในยุคอดีต แต่ได้ขยายวงกว้างไปสู่คนทั่วไปที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ หรือมีความชื่นชอบในสารพัดเรื่อง มาแชร์เรื่องราว โพสต์คลิปวิดีโอ โพสต์เรื่องราวโลกออนไลน์ในสารพัดช่องทาง จึงทำให้ปัจจุบันเกิดเป็นอาชีพใหม่ทางเลือกของคนยุคใหม่ที่รักอิสระขึ้นมากมาย ทั้ง ยูทูบเบอร์ บิวตี้บล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ทำเพจเฟซบุ๊ก เขียนบทความออนไลน์ และขายสินค้าออนไลน์ จนสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ทีม “เศรษฐกิจเดลินิวส์” ได้นำเรื่องราวบางส่วนของบุคคลที่มีอาชีพเหล่านี้ มาเปิดเผยประสบการณ์การทำงาน รวมถึงวิธีหารายได้ว่าต้องทำอย่างไร? ให้ดังให้ปัง จนประสบความสำเร็จจากการใช้สื่อ “ออนไลน์”

อดทนแล้วปรับแก้ปัญหา

“สมาย-นภัสวรรณ โชติการ” เจ้าของแบรนด์คอนแทคเลนส์นำเข้า “มิสเลนส์” อีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากจากการเห็นช่องว่างในการขายคอนแทคเลนส์ในเชียงใหม่เมื่อหลายปีก่อนช่วงที่ยังเป็นนักศึกษา หลังจากที่กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ทำให้อพยพกลับไปเชียงใหม่ชั่วคราว และช่วงนั้นคอนแทคเลนส์ในกรุงเทพฯ กำลังเป็นที่นิยมมาก ขายราคาไม่แพง 100-200 บาท ขณะที่ตลาดเชียงใหม่ช่วงนั้นมีการขายที่ราคา 300-400 บาท และคู่แข่งยังน้อย ทำให้เห็นโอกาสในการเข้าไปทำตลาด

ช่วงแรกได้นำเงินที่ได้จากการรับงานถ่ายโฆษณาไปลงทุนเปิดเป็นแผงเล็กหน้ามหาวิทยาลัย ในราคานักศึกษาซึ่งได้การตอบรับดีมาก ซึ่งช่วง 4 ปีแรกเป็นการขายคอนแทคเลนส์แบบซื้อมาขายไป และขยายสาขาเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันมี 14 สาขา ทั้งเชียงใหม่ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม และโคราช

หลังจากนั้นได้เริ่มนำเข้าสินค้าคุณภาพเกรดพรีเมียมจากประเทศเกาหลี พร้อมกับเริ่มทำการตลาดขายผ่านออนไลน์ตั้งแต่ช่วง 7 ปี ก่อน แล้วมาเริ่มขายจริงจังในช่องทางดังกล่าวเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งในไลน์แอด เพจเฟซบุ๊ก ซึ่งถือเป็นช่องทางที่หลากหลายและสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงในช่วงเกิดวิกฤติโควิดตั้งแต่ปี 63 ได้ดีเลยทีเดียว เพราะขายง่ายกว่าหน้าร้านพลิกจากขาดทุนในช่วงลูกค้าจากหน้าร้านลดลงมาเป็นกำไร และที่สำคัญยังมียอดขายโตขึ้นเป็น 100% จากหลักแสนขึ้นสู่หลักล้าน โดยส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การขายประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ การตลาด เพราะสินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งวงการดารา ช่างแต่งหน้า อินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเกิดจากการบอกต่อและการรีวิวสินค้าทั้งที่จ้างและช่วยรีวิวให้ด้วยใจ

“แต่การทำงานทุก ๆ งาน ทุก ๆ อาชีพย่อมต้องมีอุปสรรค อย่างเช่น ช่วงเกิดโควิดหนัก ๆ จนสายการบินต้องหยุดบินชั่วคราวเมื่อปี 63 นั้น ก็ส่งผลกระทบกับการขายคอนแทคเลนส์ด้วยเช่นกัน เพราะไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศเกาหลีมาขายได้ ทำให้ต้องอดทนและพยายามปรับแก้ปัญหาต่าง ๆ จนในที่สุดก็ก้าวผ่านช่วงนั้นมาได้ ที่สำคัญหากเราตั้งใจและลงมือทำอะไรแล้วประสบการณ์จะช่วยสอนเราเอง และไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด อย่างตัว “สมาย” เอง ก็เริ่มเป็นแม่ค้าตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยจนกระทั่งเรียนจบก็รู้ตัวได้ทันทีว่าจะไม่ทำงานบริษัท และจะขายคอนแทคเลนส์อย่างเต็มตัว จนเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้ถึงวันนี้”

สร้างคอนเทนท์ตลกปนสาระ

“จักรพงษ์ พุ่มไพจิตร” เจ้าของเพจเฟชบุ๊ก “ท็อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอม” เพจสอนการใช้อุปกรณ์ไอทีและปัญหาต่าง ๆ ปัจจุบันมีผู้ติดตามถึง 3.4 แสนคน เล่าว่า หลังจากเรียนจบได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ไอทีของบริษัทเอกชน จากนั้นจับได้ใบแดงจนต้องลาออกไปเป็นทหาร แล้วก็มาทำงานเอเจนซี่ด้านโฆษณาเพื่อสั่งสมประสบการณ์ การสร้างคอนเทนต์ และการที่เป็นคนตลกชอบโพสต์ข้อมูลการใช้งานอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ สอดแทรกมุกตลกไปด้วยจนมีเพื่อนแซวให้เปิดเพจเฟชบุ๊ก

ด้วยเหตุนี้…จึงเริ่มต้นลองผิดลองถูก ในช่วงแรกสอนวิธีการใช้งานอุปกรณ์ไอทีพร้อมสอดแทรกคำคม มุกตลก 3-4 เดือน แล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวตนของตนเอง จึงเปลี่ยนวิธีมาถ่ายทอดข้อมูลด้วยการ “บ่น” เป็นตัวแทนของคนทั่วไปที่นำประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานทั่วไปออกมาบ่นเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้คนในวงกว้างได้รับฟัง ซึ่งเริ่มจับทิศทางสร้างคอนเทนต์เพื่อให้โดนใจแฟนเพจและมีการแชร์บอกต่อ จนในที่สุดเริ่มจับทางถูกโดยนำปัญหาการใช้งานอุปกรณ์ไอทีง่าย ๆ สาระเบา ๆ มาถ่ายทอดข้อมูล เช่น ปัญหาโลกแตกของการเปิดคอมพ์ไม่ติด เพราะที่แท้ลืมเสียบปลั๊กการแนะนำการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เลือกใช้ปลั๊กไฟต้องเป็นปลั๊กคุณภาพ รวมถึงข้อมูล Antivirus

ในที่สุด…ก็มีผู้ติดตามเยอะขึ้น แต่เท่านั้นยังไม่พอได้เริ่มสร้างตัวตนจากการ “แต่งหญิงใส่ชุดนักเรียนญี่ปุ่น” ออกมาเปิดหน้าถ่ายเป็นคลิปวิดีโอให้ข้อมูลสาระต่าง ๆ แก่ผู้ติดตาม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวที่คนจดจำง่าย และเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น โดยการทำเพจไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะใช่ว่าคนติดตามเยอะแล้วจะมีรายได้ทันที แต่ต้องใช้ความพยายามและความอดทนอย่างมาก ที่สำคัญต้องมีความสม่ำเสมอในการอัพเดทข้อมูล สร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง จนผ่านมาถึงปีที่ 4 เริ่มมีคนติดต่อจ้างงานและสร้างรายได้ขึ้นครั้งแรกจากช่องทางออนไลน์

ปัจจุบันเปิดเพจมาแล้ว 7 ปี ซึ่งได้รับการตอบรับทั้งจากแฟนเพจและมีรายได้จากบริษัทที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์เพจ จ้างงานรีวิวสินค้า ไทอินสินค้า และจ้างให้ไปไลฟ์สด อัดคลิปวิดีโอ มาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงยังได้สตรีมมิ่งเกมหรือเล่นเกมสดออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงแฟนเพจ คอยพูดคุย ตอบทุกปัญหาข้อสงสัยในการใช้งานอุปกรณ์ไอทีกับลูกเพจอย่างใกล้ชิดแบบสด ๆ แม้ปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาจ้างงานให้โพสต์โน่นโพสต์นี่แล้ว แต่ “ท็อฟฟี่” บอกว่า ข้อสำคัญที่จะให้แฟนเพจรักและติดตามเราไปตลอดนั้นต้องอย่าทิ้งจุดยืนของตัวเองในการสร้างคอนเทนต์ใหม่ไปพร้อม ๆ กันด้วย อีกทั้งการรีวิวสินค้าที่ดีต้องไม่พูดเฉพาะข้อดีมากจนเกินไป ต้องให้ข้อมูลสินค้าที่เป็นจริงทั้งข้อดีและจุดอ่อนในการใช้งาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของแฟนเพจด้วย

ขายความฟรุ้งฟริ้งน่ารักสดใส

“ไอซ์-ภาวิดา ชิตเดชะ” หรือ “ไอซ์พาดี้” บิวตี้บล็อกเกอร์สาวสวยสดใส ที่มีผู้ติดตามผ่านเพจเฟซบุ๊ก icepadie กว่า 5 แสนคน ในยูทูบกว่า 8 แสนคน ซึ่งมีรายได้หลักล้านทุกเดือน ได้เล่าถึงเรื่องราวความสำเร็จและวิธีการหาเงินผ่านช่องยูทูบของตนเองว่า ได้เริ่มเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เอกการแสดง ซึ่งเริ่มแต่งหน้าเป็น จากนั้นเริ่มต้นการเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์จนถึงปัจจุบันประมาณ 7 ปี โดยใช้เอกลักษณ์และสไตล์เฉพาะตัวจากการเป็นคนสดใส ร่าเริง แต่งตัวสีสันสดใส พาสเทล ช่างพูดช่างเจรจา ผสมเข้ากับความฮา ทำให้คนฟังเพลิดเพลินไปกับการรีวิวสินค้าจนกลายเป็นที่รู้จักและมีแบรนด์สินค้ามาจ้างงานและเกิดเป็นรายได้ในที่สุด

ปัจจุบันเป็นทั้งบิวตี้บล็อกเกอร์ บิวตี้อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ และยังได้ต่อยอดไปเป็นธุรกิจอื่น ๆ ที่งอกเงยไปตามกาลเวลา การสร้างแบรนด์ แฮปปี้ซันเดย์ จำหน่ายเครื่องสำอาง สินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีสีสันน่ารักสดใส, ไฮซ์ครีมโปรดักชั่น รับเป็นที่ปรึกษา ช่วยดูแลด้านคอนเทนต์สำหรับผู้ที่อยากเปิดช่องยูทูบ โดยใช้ประสบการณ์และอุปสรรคในการทำช่องยูทูบที่ผ่านมาสอนให้กับผู้ที่สนใจ ช่วยให้การเปิดช่องยูทูบง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันช่วยดูแลให้กับดาราไทยหลายคน และยังมีสื่อออนไลน์ชื่อ คุณนาย สำหรับนำเสนอคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิง ทั้งการทำงาน ชีวิต ไลฟ์สไตล์ แม่ลูก แนวเพื่อนสาว สมาคมแม่บ้าน สำหรับเมาท์มอยในทุกช่องทาง และในอนาคตอาจมีธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น

สำหรับการขายสินค้าเครื่องสำอางแบรนด์ตนเองในออนไลน์นั้น “ไอซ์” บอกว่า ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าแบบไม่ทันตั้งตัวจนบริหารสต๊อกได้ยากมาก จึงได้แก้ปัญหาด้วยการเปิดช่องทางขายผ่านไลน์ชอปปิงโดยเปิดให้ลูกค้าพรีออร์เดอร์เพื่อดูความต้องการของลูกค้าและสามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอ ซึ่งช่องทางนี้ถือว่าสะดวก ปลอดภัย และง่ายมากสำหรับผู้ประกอบการยุคนี้ และยังมีบรอดแคสต์ข้อความที่สามารถส่งหาสมาชิกแจ้งข่าวสาร สินค้าใหม่หรือโปรโมชั่นต่าง ๆ ได้ด้วย

“ในธุรกิจทั้งหมดของที่ทำมานั้น ธุรกิจขายของออนไลน์เติบโตพุ่งแรงแซงทุกโค้ง และเป็นยุคสมัยของการขายออนไลน์อย่างแท้จริง ที่สำคัญต้องขอบคุณตัวเองที่สร้างแบรนด์ในวันนั้นทำให้มีวันนี้ แต่ก็อยากย้ำเตือนผู้ประกอบการรายใหม่ว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาก่อนลงทุน เพราะที่ผ่านมากว่าไอซ์จะประสบความสำเร็จมันไม่ได้ง่าย ต้องผ่านเส้นทางยากลำบากมาเยอะ เพราะมีบางช่วงที่แอบคิดว่าจะล้มละลายรึเปล่า แต่ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันไป”

เอาตัวรอดด้วยความหลากหลาย

“ชมพู่-รดาดาว แก้วละเอียด” พริตตี้ เอ็มซี นางแบบ และในอีกบทบาทของการเป็นบล็อกเกอร์รีวิวสินค้า เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันได้รับรีวิวสินค้าของแบรนด์ต่าง ๆ ทั้งประเภทเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก คอลลาเจน ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 5-6 ที่ช่วยสร้างรายได้ ไปพร้อม ๆ กับการทำงานที่หลากหลายเป็นพริตตี้ เอ็มซี นางแบบ

โดยช่วงแรกเริ่มต้นจากการเป็นพริตตี้ตั้งแต่เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ก็ทำงานหาเงินไปพร้อม ๆ กับการเรียน จนกระทั่งเรียนจบก็เข้าสู่วงการพริตตี้อย่างเต็มตัว และไม่เคยนั่งทำงานออฟฟิศของบริษัทไหนมาก่อน เนื่องจากมองว่าพริตตี้เป็นอาชีพอิสระมากกว่า สามารถจำกัดความเหนื่อยได้เอง อยากพัก อยากรับงาน รับน้อย รับมากขึ้นอยู่กับตัวเราเอง และที่สำคัญเป็นงานที่ไม่จำเจ

“แม้ข้อเสียของอาชีพนี้ใคร ๆ จะมองว่า ไม่มั่นคง แต่หลังจากในช่วงที่เรียนได้มีโอกาสเข้าไปฝึกงานในบริษัทแห่งหนึ่งแล้ว และทำให้รู้ได้ทันทีเลยว่าไม่ใช่ตัวตนของเรา”

แต่เมื่อมองในอีกมุม เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาทำให้พบว่า ไม่มีงานไหนที่มั่นคงเพราะขนาดทำงานสายการบิน อย่างน้องสาวซึ่งถูกพ่อแม่นำมาเปรียบเทียบกับตนตลอดในช่วงที่ผ่านมาก็ยังถูกเลิกจ้าง แต่สำหรับ “รดาดาว” ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เพราะยังสามารถรับงานได้หลากหลายผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งไลฟ์สดขายสินค้า รีวิวสินค้า สร้างคอนเทนต์ถ่ายรายการในช่องยูทูบจากการจ้างของแบรนด์สินค้าที่เริ่มทำตลาดในช่องทางใหม่ ๆ

การใช้หน้าตา ความสวย เพื่ออาศัยเส้นทางอาชีพพริตตี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีความสามารถที่หลากหลายเพื่อความอยู่รอด ซึ่งความสามารถในด้านงานพิธีกร เอ็มซี นางแบบ ทำให้มีชื่อเสียงและเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการมากขึ้น ช่วยสร้างโอกาสในการรับงานใหม่ ๆ มีแบรนด์สินค้าสนใจเข้ามาติดต่อจ้างงาน จึงทำให้พบว่าแม้ในยามวิกฤติที่หลายคนไม่มีงาน แต่ตนเองยังสามารถไปต่อได้ ฉะนั้น การแสดงความสามารถที่หลากหลาย พร้อมกับสร้างตัวตนจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ ถือว่าจำเป็นมากในยุคนี้ เพราะในการรับสมัครงานเดี๋ยวแม้กระทั่งงานประจำของบางบริษัทมักจะเข้าไปส่องหาข้อมูลตัวเราก่อน ทำให้การสร้างตัวตนในออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญมาก

อะไรที่เป็นตัวเราเลียนเเบบไม่ได้

อนุชิต คำน้อย” หรือ “ปั้ม” เจ้าของเพจ “คิ้วต่ำ” คำคมโดนใจ ที่มีผู้ติดตาม 2.7 ล้านคน ได้เท้าความให้ฟังว่า จากความชอบส่วนตัวในการวาดรูปทำให้เกิดเป็นไอเดียในการเริ่มต้นเปิดเพจคิ้วต่ำเมื่อประมาณ 8-9 ปีที่แล้ว ด้วยการวาดตัวการ์ตูนที่เป็นมีเอกลักษณ์ ลักษณะหน้าคล้ายกับตนเองในท่าทางต่าง ๆ พร้อมกับใส่ข้อความโดน ๆ ของวัยรุ่น คนทำงาน หรือข้อความ คำที่เป็นกระแสผสมผสานเข้าไปตั้งแต่ในยุคแรก ๆ ของการใช้เพจทำธุรกิจและเฟซบุ๊กยังไม่ปิดกั้นการมองเห็น จนจับพลัดจับผลูมีคนสนใจและแชร์ข้อความต่อ ๆ กันและเข้ามาติดตามเป็นจำนวนมาก

“ในช่วงนั้นเลือกเปิดเพจในการทำธุรกิจเพราะมองว่าง่ายกว่าการเปิดเว็บไซต์ เพียงแค่มีเฟซบุ๊กก็สามารถเปิดเพจได้และข้อมูลการใช้งานต่าง ๆ ก็เหมือนกับการเล่นเฟซบุ๊กทุกอย่าง ตอนนั้นเพจโตเร็วมาก คู่แข่งยังน้อย ผ่านไป 4-5 ปี ก็ผู้ติดตามประมาณ 1.8 ล้านคน และทำให้มีรายได้ต่อเนื่องจากแบรนด์จ้างไทอินสินค้าหรือโฆษณาแฝงไปกับคำคมที่เขียนออกมาเล่าเรื่องในเพจ หรือนำรูปภาพสินค้ามาวาดตัวการ์ตูนคิ้วต่ำเข้าไปผสมผสาน หรือเขียนข้อความแคมเปญโปรโมชั่นของสินค้าแต่ละแบรนด์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่รับการติดต่อและเจรจาค่าโฆษณาผ่านเอเจนซี่ที่มีมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน”

สำหรับส่วนตัวคิดว่าการเปิดเพจในลักษณะดังกล่าวสามารถประกอบเป็นอาชีพได้จริง เพราะการมีแฟนเพจติดตามเยอะและได้รับความสนใจอย่างมากก็เปรียบเสมือนผู้ทรงอิทธิพล จากคำคมยังช่วยให้เราต่อยอดไปสู่นักออกแบบแบรนด์สินค้าได้อีก จนช่วงที่ผ่านมา “ปั้ม” ได้กลายเป็นอาจารย์พิเศษประจำวิชาครีเอทีฟของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจากผลกระทบโควิดที่สถาบันการศึกษามีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ ทำให้ปัจจุบันได้ต่อยอดเปิดคอร์สสอนวาดรูปและการทำคอนเทนต์ให้กับผู้ที่สนใจด้วย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการรู้จักใช้เทคโนโลยี สื่อออนไลน์ในช่องทางต่าง ๆ ยุคนี้ ถือเป็นโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ที่คิดหาสิ่งใหม่ ๆ มาช่วยสร้างอาชีพ จนบางคนสามารถตั้งตัวขึ้นมาได้โดยไม่ต้องวิ่งวุ่นทำงานในบริษัทตอกบัตรเช้า ตอกบัตรเย็นและมีความอิสระในตัวเอง เพียงแค่ทำตลาด สร้างงาน สร้างคอนเทนต์บนหน้าจอเพื่อเสิร์ฟลูกค้า ฉะนั้นใครอยากขาย อยากพรีเซนต์งานอะไรในโลกโซเชียลก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะสิ่งแปลกใหม่ไม่เหมือนใครจะยิ่งสร้างรายได้ได้ดี

สุดท้าย “ปั้ม” แนะว่า สำหรับคนที่อยากทำธุรกิจในลักษณะนี้ สิ่งสำคัญที่สุดต้องค้นหาตัวตน สิ่งที่ชอบให้เจอก่อน ต้องค้นดูว่าชอบอะไร เช่น ชอบถ่ายรูป ชอบเขียน ชอบวาดรูป ก่อนที่จะเริ่มเปิดเพจลงมือทำโดยใช้ความถนัด สิ่งที่เป็นตัวตนของเราในการขายงาน สร้างคอนเทนต์การตลาดเพื่อให้เพจเป็นที่รู้จัก และที่สำคัญต้องใช้ความอดทนสูง ต้องลองผิดลองถูกให้เยอะจนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่ เพราะอะไรที่เป็นตัวตนของเราเองก็จะไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้

ทั้งหมดทั้งมวลทำให้เห็นว่าการเข้าสู่วงการ อาชีพ ที่ใช้สื่อออนไลน์นั้นใคร ๆ ก็เข้ามาได้แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่มีชื่อเสียง และทำเงินได้ทันที แต่ต้องใช้ความอดทนสูง ที่สำคัญ!! ต้องรู้ใจตนเองว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองและสร้างสรรค์ผลงานด้วยใจรักที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้!!