ขึ้นชื่อว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ยิ่งในช่วงเดือนเมษายนเช่นนี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนแรงแข่งกับแสงอาทิตย์เช่นนี้ ซึ่งภายใต้สภาพอากาศร้อนอบอ้าวนั้น ทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ และอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพตามมา ฉะนั้นไปดูวิธีการเตรียมความพร้อมร่างกายกันดีกว่า

โดย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ในพื้นที่กลางแจ้ง อากาศร้อน อาจทำให้เสียเหงื่อมาก จึงควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8-10 แก้วหรือมากกว่า เลือกกินอาหารที่สุกสะอาดเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้ “ร่างกายขาดน้ำ”

สำหรับวิธีดูแลตัวเองก่อนออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ก็ควรนอนหลับให้สนิทให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 ชม. นอกจากนี้เพื่อป้องกันความร้อนและแสงแดด ควรสวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี สวมหมวกหรือกางร่มเพื่อป้องกันแดด รวมถึงการใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไปก่อนออกจากบ้าน

“อย่างไรก็ตามกลุ่มเสี่ยงมากกว่าบุคคลทั่วไป ได้แก่ สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ควรมีผู้ดูแลร่วมเดินทางด้วย เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดและป้องกันอุบัติเหตุหากมีอาการหน้ามืด วิงเวียน หรือเป็นลมเมื่อเจออากาศที่ร้อนจัด”

แต่หากพบผู้ที่มีอาการตัวร้อนจัด เหงื่อไม่ออก ผิวหนังแดงและแห้ง สับสนมึนงง อาจเสี่ยงเป็น “โรคลมร้อน” หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “โรคฮีตสโตรก” ซึ่งสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยการนำเข้าที่ร่ม ในรถหรือห้องที่มีความเย็น ถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ขาหนีบ และศีรษะ จากนั้นรีบนำส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด…

…………………………..
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”