สังคมเวลานี้กำลังมีความรู้สึกในทางเดียวกัน คือไม่พอใจกับการบังคับการใช้รถใช้ถนนในประเทศไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ “หมอกระต่าย” ประสบอุบัติเหตุถูกรถบิ๊กไบค์ชนบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย บริเวณถนนพญาไท ยิ่งย้ำเตือนว่าคนใช้รถใช้ถนนในประเทศไทยไม่ตระหนักและอารีกับคนเดินข้ามถนน ซึ่งต่างกับประเทศที่เจริญแล้วเมื่อเห็นคนยืนรอเดินข้ามถนน รถยนต์จะหยุดและชะลอให้โดยอัตโนมัติเป็นมารยาทการขับขี่ที่เป็นสากล

ทุกครั้งที่มีข่าวความสูญเสียที่สังคมให้ความสนใจ ผู้นำและหน่วยงานกำกับจะทำงานเข้มข้นขึ้น ระยะหนึ่งเรื่องก็เงียบไป ขาดการแก้ไขอย่างจริงจัง และหลายครั้งของความสูญเสียก็สรุปสั้น ๆ เพียงความประมาท เลินเล่อ ขาดจิตสำนึก หรือด่วนสรุปเพียงคนขี่หรือคนเดินข้ามประมาทนพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัด การศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สนับ สนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ่ยถึงความจริงในประเทศเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน กรณีอุบัติเหตุของคุณหมอกระต่ายไม่ใช่ครั้งแรกในประเทศไทยที่มีคนถูกรถชนตรงทางม้าลาย

เราจะถอดบทเรียนอุบัติเหตุครั้งนี้อย่างไร เมื่อสืบสวนอุบัติเหตุแบบวิชาการเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศ ไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์นี้ ย้อนไปถึงระเบียบการสอบใบอนุญาตขับขี่ ประเทศ ไทยขาดการอบรมทักษะคาดการณ์ความเสี่ยง หรือการคาดการณ์อุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น กรณีของหมอกระต่ายเมื่อผู้ขับขี่ขับ  มาเห็นทางม้าลาย เห็นรถด้านซ้ายชะลอตัวลงเตรียมตัวที่จะจอด ดังนั้นคนขับต้องคาดการณ์ให้ได้ว่ากำลังมีความเสี่ยงว่ารถข้าง ๆ ต้องมีคนข้ามถนนมาแน่นอน ไม่เช่นนั้นรถข้าง ๆ คงไม่ชะลอ ซึ่งในประเทศไทยผู้ขับขี่ไม่มีทักษะเหล่านี้คือคิดจะขับรถมองทางตรงอย่างเดียว ไม่มีการคาดการณ์สิ่งแวดล้อมด้านข้าง แต่ญี่ปุ่นนำทักษะเหล่านี้อบรมใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งเครื่องจำลองการขับขี่เสมือนจริง หรือซิมูเลชั่น มีกรณีลักษณะอุบัติเหตุกับที่เกิดกับหมอกระต่ายไว้ ซึ่งถือเป็นเคสคลาสสิกจะต้องมีให้คำแนะนำเมื่อมีจุดสังเกตข้างซ้าย แม้รถเราจะอยู่เลนขวาต้องชะลอความเร็วไว้ก่อน เช่นเดียวกับกรณีที่เห็นรถด้านซ้ายจอดแม้ไม่ใช่ทางม้าลาย คนขับขี่ต้องเข้าใจว่าจะมีคนเดินข้ามถนนออกมาจากด้านซ้าย

เมื่อรวบรวมสถิติคนไทยข้ามถนนเสียชีวิตเฉพาะที่เป็นข่าวที่ลงในสำนักข่าวออนไลน์ระหว่างปี 2560-2565 แยกเป็นรถชนคนข้ามถนน (ไม่ใช่ทางม้าลาย) 101 ข่าวและชนคนข้ามถนนตรงทางม้าลาย 7 ข่าว สาเหตุหลักใหญ่คือเมาแล้วขับ และขับรถเร็ว และถนนลื่น กรณีข่าวโด่งดังที่พนักงานบริษัทแกรมมี่โดนรถชนบริเวณถนนอโศกมนตรีเมื่อข้ามทางม้าลาย

ประเด็นข้ามถนนแล้วโดนรถชนอาจจะไม่บาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ถ้าไม่ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ข้อมูลจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ระบุว่า “ความเร็วของรถส่งผลต่อความรุนแรงเมื่อเกิดการชน” ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. เมื่อเกิดการชนจะรุนแรงเท่ากับตกตึก 5 ชั้น คนเดินเท้าหากถูกรถชนที่ความเร็ว 30 กม./ชม. จะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า 90% แต่กลับกันหากถูกชนด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. โอกาสรอดจะเหลือเพียง 30% หรือต่ำกว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะการพุ่งชน

ดังนั้น “องค์การอนามัยโลก” และเครือข่ายทำงานด้านความปลอดภัยทางถนน พยายามผลักดันข้อกำหนดการลดใช้ความเร็ว ในเขตเมืองหรือชุมชน ที่อัตราเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. ซึ่งความเร็วนี้เมื่อชนคนเดินเท้า โอกาสเสียชีวิตมีเพียง 10% เท่านั้น โดยเสนอนำร่องในจุดสำคัญ เช่น หน้าโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล หน้าตลาด เป็นต้น แต่กับคนไทยมองว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ

ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวข้ามค่านิยมขับรถให้ช้าลงได้ หน่วยงานที่ทำงานเพื่อสังคมได้สนใจไปที่ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยอย่าง มูลนิธิเซฟเฟอร์โรดส์ (Safer Roads Foundation) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน สนับสนุนงบประมาณเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ทางข้ามหน้าโรงเรียนในพื้นที่ จ.ขอนแก่น

ผศ.ดร.พงษ์พันธ์ แทนเกษม อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ เปิดเผยว่าเมื่อเก็บข้อมูลบริเวณทางข้ามหน้าโรงเรียนในพื้นที่พบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของทางข้ามมีความเสี่ยง ยิ่งไม่ใช่ระยะเวลาเร่งด่วนช่วงเช้าและเย็น จำนวนรถไม่มากผู้ขับขี่จะใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงใช้รูปแบบการจัดการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งานทางข้าม ดังนี้ 1.การใช้รูปสัญลักษณ์บนผิวจราจร เพื่อเพิ่มความชัดเจนแก่ผู้ขับขี่ก่อนเข้าสู่พื้นที่ทางข้าม และเพิ่มการรับรู้ของผู้ขับขี่ให้เกิดความระมัดระวังก่อนเข้าสู่เขตพื้นที่ทางข้ามถนน

2.การใช้เส้น Optical Speed Bar หรือการตีเส้นก้างปลา ขนาดความกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร เอียง 45 องศาต่อแท่งเพื่อบีบช่องจราจรให้แคบลงกว่าปกติ โดยความยาวทั้งหมดของ Optical Speed Bar ที่ใช้จะคำนึงถึงระยะหยุดของยานพาหนะที่ปลอดภัย เช่น ขับมาด้วยความเร็ว 80 กม.ต่อชม. เมื่อต้องเบรกก่อนถึงทางม้าลายจะได้ระยะที่ไม่ชนกับคนเดินข้ามถนนและเป็นการเพิ่มการรับรู้ของผู้ขับขี่อีกครั้งหนึ่งก่อนเข้าสู่พื้นที่ทางข้าม 3.การเว้นระยะของเส้นหยุดรถ หรือเทคนิค Advance Stop Line โดยจะเว้นระยะห่างจากทางข้ามประมาณ 4-6 เมตรเพื่อเพิ่มมุมมองการมองเห็นที่ปลอดภัยแก่ทั้งผู้ข้ามทางและผู้ขับขี่ยานพาหนะ

4.การใช้ป้ายเตือนตำแหน่งทางข้ามรูปแบบใหม่ โดยเพิ่มขนาดของป้ายให้ใหญ่ขึ้นเป็น 85 เซนติเมตร ใช้กรอบ สีเหลืองเขียวฟลูออเรสเซนต์ และใช้สติกเกอร์เกรดการสะท้อนแสงสูงสุด ชนิดแบบไดมอนเกรด เพื่อเพิ่มความชัดเจนในการมองเห็นในระยะไกลและในเวลาที่มีแสงสว่างน้อย 5.การเพิ่มขนาดความกว้างทางม้าลายให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 4 เมตรเพื่อเพิ่มการมองเห็นชัดเจน และความสะดวกสบายแก่ผู้ข้ามทาง

ในเมื่อพฤติกรรมใช้รถใช้ถนนคนไทยเปลี่ยนยาก วิศวกรรมจราจรจะเป็นอีกตัวช่วยสำคัญ ซึ่งหวังผลว่าโครงการนี้จะเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนเดินถนนประสบเหตุถึง 2,500-2,900 รายต่อปี โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ เฉลี่ย 900 รายต่อปี มีปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญคือ 1.ถนนมีลักษณะหลายช่องจราจร เวลาข้ามถนนต้องใช้ระยะเวลาอยู่บนถนนนาน และแม้จะมีบางช่องจราจรหยุด แต่ช่องจราจรด้านในมักจะไม่หยุด 2.เมื่อมีคนข้าม รถในช่องทางชะลอหรือหยุดแต่ช่องจราจรขวาสุดที่ขับขี่ด้วยความเร็วมักไม่ได้ชะลอและอาจมองไม่เห็นกันทั้งสองฝ่าย ทำให้จุดนี้เป็นอีกจุดอันตรายของการข้ามถนนที่มักจะมีผู้เกิดเหตุและเสียชีวิต

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ และประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวเสริมว่านอกจากวิศวกรรมจราจร ที่ทำให้รถต้องชะลอความเร็วเมื่อขับผ่านทางม้าลาย มาตรการด้านบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง สำหรับผู้กระทำผิด และขอความร่วมมือประชาชน ในการเป็นตาอาสาจราจร แจ้งเหตุรถที่ไม่จอดให้คนข้ามถนน และสุดท้ายมาตรการด้านการกำกับติดตามประเมินผล

ได้แต่หวังว่าเคสของ “หมอกระต่าย” จะส่งผลให้ค่านิยมในการขับรถของคนไทยเปลี่ยนมาเป็นอ่อนน้อมกับคนเดินถนน เหมือนที่ประเทศเจริญแล้วทำกัน ตราบที่บทลงโทษของผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรในประเทศไทยยังเบา.