รัฐบาลจีน ประกาศอย่างมุ่งมั่นว่า กีฬาโอลิมปิก ฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่ง ระหว่าง 4-20 ก.พ. 65 จะเป็น “โอลิมปิกสีเขียว”

“ปักกิ่ง 2022” จะเป็นมหกรรมกีฬาครั้งแรกของโลกที่การดำเนินงานทุกอย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก อย่างเช่น การลดปริมาณก๊าซคาร์บอน การใช้พลังงานสะอาด การใช้เทคโนโลยี เป็นตัวขับเคลื่อน เป็นต้น

เป็นไอเดียที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ถ้าหากทำได้ อาจเป็น “กีฬาเปลี่ยนโลก” เป็นแนวคิดของการจัดการแข่งขันกีฬาเทรนด์ใหม่ของโลกยุคหลังจากนี้

แต่มันเป็นเพียงความคิดที่สวยหรู ของจริงจะทำได้หรือไม่ หรือได้มากน้อยแค่ไหน  ยังมีเครื่องหมายคำถามอันโต

โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า จีน (รวมถึงมหาอำนาจอีกหลายชาติ) คือหนึ่งในชาติที่ปล่อยก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศของโลกมากที่สุด

ยังมีประเด็น “การเมือง” ร้อนๆ นอกสนาม ที่หลายชาติตะวันตกตั้งแง่กับรัฐบาลจีน จนทำให้ จีน โดนจ้องจับผิดไปเสียทุกอย่างที่ทำอีก

นี่จึงน่าจะเป็น โอลิมปิกที่ได้รับความสนใจมากที่สุดครั้งหนึ่ง และสนุกตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้น

                              +++++++++++++++++++

1) จีน สัญญาอะไรกับเรา ?

อย่างแรก จีน สัญญาว่า พลังงานที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ทั้งหมด คือพลังงานสะอาดที่มาจากลม และแสงอาทิตย์ เป็นหลัก

ถึงแม้จะต้องพึ่งถ่านหินเกือบ 2 ใน 3 ที่มีในระบบเศรษฐกิจของประเทศก็ตาม

เมืองจางเจียโข่ว (Zhangjiakou) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 “ฮับ” ของ โอลิมปิกครั้งนี้ ติดตั้งพลังงานลมในพื้นที่หลายร้อยเอเคอร์ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 14 ล้านกิโลวัตต์

ตัวเลขนี้เท่ากับที่ สิงคโปร์ ทำได้

จีน บอกว่า พวกเขายังสามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อีก 7 ล้านกิโลวัตต์ เพื่อรองรับเพิ่มเติมด้วย

  คณะกรรมการจัดการแข่งขันของจีน เผยกับสำนักข่าว “เอเอฟพี” ว่า จีนได้สร้างระบบพลังงานสะอาดที่สามารถนำไปใช้ หรือเก็บสำรอง และหมุนเวียนไปใช้ในทุกสนามแข่งขัน

ทำให้มั่นใจได้เลยว่าจะมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียง

แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การจะทำดังกล่าว จีน ต้องอาศัยพลังงานถ่านหินปริมาณมหาศาล และจำเป็นต้องขุดหาแร่ถ่านหินเพื่อนำมาใช้เป็นจำนวนมากกว่าทั้งโลกรวมกันเสียอีก

                              +++++++++++++++++++

2) หมอก หรือ ควัน ?

อากาศที่ปักกิ่ง มีปัญหาเรื่องฝุ่นควันค่อนข้างเยอะ และการบ้านแรกที่พวกเขาต้องแก้ไขให้ได้ก็คือทำให้ฝุ่นควันเหล่านี้หายไปจากท้องฟ้า

ควันเหล่านี้ ส่วนใหญ่เกิดจากบ้านเรือนของประชาชนทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งจีนบอกว่าจะทำให้มันหายไปด้วยการให้ใช้แก๊ส และไฟฟ้าแทน

โรงงานอีกหลายหมื่นโรงในจีน ก็จะถูกปรับเงินมหาศาล ถ้าหากปล่อยก๊าซพิษเกินปริมาณที่กำหนด

ขณะที่ โรงงานเหล็กรอบกรุงปักกิ่ง ก็ถูกสั่งให้ลดปริมาณการผลิตลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง

กระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีน อ้างว่า ตัวเลขของสารปนเปื้อนในอากาศที่ปักกิ่ง ลดลงเหลือ 10 ในปี 2020 เทียบกับ 43 เมื่อปี 2015

แต่คุณภาพอากาศที่ปักกิ่งก็ยังเกินค่ามาตรฐานที่ WHO กำหนดอยู่ดี

จากการประเมินโดยกลุ่มกรีนพีซ เมื่อปี 2015 ระบุว่า บทเรียนสำคัญที่สุดที่ได้รับจากการจัดกีฬาโอลิมปิก ฤดูร้อย ปักกิ่ง 2008 ก็คือ

การได้รู้ว่า จีน สามารถโยกย้ายสภาพอากาศอันเลวร้ายที่เกิดในปักกิ่งไปยังจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆได้เท่านั้น

และนั่นไม่ใช่วิธีถูกต้องที่ทำให้อากาศดีขึ้น

                              +++++++++++++++++++

3) การเดินทาง ?

สำนักข่าว “ซินหัว” ของจีน รายงานว่า รถบัสพลังงานไฮโดรเจนมากกว่า 655 คัน จะถูกนำมาใช้ขนส่งนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ ระหว่างโอลิมปิก ฤดูหนาวครั้งนี้

ขณะที่คณะกรรมการจัดการแข่งขัน บอกว่า พาหนะ 85% ที่ใช้ในปักกิ่ง 2022 จะใช้พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานไฮโดรเจน

โอลิมปิกครั้งนี้ ยังจะอนุญาตให้เพียงชาวจีนเท่านั้นที่เข้าชมได้ เนื่องจากการระบาดของโควิด และต่อให้เป็นแบบนั้น ปริมาณผู้ชมก็น่าจะจำกัดมากๆ

ไฟลท์บินที่บินเข้าประเทศหรือบินในประเทศจีนเองก็น่าจะลดลงกว่าโอลิมปิกโดยทั่วไปพอสมควร หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

เรื่องคนและการใช้พลังงานจึงลดลงกว่าปกติมา

                              +++++++++++++++++++

4)หิมะมาจากไหน ?

การแข่งขันจะถูกจัดในเขตจางเจียโข่ว และ หยานชิง (Yanqing) ทางเหนือของปักกิ่ง ซึ่งเป็นภูเขาที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ทำให้เจ้าภาพต้องทำ “หิมะเทียม” ขึ้นเอง

“หิมะเทียม” หรือ หิมะประดิษฐ์ ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่โอลิมปิก ฤดูหนาว 1980 ที่เลค พลาซิด ในนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา

จีน ประมาณการณ์ว่าต้องใช้น้ำราว 49 ล้านแกลลอน เพื่อนำมาทำหิมะเทียม สำหรับใช้ในการแข่งขันอย่าง สกี และ สโนว์บอร์ด

น้ำปริมาณมหาศาลนี้ จะนำมาจากอ่างเก็บน้ำ ในจางเจียโข่ว

คณะกรรมการโอลิมปิกของจีน ยืนยันกับสื่อว่าปริมาณที่้นำมาใช้นั้นไม่ถึง 1 % ของปริมาณน้ำที่ใช้ในเมือง

นอกจากนั้น ทางบริษัทที่ผลิตหิมะเทียมเหล่านี้ ยังการันตีด้วยว่าจะไม่มีสารเคมีปนเปื้อนหรือเจือปนในหิมะแน่นอน

และเมื่อมันละลายแล้วก็จะกลายเป็นน้ำธรรมชาติที่สะอาดบริสุทธิ์กลับไปสู่พื้นดิน

                              +++++++++++++++++++

5) ไม่ใช่ “กรีน โอลิมปิก” จริง ?

ปักกิ่ง เป็นเมืองที่เข้มงวดเรื่องการใช้น้ำอย่างมาก โดยจำกัดให้ประชากรใช้น้ำได้เพียงแค่ 185 คิวบิกเมตร ต่อคนต่อปี ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานของ องค์การสหประชาชาติ ถึง 5 เท่า

ตอนที่ จีน ชนะในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งนี้ กุญแจสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พวกเขาได้รับเลือกก็คือ มันจะช่วยให้ประชากร 300 ล้านคน มีน้ำใช้มากขึ้น

แต่นักสิ่งแวดล้อมหลายคน พร้อมใจกันบอกว่า โอลิมปิก ฤดูหนาวที่ต้องทำหิมะเทียม รวมถึงน้ำแข็งเทียม ทำให้จีนต้องสูญเสียปริมาณน้ำมากกว่าปกติด้วยซ้ำ

คาร์เม เดอ ยอง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสตาร์สบูร์ก บอกว่า “การจัดการแข่งขันในเมืองที่ไม่มีหิมะเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน”

“เพราะมันจำเป็นต้องใช้น้ำ และพลังงานมหาศาล อีกทั้งยังทำลายคุณภาพดิน ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย”

“การจัดการแข่งขันโดยไม่มีสิ่งแวดล้อมจำเป็นขั้นพื้นฐาน นอกจากจะไม่ยั่งยืนแล้ว ยังถือว่าขาดความรับผิดชอบอีกด้วย”

สรุปแล้ว “ปักกิ่งเกมส์ 2022” จะ “กรีน” จริง หรือไม่กรีนอย่างที่ถูกวิจารณ์ และจะเป็นมหกรรมกีฬาที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาลได้จริงหรือไม่

อีกไม่นานคงรู้กัน?