ช่วงปลายปี 64 ที่ผ่านมา ภาพข่าวการจับกุม ขบวนการค้าลิงข้ามชาติ เพื่อนำไปส่งขายยังประเทศเพื่อนบ้านมีให้เห็นบ่อยขึ้น แถมพบว่า ทำกันเป็นขบวนการมีทั้ง นายหน้า รับงานมาจาก นายทุน สั่งให้จับลิงตามออร์เดอร์ไปว่าจ้างชาวบ้านจับลิง หรือบ้างก็แฝงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ออกไปตระเวนจับ ลิงแสม  หลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคกลาง

โดยเฉพาะช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตลาดมืดที่มีการค้าขายสัตว์ป่า เริ่มมีความต้องการลิงแสม จากประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่านำไปเป็นสัตว์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังขาดแคลน และลิงแสมไทย นอกจากจะมีคุณสมบัติตรงตามต้องการแล้ว ยังนำไปแพร่ขยายพันธุ์ได้ง่ายเมื่อมีความต้องการสูงจึงเกิดการลักลอบจับอยู่อย่างต่อเนื่อง

นายพลวีร์ บูชาเกียรติ

ปัจจัยลักลอบนำไปเป็นสัตว์ทดลอง

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยกับ นายพลวีร์ บูชาเกียรติ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาฐานข้อมูลอาชญากรรมสัตว์ป่า สนง.ต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้สถานการณ์ขบวนการค้าลิงข้ามชาติ ที่ผ่านมามีการลักลอบนำออกนอกประเทศ ผ่านไปยังชายแดนประเทศกัมพูชา เวียดนาม และลาว วัตถุประสงค์เพื่อนำไปทำเป็นอาหาร เช่นเมนูเปิบพิสดาร แต่หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการนำ ลิงแสม ไปเป็นสัตว์ทดลองมาก ขึ้น เช่น กัมพูชา นำลิงที่ส่งออกอย่างถูกกฎหมายไปเป็นสัตว์ทดลองที่สหรัฐอเมริกา จึงมีการขนส่งขึ้นเครื่องบินที่ไทย เพราะในกัมพูชา มีฟาร์มเพาะลิงถูกกฎหมาย จากข้อมูลของสื่อต่างประเทศระบุว่า ฟาร์มเพาะลิงที่ถูกกฎหมายมี 9 แห่ง โดย 8 แห่งเป็นของชาวจีน

ส่วนการลักลอบนำลิงออกนอกประเทศ ในช่วงระยะ 2 ปีหลังนี้ ไทยจับกุมขบวนการค้าลิงข้ามชาติ ออกไปยังกัมพูชาตามแนวชายแดนมากขึ้น ค่อนข้างทำกันเป็นขบวนการ มีขั้นตอน คัดคุณภาพลิงแสม ที่จับมาได้ โดยคัดเลือกขนาดที่มีความเหมาะสม โตเต็มวัย นํ้าหนัก 1-5 กก.ขึ้นไปได้ทั้งเพศผู้ เมีย เป็นที่ต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ยังต้องคัดเลือกลิงที่ไม่มี “รอยสัก” บริเวณข้อมือ เพราะที่ผ่านมาทางกรมอุทยานฯได้ทำหมันลิงและสักสัญลักษณ์ไว้บริเวณข้อมือ เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบที่มาที่ไปของลิง ดังนั้นหากมีการตรวจสอบพบผู้กระทำผิดก็จะมีโทษหนัก

ที่ผ่านมาขบวนการค้าลิง มีการจับลิงที่อยู่ตามธรรมชาติ หรือในพื้นที่ชุมชนมารวมกันก่อน หากลิงตัวไหนไม่ผ่านเกณฑ์จะเอาไปปล่อยคืนในพื้นที่ธรรมชาติ หรือในชุมชนต่าง ๆ ทำให้ลิงไปสร้างปัญหาให้กับสัตว์ประจำถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติและชุมชนโดยรอบ เช่น การปล่อยลิงที่ไม่ผ่านการคัดเลือกไว้ในพื้นที่ธรรมชาติ จ.พิจิตร เมื่อตรวจสอบรอยสักที่ข้อมือจึงพบว่าเป็นลิงมาจากที่อื่นถูกนำมาปล่อย หรือที่ จ.สุพรรณบุรี มีการปล่อยลิงมาในลักษณะเดียวกัน     

“จะสังเกตเห็นว่า ลิงที่นำมาปล่อยในพื้นที่ต่างถิ่น ถ้าเป็นวัตถุประสงค์ในการนำไปเปิบพิสดารส่วนใหญ่ไม่ได้จำกัดขนาดของลิง ดังนั้นจึงน่าสนใจว่า จะเป็นการนำไปเป็นสัตว์ทดลองหรือไม่ เพราะขบวนการที่ลักลอบ เมื่อสืบหาที่มาก็พบว่า เป็นขบวนการเดิม ๆ ที่เคยลักลอบค้าสัตว์ป่าประเภทอื่นมาก่อน กลุ่มเหล่านี้จะมีอุปกรณ์ในการจับ และมีเครือข่ายที่ส่งต่อสัตว์ที่ลักลอบออกนอกประเทศ”

จากคำให้การของผู้ต้องหารายหนึ่ง ระบุถึงราคาของการลักลอบนำลิงออกนอกประเทศในช่วงโควิดพบว่า มีราคาสูงขึ้นในตลาดมืด เพราะถ้าจับมาขายเพื่อส่งต่อกันในประเทศตกตัวละ 800–1,500 บาท แต่ถ้าส่งไปถึงกัมพูชาอยู่ที่ตัวละ 2,000 บาท ซึ่งผู้ต้องหาถูกจับได้บริเวณด่าน จ.สระแก้ว ก่อนส่งต่อไปยังประเทศ เพื่อนบ้าน

ขณะเดียวกัน จากรายงานของสื่อต่างประเทศมีการระบุว่า ลิงในประเทศจีน มีราคาขายตัวละ 60,000-70,000 บาท แต่พอหลังจากปี พ.ศ. 2559 หลายฟาร์มที่จำหน่ายลิงอย่างถูกกฎหมายในจีนเริ่มขาดแคลน ทำให้มีบางช่วงเวลา ราคาลิงเคยพุ่งขึ้นสูงไปอยู่ที่ตัวละ 3 แสน-4 แสนบาท ด้วยความต้องการทำให้การค้าขายลิง มีมากขึ้น ซึ่งเราเองก็ไม่สามารถทราบได้ว่า ลิงที่อยู่ในฟาร์มเป็นลิงที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมดหรือไม่ จึงเป็นอีกสิ่งที่หน่วยงานรัฐของไทยต้องร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสืบสวนหาวัตถุประสงค์ที่แท้จริงที่ทำให้มีความต้องการลิงมากขึ้นในช่วงนี้ ที่ผ่านมามีกระบวนการค้าขายลิงเพื่อเป็นสัตว์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ ด้วยฟาร์มเลี้ยงที่ถูกกฎหมาย แต่ต้องมีการระบุถึงที่มาที่ไปอย่างชัดเจน เช่น ทุกปีจะมีจำนวนลิงเพิ่มขึ้นประมาณ 40 ตัว แต่พอมาในปีนี้มีจำนวนลิงเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติก็เป็นสิ่งที่น่าสงสัยว่า จะมีการแอบนำพ่อแม่พันธุ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเข้าไปเพาะเลี้ยงหรือไม่

เน้น “ลิงแสม” โตเต็มวัยแข็งแรงสมบูรณ์

นายพลวีร์ กล่าวต่อว่า ลิงแสม ถูกลักลอบส่งออกต่างประเทศมากที่สุด แม้ก่อนหน้านี้มี ลิงวอก บ้าง แต่ลิงแสม มักพบได้ทั่วไป เพราะจากคดีที่จับผู้ต้องหาจะพบลิงที่จับมาจะอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง จ.นครสวรรค์, ลพบุรี, อุทัยธานี ส่วนใหญ่ไปจับกันในพื้นที่ใกล้เคียงวัดหรือป่าชุมชนที่มีลิงชุกชุม เมื่อจับได้แล้วขบวนการจะนำลิงไปรวมกันในพื้นที่ จ.พิจิตร หรือ สุพรรณบุรี ก่อนมีการส่งออกต่างประเทศ ทาง จ.สระแก้ว โดยลิงแสม ที่นิยมลักลอบนำออกนอกประเทศเนื่องจากความต้องการเพื่อนำไปเป็นสัตว์ทดลอง สามารถเพาะพันธุ์ได้ง่าย ตลอดจนในประเทศเพื่อนบ้านก็มีลิงชนิดนี้อยู่ และจากรายงานของการข่าวระบุว่า ขนาดของลิงที่เหมาะสมและเป็นความต้องการจะอยู่ที่ 3 กก.ราคาตัวละ 2,000-2,500 บาท แต่ถ้าขนาด 3-5 กก.ราคาตัวละ 500-1,800 บาท

ขณะเดียวกันราคาลิงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแข็งแรง แต่ถ้าลิงมีรอยสักที่ข้อมือจะไม่รับซื้อ เนื่องจากเป็นลิงที่ทำหมันแล้ว ดังนั้นจะเห็นว่า ด้วยราคาที่ตลาดมืดกำหนด ความต้องการเหล่านี้ไม่น่าจะซื้อไปเพื่อเปิบพิสดาร แต่เน้นไปเป็นสัตว์ทดลอง ทำให้ขนาดของลิงที่ได้รับความนิยมจึงเป็นลิงที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต การลงมือของขบวนการจะเริ่มจากไปโปรยอาหาร เช่น ถั่ว หรือ อาหารสุนัข เพื่อล่อให้ลิงลงมาแกะเปลือกถั่วกินรวมกันเป็นกลุ่ม จากนั้นจะเลือกลิงแสมที่ต้องการจึงยิงลูกดอกยาสลบ นอกจากนี้บางกลุ่มดัดแปลงท้ายปิกอัพให้เป็นคอก เมื่อเข้าไปหยิบอาหารในคอกจะติดกับดัก

หลังจากได้ลิงมาแล้วจะนำไปคัดแยกตามขนาดความเหมาะสม แต่สิ่งที่น่าสงสารคือ กระบวนการในการลักลอบขนส่ง บางครั้งทำให้ลิงกว่า 20% ต้องตายอย่างทรมานระหว่างขนส่ง เช่น ผู้ต้องหาที่จับได้ใน จ.สระแก้ว แอบซ่อนลิงไว้ท้ายกระบะ โดยจับลิงมัดใส่ยัดรวมกันไว้ในกระสอบกว่า 100 ตัว โดยผู้ต้องหารายนี้ทำผิดมาแล้วหลายครั้ง

จากข้อมูลของหน่วยงานที่ดูแลปกป้องสัตว์ป่าระหว่างประเทศยังพบว่า เม็ดเงินที่ได้จากการลักลอบค้าสัตว์ป่า มีมหาศาลรองจากการลักลอบค้ายาเสพติด ซึ่งขบวนการค้าลิงข้ามชาติจึงเป็นอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วง เพราะคนไทยมักมองว่าลิงเป็นสัตว์ที่สร้างความรำคาญ เลยไม่ค่อยสนใจ เวลามีกลุ่มคนแอบมาลักลอบจับลิงในพื้นที่ ทำให้ขบวนการค้าลิงข้ามชาติลงมือได้ค่อนข้างง่าย จึงต้องหาทางแก้ปัญหาและสกัดแก๊งค้าลิงข้ามชาติ.