ไม่น่าเชื่อว่า ต้นปี 2565 จะมาเกิดเรื่องราวเกี่ยวกับ เสือโคร่ง ในผืนป่าใหญ่ฝั่งตะวันตก เขตพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นข่าวใหญ่ถึง 2 เหตุติด ๆ กัน ไล่จากคดี ฆ่าเสือโคร่ง กำลังเริ่มโตเป็นหนุ่มสาว เพศผู้ และ เพศเมีย ถูกชาวบ้านไล่ล่ายิง เสือโคร่งตาย 2 ตัว อ้างเหตุผล แค้นเพราะถูกเสือบุกมากินวัวควายไปหลายสิบตัวซึ่งนำไปเลี้ยงไว้ แนวชายป่าบ้านปิล็อกคี่ หมู่ 4 .ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม และเขตติดต่ออุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ เหตุเกิด 12 .. 65

นิพนธ์ จำนงค์สิริศักดิ์
ผอ.สบอ.3 (บ้านโป่ง)

ตะลึงเสือโคร่งโผล่อีก 3 ตัว

ถัดมาเพียง 17 วัน ช่วงสาย ๆ วันที่ 29 ม.ค. 65 คราวนี้เป็นเหตุ เสือโคร่ง 3 ตัว บุกจู่โจมตะปบกัด นายหวาน อายุ 47 ปี ชาวกะเหรี่ยงบ้านปิล็อกคี่ หมู่ 4 ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ ขณะเดินออกไปดูควายที่ปล่อยเลี้ยงเอาไว้อยู่บริเวณป่าห้วยสะมะท้อ ซึ่งอยู่ห่างจากป่าปิล็อกคี่ เหตุยิง 2 เสือโคร่งตาย ไปเพียงแค่ 1 กม.เศษ ๆ นายหวาน ที่ถูกขย้ำพยายามต่อสู้สุดชีวิต ต่อยเสือจนข้อมือหักแล้วดิ้นหลุดได้จึงวิ่งหนีเข้ากอไผ่ ส่วนเสือทั้ง 3 ตัวก็กัดสุนัขตายไป 2 ตัวก่อนจะพากันเดินเข้าป่า ส่วนนายหวาน เห็นว่าเสือโคร่ง 3 ตัวไปแล้วจึงรีบหนีตายเข้ามาขอความช่วยเหลือคนในหมู่บ้านนำส่ง รพ.ทองผาภูมิ แต่อาการสาหัส ถูกกัดทั่วร่างกว่า 20 แผลต้องส่งไปรักษาตัวต่อที่ รพ.พหลพลพยุหเสนา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

ทั้ง 2 เหตุกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างได้รับความสนใจทั้งจากบรรดานักอนุรักษ์ และประชาชนทั่วไปที่ทราบข่าว เพราะกลายเป็นว่าในพื้นที่บ้านปิล็อกคี่ ได้พบฝูงเสือโคร่ง เข้ามาป้วนเปี้ยนมากถึง 5 ตัว!!

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยกับ นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) จากเหตุการณ์เสือโคร่งตะปบกัดชาวบ้านบาดเจ็บสาหัส เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากร และ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ สั่งให้ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดพร้อมให้ดูแลช่วยเหลือครอบครัวผู้บาดเจ็บในเบื้องต้นนำเงินสดไปช่วย 1 หมื่นบาท ส่วนการเลี้ยงโคและกระบือของชุมชนชาวปิล็อกคี่ ที่ผ่านมาชาว บ้านจะพาฝูงสัตว์ ไปปล่อยเลี้ยงไว้ในบริเวณป่าห้วยปิล็อกคี่ และป่าห้วยสะมะท้อ ซึ่งห่างจากหมู่บ้านไปประมาณ 5-7 กม. นั้น จึงได้เร่งหาวิธีในการแก้ไขป้องกันให้รัดกุม พร้อมสั่งการให้ทุกอุทยานฯทั้ง 9 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 3 แห่ง ทำการสำรวจผู้ที่มีสัตว์เลี้ยง และปล่อยเลี้ยงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ว่ามีจำนวนกี่ราย และแต่ละรายมีสัตว์เลี้ยงโคหรือกระบือกี่ตัว เพื่อจะหาแนวทางแก้ไข หาพื้นที่สมควรในการเลี้ยงสัตว์ จะไม่ให้นำสัตว์ไปเลี้ยงใกล้บริเวณแนวชายป่าอีก หากฝ่าฝืนนำสัตว์เข้าไปเลี้ยงก็จะผิดกฎหมายตามมาตรา 21 วรรค 2 พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ศ. 2562 นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยก่อให้เกิดผลกระทบนิเวศอย่างรุนแรง ในเขตอุทยานแห่งชาติ

คุมเข้มป่าใกล้หมู่บ้านปิล็อกคี่

นายนิพนธ์ ผอ.สบอ.3 (บ้านโป่ง) กล่าวต่อว่า นอกจากจะตั้ง ชุดปฏิบัติการพิเศษ ขึ้นรวม 12 ชุด จำนวน 140 คน เพื่อยกระดับการปฏิบัติ การป้องกันอย่างเข้มข้นในบริเวณพื้นที่ ดังกล่าวตั้งแต่เกิดเหตุฆ่าเสือโคร่งตาย 2 ตัวแล้ว และเมื่อมาเกิดเหตุพบเสือโคร่ง 3 ตัว เข้ามาทำร้ายคนใกล้หมู่บ้านปิล็อกคี่ ล่าสุด นายเจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานฯทองผาภูมิ พร้อมด้วย นายกมลาส อิสสะอาด หัวหน้าอุทยานฯเขาแหลม นำประกาศคำสั่งเดินทางไปติดในหมู่บ้านปิล็อกคี่ ห้ามบุคคลใดเข้าไปในพื้นที่ป่า บริเวณลำห้วยปิล็อก-สะมะท้อ และบริเวณป่าใกล้เคียงในพื้นที่อุทยานฯเขาแหลม รวมทั้งอุทยานฯทองผาภูมิ เป็นระยะเวลา 3 เดือน หากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 20 ระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท รวมทั้งจะมีความผิดฐานขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นในระยะ 3 เดือนนี้ หากบุคคลใดมีความจำเป็น ที่จะต้องเข้าไปในพื้นที่อุทยานฯเขาแหลม และอุทยานฯทองผาภูมิ ก็ต้องขออนุญาตก่อนทุกครั้ง เพื่อจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าคอยติดตามระวังภัยให้กับผู้ที่จะเข้าไปในพื้นที่ป่าอุทยานฯดังกล่าว

นอกจากนี้ที่สำคัญ คือ กำลังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กำลังเร่งดำเนินการติดตั้ง กล้องดักถ่าย เพื่อบันทึกภาพประชากรเสือโคร่งในบริเวณผืนป่าตะวันตกแล้ว ยังเร่งหาทางวางแผนเพื่อผลักดันเสือโคร่งฝูงดังกล่าวให้กลับเข้าไปในเขตป่าลึกได้ ใช้ชีวิตอยู่ตามวิถีธรรมชาติของสัตว์ป่า ที่จะเกื้อกูลระบบนิเวศในป่าธรรมชาติต่อไป

อดีตนายพรานป่า กล่าวกับ ทีมข่าว 1/4 Special Report ว่า เสือโคร่งเป็นเจ้าป่าแห่งพงไพร ตามปกติจะบุกมาทำร้ายหรือกินคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสัตว์ป่าจมูกไวมากแค่ได้กลิ่นคนก็จะรีบหลบหนีในทันที สำหรับกรณีเสือจะจู่โจมเข้าทำร้ายคนนั้น เท่าที่รับรู้มีอยู่ 2 ประเภท คือ 1.เสือบาดเจ็บหรือถูกทำร้ายก่อน 2.เสือแก่อายุมาก ๆ ไม่สามารถไล่จับสัตว์ได้ ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้ ได้เห็นเสือโคร่งมากถึง 5 ตัวนั้น เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นครอบครัวเดียวกันและยังไม่แยกฝูง เมื่อมีเสือ 2 ตัวซึ่งถูกฆ่าและหายไป อีก 3 ตัวก็ยังอาจจะวนเวียนมาตามหา ที่สำคัญอาจมีเสือ 1 ใน 3 บาดเจ็บถูกทำร้ายมาก่อนด้วย เมื่อมาเจอคนจึงจู่โจมทันทีจะเรียกว่าเป็นการอาฆาตแค้นให้กับพวกในฝูงก็เป็นไปได้ เพราะบรรดาสัตว์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เสือ ช้าง กระทิง หมี เป็นสัตว์ที่จดจำหากถูกคนทำร้ายก็มักจะหวนกลับมาเอาคืนให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

ดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า

จากผลการวิจัยรวมทั้งผลของการติดตั้ง กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ เพื่อสำรวจเสือโคร่ง ในกลุ่มป่าทางทิศใต้ ของผืนป่าตะวันตก จ.กาญจนบุรี พบเสือโคร่ง และสัตว์ป่าหายากเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถบ่งบอกชี้วัดถึงดัชนีช่วยชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี ซึ่งการที่เสือโคร่งและสัตว์ป่าหายากเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพป้องกัน และปราบปรามอย่างเข้มข้น ของเจ้าหน้าที่ฯ โดยมีข้อมูลจากการสำรวจวิจัยเสือโคร่งในประเทศไทย ด้วยกล้องดักถ่ายตั้งแต่ปี 2553-2563 พบเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ 130-160 ตัว หากประเมินเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก ในระยะเวลา 10 ปี พบว่าประชากรเสือโคร่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 42 ตัว เป็น 79 ตัว

ปัจจุบันสถานภาพเสือโคร่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภท ใกล้สูญพันธุ์ (EN) โดยประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติผืนป่าไทย (2564) มีประมาณ 177 ตัว เป็นสายพันธุ์อินโด-ไชนีส เรียกสั้น ๆ ว่าเสือโคร่งอินโดจีน มีลำตัวขนาดกลาง น้ำหนัก 130-200 กก. อาณาเขตของเสือโคร่งเพศผู้ กินพื้นที่ราว 200-300 ตารางกิโลเมตร ขณะที่เพศเมียจะอยู่ที่ 60 ตารางกิโลเมตร การล่าแต่ละครั้ง จะใช้เวลาในการกินเหยื่อนาน 3-6 วัน เสือโคร่ง 1 ตัว จะกินเนื้อราว 3,000 กก.ต่อ 1 ปี

 ความสำคัญของเสือโคร่ง ต่อระบบนิเวศนั้น มีความสำคัญในฐานะเป็นผู้ล่าสูงสุด ในห่วงโซ่อาหาร มีบทบาทและหน้าที่ในการควบคุมประชากร ของสัตว์กินพืช ไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป รวมทั้งรักษาสายพันธุ์ที่ดีของประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อ เพราะสัตว์ที่อ่อนแอ จะตกเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง กล่าวได้ว่า เสือโคร่ง เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน

ที่สำคัญการประชุมเสือโคร่งโลก ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 19-21 ม.ค. 64 ประเทศมาเลเซีย เป็นเจ้าภาพผ่านระบบการประชุมทางไกล 13 ประเทศ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์และฟื้นฟูเสือโคร่ง เนื่องจากสามารถเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติได้เป็นผลสำเร็จ ดังนั้นเมื่อมาเกิดเหตุพบเสือโคร่งเพิ่มขึ้นในผืนป่าฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี จึงจำเป็นที่หน่วยงานเกี่ยวข้องไม่ว่าภาครัฐและเอกชน ต้องร่วมกันหามาตรการคุมเข้มป้องกัน พร้อมอนุรักษ์เพิ่มประชากรเสือโคร่งได้อยู่คู่ผืนป่าตลอดไป

ไฟเขียวจ้างต่อ ‘จนท.พิทักษ์ป่า’

ก่อนหน้านี้ สัปดาห์ก่อน ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้สะท้อนปัญหา กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ถูกตัดงบประมาณ ในช่วงย้อนหลัง 5 ปี มีการปรับลดงบลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่หนักสุดคือปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 อัตราจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า 5,163 คน ล่าสุดถูกตัดเหลือ 3,432 คน  (หายไป  1,731 คน คิดเป็น 33%) ทำให้ต้องนำเงินรายได้ค่าธรรมเนียมมาสนับสนุนปีละกว่า 200 ล้านบาท เพื่อประคองให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้เขียนลงในเฟซบุ๊ก ว่า ขอบคุณแทนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไทยที่ทุกท่านห่วงใยและให้ความสำคัญ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณได้ทำหนังสือแจ้งมาที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เรื่องเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน เพื่อเป็นค่าจ้างเหมาพนักงานในการจ้างปฏิบัติงานตามภารกิจสำคัญของกรมอุทยานฯ หลังจากที่ผมได้ทำหนังสือขออนุมัติงบกลางไป เพื่อทดแทนกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯถูกตัดลดงบประมาณ ในส่วนการจ้างงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งส่งผลกระทบต่อพนักงานจ้างเหมาของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ และจะส่งผลให้พนักงานถูกเลิกจ้างสูงถึง 50%

สำนักงบประมาณ แจ้งว่าได้นำเรื่องนี้ เสนอท่านนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเสนอไป และให้ทางกระทรวงนำเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนต่อไป สำหรับค่าจ้างเหมาพนักงาน ในการจ้างปฏิบัติงาน ตามภารกิจของกรมอุทยานฯ 3,999 อัตรา ระยะเวลาการจ้าง 7 เดือน (มี.ค.-ก.ย.65) อัตราละ 9,000 บาทต่อเดือน จะใช้งบกลางจำนวน 251 ล้านบาท แบ่งเป็นงานอนุรักษ์ และป้องกันรักษาป่า 3,556 อัตรา เป็นเงิน 225 ล้านบาท งานควบคุมไฟป่า 368 อัตรา เป็นเงิน 23 ล้านบาท และงานตรวจปราบปรามการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ 45 อัตรา เป็นเงิน 2.8 ล้านบาท.