เป็นกระแสอื้ออึงอีกครั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้…แล้วก็ซา ๆ ไปอีกครา …กับกรณี “กัญชาเสรี” หลังจากในประเทศไทยมีการเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อ “ปลดล็อกกัญชาและกัญชง” ให้ “พ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5” หลังจาก “ปมกัญชา” กลายเป็น “วาระทางการเมือง” อยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งมาถึงวันนี้กับความชัดเจนจริง ๆ เกี่ยวกับ “กติกากัญชาเสรี” ก็ยังคง “ต้องรอดู” กันอีกที… อย่างไรก็ตาม กับการ “ปลดล็อกกัญชา” ที่ได้รับ “เสียงเชียร์ล้นหลาม” นั้น ในอีกมุมก็มี “เสียงสะท้อนคู่ขนาน” ที่เป็น “แง่มุมในทางสุขภาพ” ออกมาด้วย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มี “เวทีวิชาการเกี่ยวกับกัญชา”…

มีการจัดเสวนาวิชาการประเด็นเกี่ยวกับกัญชา

ที่ได้มีการตั้ง “ปุจฉา” ถึง “ความพร้อมของไทย”

กับกรณี “ปลดล็อกกัญชา” กรณี “เปิดเสรีกัญชา”

ทั้งนี้ เวทีวิชาการดังกล่าวนี้มีชื่อว่า… “มองรอบด้าน : ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยังที่จะตัดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด” ซึ่งเป็นการเสวนาที่จัดขึ้นโดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ที่จัดเวทีดังกล่าวนี้ขึ้นมาเพื่อร่วมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน โดยในเวทีดังกล่าวได้โฟกัสที่เรื่องของ “ผลกระทบทางด้านจิตเวช” เมื่อประเทศไทยจะ “เปิดเสรีการใช้กัญชา” ที่เป็นอีกประเด็นที่ “วงการจิตแพทย์กำลังให้ความสนใจ” ซึ่งไทยจำเป็นจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับ “ผลข้างเคียง” ให้ครบทุกด้าน

“ถึงแม้กัญชาจะมีประโยชน์ในทางรักษา แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า… ในอีกมุมหนึ่ง กัญชาก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคทางจิตเวชได้ และยังอาจสามารถทำให้อาการทางจิตของบางโรคย่ำแย่ลงไปจากเดิมได้ด้วย เช่น โรคไบโพลาร์ ที่ฤทธิ์ของกัญชาจากการใช้ไม่เหมาะสมอาจทำให้อาการทางอารมณ์เกิดปะทุขึ้นมาได้”…นี่เป็น “ข้อมูลอีกด้าน” ที่ทาง รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด หรือ ศศก. ได้ระบุไว้ในเวทีดังกล่าว

เพื่อให้สังคมไทยรับรู้ “ข้อมูลอีกมุมของกัญชา”

และก็มีการสะท้อนไว้ในเวทีนี้อีกว่า… ช่วงก่อนหน้านี้สังคมไทยได้รับข้อมูลในด้านของประโยชน์จากกัญชาเยอะมาก ซึ่งข้อเท็จจริงคือ… เราสามารถนำกัญชามาใช้รักษาอาการบางอาการหรือโรคบางโรคได้จริง เพียงแต่ ของทุกอย่างย่อมมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ดังนั้น การที่จะเปิดกว้างการใช้กัญชาอย่างเสรี สังคมไทยจำเป็นต้องได้รับข้อมูลให้ครบถ้วนทุกมุมด้วย ไม่ใช่ได้รับข้อมูลด้านดีด้านเดียว โดยเฉพาะในแง่ของ “ผลข้างเคียงผลกระทบเพื่อที่จะได้หา “แนวทางป้องกัน” ไว้ก่อน…

“สารในกัญชา” มีฤทธิ์บางอย่าง “ส่งผลต่อสมอง”

เป็นปัจจัยหนึ่ง “ทำให้เป็นโรคจิตเรื้อรังระยะยาว”

สำหรับ “มุมของจิตแพทย์” เกี่ยวกับ “การใช้กัญชา” ที่เกี่ยวโยงกับ “อาการทางจิต-โรคจิตเภท” นั้น เรื่องนี้ทาง ศ.ดร.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้สะท้อนผ่านเวทีดังกล่าวไว้ว่า… การใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างสมเหตุสมผล และมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน ย่อมมีประโยชน์มากกว่าโทษ กรณีนี้เชื่อว่าทุกคนก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ และเห็นด้วยกับประโยชน์ของกัญชาในเรื่องนี้ แต่หากพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับ “ผลกระทบต่อโรคจิต-โรคจิตเภท” สำหรับกรณีนี้ก็ต้องยอมรับว่า… กัญชาสามารถก่อให้เกิดปัญหาทางจิตเวชได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่สังคมต้องมองให้รอบด้านด้วย ก่อนจะเปิดให้มีการใช้กัญชาอย่างแพร่หลาย

“ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าสาร CBD มีประโยชน์ในการรักษาโรคจิตหรือโรคจิตเภท แต่ มีหลักฐานเบื้องต้นว่าสาร THC ไม่เพียงไม่มีประโยชน์ในการรักษาโรคจิตหรือโรคจิตเภท แต่ยังอาจทำให้อาการบางอย่างของผู้ที่ป่วยแย่ลง ด้วย” …ทาง ศ.ดร.นพ.มานิต นำเสนอข้อมูลอีกมุมของ “กัญชา” ไว้ในส่วนของ “สารที่มีอยู่ในกัญชา”

ทางด้าน พญ.ปุณฑริก ศรีสวาท ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้สะท้อนไว้ว่า… เรื่องของกัญชากับสมองนั้น จากการศึกษาใน “กลุ่มเด็กที่เกิดโดยคุณแม่ที่ใช้กัญชา” พบรายงานว่า… สาร THC จะทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์สมองของทารกบางส่วนเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ใน “กลุ่มวัยรุ่น” นั้นจะมีผลทำให้ระดับไอคิว สติปัญญา และการเรียนรู้ด้านภาษา เปลี่ยนแปลง จะทำให้ทักษะการเรียนรู้อาจมีปัญหาในระยะยาวได้ ส่วนผลการศึกษากัญชาใน “กลุ่มผู้ใหญ่” ก็พบว่า…จะมีผลกระทบต่อความสามารถในการตัดสินใจและความจำ

ทั้งนี้ กับเรื่องของกัญชาในมุมนี้-เวทีเสวนานี้ ทาง ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิจัยอาวุโสของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ก็ได้สะท้อนทิ้งท้ายไว้ว่า… การจัดเวทีนี้ขึ้นมานั้นไม่ได้ต้องการคัดค้านไม่ให้มีการใช้กัญชา เพียงแต่ต้องการเสนอข้อมูลให้ครอบคลุมทุกแง่มุม เพื่อให้สังคมมีข้อมูลที่ครบทุกด้าน เพราะแม้กัญชาจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ในระดับหนึ่ง แต่การจะปล่อยให้ไม่เป็นยาเสพติดแล้วไม่ต้องถูกควบคุมเลย ถ้าเป็นเช่นนี้ส่วนตัวก็ห่วงว่าจะเกิดการ “ใช้ผิดวัตถุประสงค์” อย่างมากมาย จน “ส่งผลเสียมากกว่าผลดี” ต่อสังคมโดยรวม …เป็น “ข้อห่วงใย” ที่ทาง ดร.นพ.บัณฑิต เน้นย้ำเอาไว้ในเวทีนี้

นี่เป็น ข้อมูลคู่ขนาน” ไปกับ “ข้อดีของกัญชา”

“ข้อเสียของกัญชาข้อห่วงใย” นี่ “ก็ต้องฟังไว้

ไม่เช่นนั้น “กัญชาเสรี” ก็ “อาจก่อปัญหา??” .