การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพในยุค “พี่น้อง 3 ป.” คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรืองอำนาจมาก มีหลายรายการถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส เป็นประเภทอาวุธ “เชียงกง” ใช้งานไม่คุ้มค่า ใช้งานไม่ได้ ส่งมอบกันล่าช้า ไม่ว่าจะเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด (จีที 200-อัลฟ่า 6) ที่ได้รับฉายาว่า “ไม้ล้างป่าช้าลวงโลก” รวมไปถึง “เรือเหาะ” ที่ซื้อแพง แต่ไม่เหมาะสมกับภารกิจ ขึ้นบินไม่กี่เที่ยวก็ลมรั่ว ต้องจอดซ่อม ซ่อมจนไม่ไหว ต้องปลดประจำการไปในที่สุด

ต่อมาคือประเภทที่ซื้อแล้วไม่มี “เครื่องยนต์” ชนิดที่ว่าคู่ค้าต้องวิ่งพล่านหาเครื่องยนต์อะไรมาใส่ให้ก็ไม่รู้ คือ รถถังออปพล็อต (OPLOT) จากประเทศยูเครน และเรือดำน้ำชั้นหยวน ที่สั่งซื้อจากประเทศจีน 1 ลำ มีกำหนดส่งมอบกันในปี 66 แต่ข่าวแว่วๆ มาว่ามีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ใส่เรือดำน้ำอีกแล้ว

จีที 200 “ไม้ล้างป่าช้าลวงโลก”

ทีมข่าว “Special Report” ขอประเดิมด้วยเครื่อง “จีที 200-อัลฟ่า 6” ซึ่งเป็นคดีคาราคาซังอยู่ใน ป.ป.ช. เพราะมีหลายหน่วยงานรัฐเสีย “ค่าโง่” หรือ “แกล้งโง่” หรือไม่? ซื้อเครื่องมือลวงโลกดังกล่าวมาใช้งานในราคาที่แพงมากๆ เฉลี่ยหลายแสนบาทต่อเครื่อง ทั้งที่มีต้นทุนไม่ถึงเครื่องละ 1,000 บาท

จากข้อมูลสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่าระหว่างปี 48-52 มีหน่วยงานรัฐประมาณ 10 หน่วยงาน สั่งซื้อจีที 200-อัลฟ่า 6 ทั้งสิ้น 836 เครื่อง คิดเป็นเงินกว่า 759 ล้านบาท

นจำนวนนี้ “กองทัพบก” สมัย พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. โดยกรมสรรพาวุธทหารบกมีการจัดซื้อจีมี 200 มากที่สุด ด้วยวิธีพิเศษทั้งหมด โดยอ้างเหตุผลว่าจำเป็นเร่งด่วน และกรณีข้อจำกัดทางเทคนิค ต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ รวม 11 สัญญา จำนวน 757 เครื่อง (คิดเป็น 90% ที่มีหน่วยงานรัฐจัดซื้อทั้งหมด) ด้วยวงเงินกว่า 682 ล้านบาท ตั้งแต่ราคาเครื่องละ 900,000-950,000 บาท และในยุคก่อนหน้านั้นคือ ผบ.ทบ. ที่ชื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ซื้อจีที 200 จำนวน 2 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 900,000 บาท

เกี่ยวข้องกับ “บิ๊กๆ” คดีล่าช้ามาก!

ขณะที่หน่วยงานอื่น เช่น กองทัพเรือ จัดซื้อจำนวน 38 เครื่อง ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 930,000-1,200,000 บาท กองทัพอากาศ 26 เครื่อง เฉลี่ยเครื่องละ 560,000-990,000 บาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 เครื่อง ราคา 1,200,000 บาท แต่กรมศุลกากรจัดซื้อด้วยราคาถูกที่สุดในบรรดาหน่วยงานรัฐด้วยกัน คือซื้อ 6 เครื่อง ราคาเครื่องละ 420,000 บาท นี่คือความแตกต่างของราคาระหว่างหน่วยงานรัฐยังไม่เท่ากัน

ต้องพูดกันตามตรงว่าการเอาผิดการจัดซื้อเครื่องจีที 200-อัลฟ่า 6 ของ ป.ป.ช. ดำเนินการไปอย่างล่าช้ามาก จะด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ? แต่เคยมีอดีตกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาให้ข่าวไว้ในช่วงปลายปี 61 ว่า ป.ป.ช. จะไม่ปล่อยให้เรื่องดังกล่าวหมดอายุความอย่างแน่นอน แต่การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เป็นเหมือนความเชื่อว่าคือพระเครื่อง เจ้าหน้าที่นำไปใช้แล้วอุ่นใจและรู้สึกว่าคุ้มค่า แม้สังคมจะมองว่าราคาเครื่องไม่น่าจะแพงขนาดนั้น

หลังสุดเมื่อเดือน ก.ค.64 มีรายงานข่าวแจ้งว่า ป.ป.ช. เตรียมฟันทุจริตการจัดซื้อเครื่องจีที 200-อัลฟ่า 6 เกือบ 100 คน กระจายอยู่หลายหน่วยงาน เช่น กรมสรรพาวุธทหารบก กรมสรรพาวุธทหารอากาศ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมศุลกากร จ.ยะลา ภูเก็ต ระนอง เพชรบุรี สมุทรสาคร นครปฐม เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น “บิ๊ก” ข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันเป็น ส.ว. อยู่ด้วย

แต่จนถึงบัดนี้เดือน มี.ค.65 ความคืบหน้าเกี่ยวกับสำนวนคดีทุจริตยังเงียบสงบอยู่ที่ ป.ป.ช. ยังไม่ได้ชี้มูลความผิดผู้บริหารหน่วยงานรัฐที่ถูกกล่าวถึงในข้างต้น ทั้งที่กรณีการจัดซื้อเครื่องจีที 200 และ อัลฟ่า 6 ล่าช้ามานานแล้ว!

“เรือเหาะ” บินถ่ายโฆษณาเหมาะกว่า?

ถัดมาคือการจัดซื้อบอลลูน หรือ “เรือเหาะ” สำหรับภารกิจบินตรวจการณ์ทั้งกลางวันและกลางคืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการจัดซื้อในปี 52 สมัย พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ราคารวมอุปกรณ์ต่างๆ ลำละ 350 ล้านบาท กรณีดังกล่าวถูกหลายภาคส่วนในสังคมตั้งข้อสงสัยมากมายว่า

1.เรือเหาะที่ว่ามีขนาดอุ้ยอ้าย เคลื่อนตัวช้า ตั้งแต่การออกจากโรงเก็บ และนำเข้าจอดในโรงเก็บเมื่อใช้งานแล้ว โดยเรือเหาะดังกล่าวไม่มีประเทศไหนใช้งานเพื่อการรบกับข้าศึก หรือใช้บินตรวจการณ์หาตัวคนร้าย เนื่องจากต้องบินในระดับสูงจากพื้นดินเกินจาก 400 เมตรขึ้นไป ไม่เช่นนั้นถูกอาวุธปืนประจำกาย (เอ็ม 16-อาก้า) สอยร่วงแน่ๆ และบินสูงขนาดนั้นมองเห็นอะไร จะแยกแยะได้หรือว่าใครเป็นชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ และใครเป็นผู้ก่อการร้ายในภาคใต้

2.เรือเหาะดังกล่าว น่าจะมีไว้ใช้งานในกองถ่ายภาพยนตร์-ละคร-โฆษณา ไว้ใช้บินลากป้ายโฆษณาน่าจะเหมาะสมมากกว่า

3.ในช่วงเวลานั้นมีบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์-ละครชื่อดัง ได้ซื้อเรือเหาะที่มีลักษณะคล้ายกับเรือเหาะของกองทัพบก มาจอดเก็บไว้ในโรงจอดที่ จ.นครปฐม โดยมีทหารยศ “พันเอก” เป็นผู้ดูแลเรือเหาะของบริษัทเอกชนรายดังกล่าว ซึ่งซื้อมาแค่ 30-35 ล้านบาทเท่านั้น

350 ล้านบาทหายไปกับก๊าซฮีเลียม

แต่กรณีเรือเหาะของกองทัพบก มีข้อสงสัยว่าจะเป็นเรือเหาะลำเดียวกับของบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นเรือเหาะมือสองจากรัสเซีย ราคาแพงสุดไม่น่าจะเกิน 35 ล้านบาท และการสั่งซื้อก็ได้ของมาเร็วมาก แค่ประมาณ 2 เดือนเท่านั้น ก็ได้เรือเหาะมาแล้ว ทั้งที่กระบวนการจัดซื้อทั่วไป และการผลิตเรือเหาะลำใหม่ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ

เรือเหาะแพงลิ่ว! ลำละ 350 ล้านบาท จัดซื้อด้วย “วิธีพิเศษ” เช่นเดิม ในยุค พล.อ.อนุพงษ์ ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นของมือสองในราคาแพงมากๆ ไม่เหมาะสมกับภารกิจ ใช้งานไม่คุ้มค่า การที่เรือเหาะจะบินได้ต้องอาศัยการเติม “ก๊าซฮีเลียม” ครั้งละ 700,000-800,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่บินได้ไม่กี่เที่ยว ก็มีข่าวว่าเสีย เพราะตัวลำรั่ว ค่าซ่อมแพง ทำให้น่าจะเป็นอีกผลหนึ่งที่กองทัพบกในยุค พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ต้องตัดสินใจปลดประจำการ “เรือเหาะ” เจ้าปัญหาลำดังกล่าวไปในปี 60 และไม่จัดหาเรือเหาะลำใหม่เข้ามาใช้งานในกองทัพอีกเลย

กรณีของ “เรือเหาะ” ของกองทัพบก กลับเงียบสงัดมาก ๆ จากหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตและโปร่งใสของประเทศ ทั้ง ป.ป.ช.และ สตง. ราวกับว่าเงิน 350 ล้านบาท เป็นเรื่องเล็กน้อย!