เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์สาทร กรุงเทพฯ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ร่วมปาฐกถาการประชุม German-Thai Conference ในหัวข้อ “The Future is Rail” และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงเพื่อความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมระบบรางในเยอรมนี และประธานสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางระบบราง และการขนส่งสาธารณะ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญภายใต้คำแถลงนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญต่อการกำหนดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการรถไฟของไทยตลอดจนยกระดับการให้บริการ นอกจากนี้ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในเขตปริมณฑลต่อไป ปัจจุบันมี 11 เส้นทาง และภายในปี 79 จะมี 14 เส้นทาง รวมระยะทาง 554 กิโลเมตร (กม.) ทั้งนี้ระบบรถไฟฟ้าไม่เพียงแต่ลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล แต่ยังช่วยปรับปรุงการสัญจรภายในเมืองอีกด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะพัฒนาระบบขนส่งไฟฟ้าในเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต และนครราชสีมา ในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาค อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยเล็งเห็นถึงการใช้รถไฟเป็นรูปแบบหลักในการเชื่อมต่อการขนส่งทุกรูปแบบ ตั้งแต่ท่าเรือทางทะเล สนามบิน และท่ารถบรรทุก โดยภายในปี 72 กระทรวงคมนาคมจะขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่เพิ่มจาก 173 กม. เป็น 3,327 กม. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและโลจิสติกส์ภายในประเทศ ปัจจุบันมีโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการเหล่านี้เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อทภายในภูมิภาคอาเซียน

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้วิจัยค้นคว้าและผลิตเทคโนโลยีระบบรางมาอย่างยาวนาน โครงการรถไฟฟ้าหลายโครงการได้ใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี จึงมั่นใจว่าฝ่ายเยอรมนีจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับในเยอรมนี ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.64 กระทรวงคมนาคมของไทยและเยอรมนีได้ลงนามในข้อตกลงขยายระยะเวลาร่วมประกาศเจตจำนง (JDI) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาทางรถไฟในประเทศไทย โดยขยายเวลา JDI 2 ครั้ง นับตั้งแต่ลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พ.ย.59 ความร่วมมือทวิภาคีภายใต้ JDI ได้นำไปสู่ความคิดริเริ่มที่มีแนวโน้มดีหลายประการ รวมถึงการจัดตั้ง GTRA ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยและเยอรมนี

โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนให้ความรู้และฝึกอบรมในทุกระดับ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทย ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Thai First เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป.