ผ่านไปแล้ว สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในวาระแรก วงเงิน 3,185,000,000,000 บาท โดยที่ประชุมสภามีมติ 278 ต่อ 194 งดออกเสียง 2 เสียง เห็นชอบรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้เมื่อดูบรรยากาศการอภิปรายในสภา เรียกได้ว่าเข้าตำรา “ลุ้นระทึก” จนเห็นได้ว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องไปนั่งคุมเกม-คุมเสียง ด้วยตัวเอง จนถึงนาทีสุดท้ายของการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกือบวงแตก จากกรณี ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ตบหน้า ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา กลางห้องประชุมสภา จากปัญหาเรื่องรายชื่อในคิวอภิปราย

ท่ามกลางวาทะร้อนทางการเมือง ที่ฝ่ายค้านต่างพากันตั้งฉายา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ดังกล่าวกันอย่างเจ็บแสบ ทั้งเปรียบว่าเป็นการจัดงบแบบ “ขอทานจัดงานเลี้ยงวันเกิด” เพราะในสภาพที่ประเทศยากจน แต่การจัดสรรงบไม่มีช่องทางที่ก่อให้เกิดรายได้ และจัดงบในเชิงกระจายไปตามพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อรักษาสถานะ ซื้อใจพรรคร่วม หรือการเปรียบเปรยว่า จัดงบประมาณแบบ “ถูกเรียกค่าไถ่จากพรรคร่วมรัฐบาล” ไม่ตอบโจทย์ ไม่ตรงสถานการณ์ ตั้งงบเอื้อประโยชน์พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงการเปรียบเป็น “ช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้” เพราะจัดงบอุ้มกระบวนการรัฐราชการ รัฐอุ้ยอ้าย ตลอดจนการตั้งฉายาว่า เป็น พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับ “ผีปอบกัดกินเครื่องใน” ถือเป็นการจัดงบที่เลวร้ายที่สุด ไม่คำนึงความเดือดร้อนของประชาชน แต่เหมือนกับการแบ่งเค้กจ่ายค่าไถ่ให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค

โดยเรื่องที่ถูกโจมตีในสภาอย่างหนัก คือการจัดงบประมาณในลักษณะเตรียมไว้แจกพรรคร่วมรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง รวมทั้งประเด็นการจัดทำงบประมาณขาดดุล จำนวน 6.95 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการกู้เงินเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลต่อฐานะการคลังหนี้สาธารณะคงค้างของประเทศ ให้ขยับเข้าใกล้เพดาน 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เข้าไปทุกขณะ

จับสัญญาณการเมืองจากการโหวตรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า แม้ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย จะพยายามโหมกระพือประเด็นแลนด์สไลด์นอกสภา แต่สถานการณ์ในสภากลับตาลปัตร เพราะรัฐบาลยังสามารถรวมเสียงข้างมากเอาชนะฝ่ายค้านในการโหวตสำคัญได้อีกครั้ง แบบเทเสียงแลนด์สไลด์ในสภาก็ว่าได้

หากวิเคราะห์จากผลโหวต จะเห็นได้ชัดว่ามีเสียงโหวตทิ้งห่างถึง 92 เสียง โดยมีเสียงจากฝ่ายค้านเพิ่มมาถึง 16 เสียง และที่สำคัญคือเสียงจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส. 7 รายโหวตสวนมติพรรค ที่น่าสนใจคือกลุ่ม 3 ส.ส.ศรีสะเกษ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีข่าว เข้าร่วมงานพรรคภูมิใจไทยสัญจร ที่ศรีสะเกษ เมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ก็แสดงออกผ่านผลโหวตสวนมติพรรคอย่างชัดเจน จนถูกมองว่า เสียงบวกเพิ่มจากฝ่ายค้านในครั้งนี้เป็นผลจาก “บิ๊กดีล” ของพรรคภูมิใจไทย ดังนั้นจึงน่าคิดว่าแลนด์สไลด์ทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยตีปี๊บมาโดยตลอดนั้น จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เมื่อยังมีคนของพรรคไหลออกย่างต่อเนื่อง!

ส่วนเสียงของพรรคฝ่ายรัฐบาลที่ถูกมองเป็นตัวแปรในสภา ทั้งในส่วนของพรรคเศรษฐกิจไทย และกลุ่มพรรคเล็ก ในครั้งนี้ก็โหวตไปในทิศทางเดียวกัน ภายหลังมีการส่งสัญญาณชัดจาก “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย

ขณะที่บรรยากาศภายนอกห้องประชุมสภากลับคุกรุ่น โดยเฉพาะบรรดาพรรคเล็กที่วิ่งต่อรองกันให้วุ่น จนทำเอา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตกอยู่ในสภาพคนถูก “บีบไข่” ไม่ต่างจากที่ เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เคยออกมาพูดเอาไว้ เพราะงานนี้ พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม และสมาชิกกลุ่ม 16 ออกมาพูดชัดว่า มีการไปต่อรองขอเก้าอี้กรรมาธิการงบประมาณฯ และได้เข้าร่วมในโควตากรรมาธิการงบของรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อย

บรรยากาศในสภาต่อจากนี้ไป ส่งผลให้รัฐบาลล้วนแล้วแต่จะต้องเจอกับ “เกมร้อน” แทบทั้งสิ้น ยังมีโจทย์ร้อนที่รัฐบาลจะต้องเผชิญในสภาอีกไม่น้อย ทั้งการพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในช่วงกลางเดือน มิ.ย.

นอกจากนั้นยังมีปมร้อน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272  ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในช่วงหลังจากนี้ ซึ่งโจทย์ร้อนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยทำให้ “อุณหภูมิทางการเมือง” หลังจากนี้ร้อนระอุมากยิ่งขึ้น!

และจะต่อยอดความร้อนแรงแบบเดือดพล่านกันด้วย “ศึกซักฟอก” ที่ฝ่ายค้านเริ่มโหมโรงเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ในวันที่ 15 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยมีการกางโจทย์ล็อกเป้ารัฐมนตรีที่จะต้องขึ้นเขียง ไล่ตั้งแต่ “บิ๊กตู่” ที่ถูกหมายหัวอันดับแรก นอกจากนั้นยังมีชื่อรัฐมนตรีหลายคนที่ถูกพูดถึง อาทิ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง รวมถึงรัฐมนตรีชายที่ดอกไม้บานในหัวใจถูกอภิปรายด้วย

ทั้งนี้คงจะต้องรอดูกันว่า ข้อมูลของพรรคฝ่ายค้านที่จะใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้น จะมีไม้เด็ดจนทำเอาเก้าอี้นายกฯ หรือรัฐมนตรี สั่นสะเทือนได้หรือไม่ และจุดสำคัญที่จะต้องจับตาดูไม่แพ้กัน ก็คือความเคลื่อนไหวของกลุ่มพรรคเล็ก ที่อาจจะเกิดเอฟเฟกต์ “ผู้กองธรรมนัส” ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งก็ยังต้องรอลุ้นกันต่อไปว่ารัฐบาลจะยังสามารถคุมเสียง ส.ส.ในกลุ่มนี้ได้อยู่หรือไม่

อย่างไรก็ตามสภาพรัฐบาลตอนนี้ออกกอาการถูลู่ถูกังอย่างชัดเจน การจะเดินไปให้ครบวาระอย่างยากเย็นแสนเข็ญ ที่สำคัญยังถูกเทียบฟอร์สภาวะผู้นำกับ “ผู้ว่าฯ กทม.ป้ายแดง” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่กำลังกลายเป็นกระแสฟีเวอร์อยู่ในตอนนี้ ซึ่งหากจะเทียบตามตำราไทยก็จะเข้ากับสำนวนที่ว่า “ขี้ใหม่หมาหอม” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะสภาพการเป็นคนใหม่-ของใหม่ ย่อมได้รับความนิยมเป็นธรรมดา

หากจะย้อนมองอดีตที่ผ่านมาจะพบว่ากระแสฟีเวอร์ “ขี้ใหม่หมาหอม” แบบนี้ เคยเกิดขึ้นกับ “บิ๊กตู่” มาก่อน เมื่อครั้งทำการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ที่ถูกคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ ยุติสงครามสีเสื้อ ของกลุ่มต่างๆ จนกลายเป็นการต่อยอดสโลแกนในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 ว่า “รักสงบจบที่ลุงตู่” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นหนึ่งปัจจัยที่พรรคพลังประชารัฐได้รับความนิยมในห้วงเวลานั้น

แต่ในกรณีของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ยังมีเวลาให้พิสูจน์ผลงานอีก 4 ปี ว่าจากการเอาชนะเลือกตั้ง กทม.ได้แบบแลนด์สไลด์แล้ว จะสามารถใช้เป็นแต้มบุญต่อไปยังเก้าอี้นายกฯ ได้หรือไม่

ขณะที่ “บิ๊กตู่” นาทีนี้ ก็พูดได้ว่าระยะทางพิสูจน์ม้าการเวลาพิสูจน์ศรัทธา เพราะตอนนี้แต้มบุญที่เคยมีมาแทบจะใช้ไปจนหมด แรงศรัทธาที่ประชาชนเคยมีก็แทบจะไม่มีหลงเหลือ เสียงชื่นชมเซ็งแซ่เมื่อครั้งนั้น เปลี่ยนเป็นเสียงก่นด่าอื้ออึงดังระงม ถึงตอนนี้เรียกได้ว่าลำพังแค่รัฐบาลจะล่องเรือให้อยู่ได้ครบวาระก็เป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญแล้ว และที่สำคัญยังสะท้อนให้เห็นได้ชัดเลยว่า “บิ๊กตู่” เดินคนเดียวบนเส้นทางอำนาจไม่ได้ ต้องมี “พี่ใหญ่” คอยประคองอยู่ตลอด

ปัญหาสำคัญของรัฐบาลตอนนี้คือ รอยร้าวภายในของรัฐบาลเอง ที่ว่าจะประคองกันไปได้ขนาดไหน โดยเฉพาะในห้วงเวลาหลังศึกซักฟอก หากรัฐบาลสามารถเอาตัวรอดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ ก็ยังต้องเผชิญกับเกม “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” จากโจทย์ที่พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ต่างต้องงัดไพ่ใบสุดท้ายออกมาเล่นเพื่อโกยคะแนนนิยมจากประชาชน ตุนเป็นเสบียงกรังไว้ใช้สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ถึงตอนนั้น “เกมโหด-โฉด” คงจะเกิดขึ้นให้ได้เห็นกัน!

จากบริบททั้งหมดทั้งมวล มองดูแล้วหนทางการเมืองข้างหน้าสำหรับ “บิ๊กตู่” และ “รัฐบาลเรือเหล็ก” คงจะมีแต่ความสะบักสะบอมรออยู่ที่ปลายทางก็ว่าได้.