เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” หรือแบงก์ชาติ ได้เผยแพร่เอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปีโดย 3 เสียง เห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากอุปสงค์ในประเทศและแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มากและนานกว่าคาด มองไปข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง

ทั้งนี้ กรรมการ 4 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อนในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด โดยจะติดตามพัฒนาการของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด และเห็นควรให้เริ่มสื่อสารทิศทางนโยบายการเงินอย่างชัดเจนต่อสาธารณชนในครั้งนี้ ส่วนกรรมการ 3 ท่าน เห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากการประชุมครั้งก่อน

โดยการฟื้นตัวของอุปสงค์จาก pent-up demand และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจมากกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนอาจมากกว่าคาดโดยเฉพาะการส่งผ่านไปยังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่าน จึงควรเริ่มปรับขึ้นในครั้งนี้และทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

-คณะกรรมการฯ เห็นพ้องว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ จาก (1) การบริโภคภาคเอกชนที่อาจเร่งขึ้นมากกว่าในกรณีฐาน จากอุปสงค์คงค้างจากช่วงก่อนหน้า (pent-updemand) โดยเฉพาะกลุ่มรายได้สูงและรายได้ปานกลางที่ยังมีกำลังซื้อและอาจกลับมาใช้จ่ายมากกว่าที่ประเมินไว้ (2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติภายหลังการเปิดประเทศอาจเพิ่มขึ้นได้มากกว่าคาด และ (3) การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะช่วยให้รายได้ของผู้ประกอบการและลูกจ้างในภาคบริการที่เกี่ยวข้องปรับดีขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังมีความไม่แน่นอน โดยต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและจีนที่อาจชะลอลงในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจคู่ค้าและภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

-คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะจาก (1) ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในระยะข้างหน้า โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจคงตัวอยู่ในระดับสูงมากหรือนานกว่าคาด เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอาจเพิ่มปริมาณการผลิตได้ไม่มากนัก ผลจากมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานต่อรัสเซียที่จะอาจยาวนานกว่าคาด รวมถึงอุปสงค์น้ำมันที่อาจปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ (2) การส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศ โดยผู้ประกอบการอาจส่งผ่านต้นทุนมากและเร็วกว่าที่คาด จากภาวะที่ต้นทุนหลายด้านสูงขึ้นพร้อมกันทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าพลังงาน และค่าแรง อีกทั้งเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในหลายหมวดสินค้ามากขึ้น

-คณะกรรมการฯ เห็นว่าน้ำหนักของความเสี่ยง (balance of risks) ในการตัดสินนโยบายการเงินเริ่มเปลี่ยนไปจากการประเมินครั้งที่แล้ว โดยน้ำหนักความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจปรับลดลง ขณะที่น้ำหนักความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง และควรให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินนโยบายการเงินที่ทันการณ์ รวมทั้งควรสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) เพื่อรองรับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

-คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินต้องชั่งน้ำหนัก (trade-off) ระหว่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การดูแลเงินเฟ้อ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินอย่างรอบด้าน โดยข้อสรุปจากประเด็นอภิปรายที่คณะกรรมการมีความเห็นสอดคล้องกัน ได้แก่

(1) หากอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจะทำให้รายได้ที่แท้จริงของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับลดลง โดยกำลังซื้อที่ถูกลดทอนลงอาจกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องอาจส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้า จนกระทบกลไกการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ รวมถึงค่าจ้างได้ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ต่ำเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะหากทัศนคติเกี่ยวกับเงินเฟ้อหรือ inflation psychology เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

(2) ภายใต้ภาวะที่เงินเฟ้อมีความเสี่ยงสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช้าเกินไปอาจก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบัน ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับลดลง และเปรียบเสมือนการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้นโดยปริยาย ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มเติมได้และหากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องจนไม่สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของธุรกิจและประชาชนได้อาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแรงขึ้นในภายหลังเพื่อดูแลเงินเฟ้อซึ่งเป็นกรณีที่ไม่พึงประสงค์ เพราะรายได้ ค่าครองชีพและภาระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะถูกกระทบมากยิ่งกว่า ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงควรเริ่มในช่วงเวลาที่เหมาะสมและทันการณ์เพื่อสามารถดำเนินนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป

(3) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเอื้อให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่น จะส่งผลกระทบอย่างจำกัดต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว การฟื้นตัวของรายได้จะช่วยให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสามารถรองรับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะเพิ่มต้นทุนต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยรวมไม่มากนัก และน้อยกว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อหลายเท่า อย่างไรก็ดี สำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มที่ยังเปราะบางโดยรายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง อาจมีความอ่อนไหวต่อภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มรายได้สูง

-คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการเฉพาะจุดเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางดังกล่าว เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ โดยอาจปรับให้เหมาะสมตามช่องทาง เช่น ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบางได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิผลมากกว่านโยบายการเงินที่เป็นเครื่องมือที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง (blunt tool)

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประเมินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายทั้งสามด้านดังกล่าวตามแนวโน้มและความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์และประสิทธิผลของเครื่องมือเชิงนโยบายด้านอื่น ๆในภาพรวมควบคู่ไปด้วย ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า

“คณะกรรมการฯ จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบและประสิทธิผลของนโยบายในระยะปานกลางเป็นสำคัญ”