เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำพากษายืนตามศาลปกครองกลางยกฟ้องในคดีที่ บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “เอไอเอส” ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง กสทช. ที่ให้ชำระค่าปรับทางปกครองอัตราวันละ 100,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 2555 จากกรณี เอไอเอสบังคับให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประเภทเติมเงินต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด

โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เอไอเอสกำหนดเงื่อนไขการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า หรือเติมเงิน อันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) และเมื่อเอไอเอส ไม่แก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้อง เลขาธิการ กทช. จึงมีอำนาจกำหนดค่าปรับทางปกครอง เป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าว บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องเลขาธิการ และคณะกรรมการ กสทช. หรือ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) เดิม โดยขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งเลขาธิการ กทช. ที่สั่งให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ชำระค่าปรับทางปกครองอัตราวันละ 100,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 2555 เป็นต้นไป จนกว่า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จะปฏิบัติตามคำสั่งเลขาธิการ กทช. ลงวันที่ 25 เม.ย.2554 ที่สั่งให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ที่กำหนดว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคมโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้า หรือประเภทเติมเงิน ต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้ในระยะเวลาที่กำหนด และให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ในกรณีที่ ให้บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กำหนดเงื่อนไขการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเติมเงิน เมื่อผู้ใช้บริการเติมเงิน 50 บาท สามารถใช้บริการได้ภายใน 5 วัน หรือเติมเงิน 300 บาท สามารถใช้บริการได้ภายใน 30 วัน หรือเติมเงิน 500 บาท สามารถใช้บริการได้ภายใน 50 วัน หรือเติมเงิน 1,500 บาท สามารถใช้บริการได้ภายใน 365 วัน อันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ กทช.ดังกล่าว

โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กำหนดเงื่อนไขการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า หรือเติมเงิน อันมีลักษณะเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กทช. ที่มีอำนาจหน้าที่ในขณะนั้น อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ประกอบ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 เลขาธิการ กทช. ย่อมมีอำนาจสั่งให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ในฐานะผู้รับใบอนุญาตระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือเหมาะสม ภายในระยะเวลาที่กำหนด

และเมื่อพ้นระยะเวลาที่เลขาธิการ กทช.กำหนด แต่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ยังมิได้ดำเนินการปรับปรุงเงื่อนไขตามคำสั่ง เลขาธิการ กทช. จึงมีอำนาจกำหนดค่าปรับทางปกครองแก่กรณีของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายไม่อาจรับฟังได้ว่าขัดหรือแย้งกับหลักนิติธรรมและสิทธิที่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เคยได้รับ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ กทช. เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2555 ที่มีมติยืนตามคำสั่งของเลขาธิการ กทช. จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ฟังไม่ขึ้น การที่ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย.