เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาบรรยายพิเศษ เรื่อง “90 ปี รัฐสภาไทย การเดินทางและความหวัง” ภายในงานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี รัฐสภาไทยโดยนายชวน กล่าวตอนหนึ่งว่า กระบวนการประชาธิปไตยไม่ได้ราบรื่น พูดได้เต็มปากว่าล้มลุกคลุกคลาน มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะบางสมัยระบบนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง บางสมัยมาจากการแต่งตั้ง ในส่วนของระบบการเลือกตั้งมีความเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ช่วงแรกเป็นระบบรวมเขต แต่ในภาพความเป็นจริงเป็นเรื่องยากที่ในจังหวัดใหญ่จะมีเขตเดียว ต่อมาในปี 2518 เป็นจุดเริ่มต้นของระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยกำหนดเขตละไม่เกิน 3 คน ถือเป็นความก้าวหน้าชัดเจน ระบบนี้ใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ เรื่อยมา และเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี 2540 ที่มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ต่อมาปี 2562 ก็เปลี่ยนแปลงเรื่องการคิดคะแนน

“ทูตเยอรมนีมาคุยเรื่องระบบเลือกตั้งกับผม บอกว่าที่ไทยใช้อยู่ขณะนี้ เยอรมนีเคยใช้ แล้วมีปัญหา จึงกลับไปใช้แบบที่ไทยได้ยกเลิกไป” ประธานรัฐสภา กล่าว

ประธานรัฐสภา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เราคิดว่าดีในที่สุดก็มีปัญหา พฤติกรรมของคนใช้รัฐธรรมนูญ หลายครั้งทำให้เกิดวิกฤติเพราะการเมืองเข้าไปแทรกแซง ผู้บริหารใช้วิธีการบริหารด้วยการเลือกปฏิบัติ และใช้วิธีการนอกหลักนิติธรรม ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือปัญหาภาคใต้ เกิดจากความผิดพลาดของบุคคลที่มาจากระบบการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย แต่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตยในการบริหาร ไปใช้หลักนอกนิติธรรม

นั่นคือนโยบายวันที่ 8 เม.ย.2544 คือวันที่เริ่มนโยบายเกิดวิกฤติในภาคใต้ เป็นนโยบายเก็บฆ่าทิ้ง สันนิษฐานว่าพื้นที่ภาคใต้มีขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.) ไม่เกิน 40-50 คน บอกว่าเป็นพวกโจรกระจอกแล้วจัดการเสีย ตนถือว่าเป็นเหตุการณ์วิกฤติใน 90 ปี ที่เราไม่เคยสูญเสียขนาดนี้ เฉลี่ยผู้เสียชีวิตต่อเนื่องจากเหตุการณ์จนถึงวันนี้ไม่น้อยกว่า 5-6 พันคน ทั้งที่ปัญหาในพื้นที่มีการแก้ไขเยียวต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่สมัย ร.5-ร.6 แต่พอนโยบายวันที่ 8 เม.ย.2544 ออกมาว่าจะแก้ปัญหาหมดใน 3 เดือน ด้วยวิธีเก็บฆ่าทิ้งเดือนละ 20 คน จึงเป็นเงื่อนไขที่มาของทุกวันนี้ ทำให้ทุกวันนี้รัฐบาลต้องใช้เงินเป็นแสนล้านบาทในการแก้ปัญหาซึ่งปัญหายังไม่จบ

“วิกฤติรุนแรงที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงประเทศมีไม่มาก นอกจากเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องอื่นเราก็สามารถแก้ปัญหากันได้ ความมั่นคงในระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงมาจนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมีความผูกพันกับสถาบัน และรับไม่ได้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบอื่น” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองน่าเป็นห่วง อดีตความรุนแรงมีอยู่บ้าง แต่ไม่มีการซื้อเสียง อย่างดีคือเลี้ยงเหล้า แต่ตอนนี้ไม่มีใครพูดเรื่องเลี้ยงเหล้าแล้ว เป็นเรื่องธุรกิจการเมืองคำว่าเสียงสามร้อย ห้าร้อย แปดร้อย สมัยก่อนไม่มี นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงในการเมืองเช่นนี้ ซึ่งต้องเอาทุนคืน เป็นที่มาของการทุจริตโกงกิน สภาจึงไม่นิ่งดูดาย เป็นที่มาของโครงการ “บ้านเมืองสุจริต” โดยเน้นย้ำ รณรงค์เรื่องความสุจริตให้เด็กฟัง

นายชวน กล่าวว่า 90 ปี วินัยของเรายังไม่ดีเท่าที่ควรก่อให้เกิดปัญหาร้อยแปดเราต้องให้ความสำคัญเรื่องวินัย เพราะคุณภาพคนเป็นสิ่งสำคัญเป็นโจทย์สำคัญที่จะทำให้ประเทศพัฒนาไปในวันข้างหน้า ทั้งนี้ ช่วงที่เกิดวิกฤติต่อตำแหน่งรัฐมนตรี นักการเมืองมากที่สุดคือช่วงตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ไม่มียุคใดที่มีรัฐมนตรีติดคุกมากเท่าช่วงนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความเชื่อเรื่องการหาผลประโยชน์และความไม่เชื่อเรื่องหลักนิติธรรมการปกครองด้วยหลักคุณธรรม ถือเป็นบทเรียนสำคัญมาก เราต้องไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้มาทำลายสถิติ 100 ปีข้างหน้า อย่ามาทำลายสถิติคนติดคุก นี่คือวิกฤติของบ้านเมืองอันเกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต.