เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่… พ.ศ. … กล่าวถึงกรณีมีความพยายามผลักดันการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยเอา 500 หาร ว่าเรื่องหาร 500 นั้น กมธ.เสียงข้างน้อย รวมถึง ส.ว. บางส่วนได้เสนอคำแปรญัตติและสงวนความเห็นไว้ประมาณ 5-6 ญัตติด้วยกัน ซึ่งคงต้องไปพิจารณากันในรัฐสภา เหตุผลที่ กมธ.ฝ่ายเสียงข้างมากเห็นว่าต้องหารด้วย 100 นั้น มีหลายเหตุผล เรื่องแรกคือ ร่างแก้ไข พ.ร.ป.ทั้ง 4 ร่าง โดยเฉพาะร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณา และเป็นร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอใช้ 100 หารด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีร่างใดเลยที่ใช้ 500 หาร เป็นหลักการคำนวณสัดส่วนเพื่อหา ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อในระบบคู่ขนาน บัตรสองใบ แยกกันนับ ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในวาระที่ 1 ไปแล้ว จึงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการกลับไปใช้วิธีคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวได้

สูตรคำนวณโดยใช้ 100 หารนั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) พ.ศ.2564 มาตรา 91 ที่กำหนดวิธีการคำนวณโดยเอาคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับมารวมกันทั้งประเทศ แล้วแบ่งจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกของแต่ละพรรคเป็นสัดส่วนสัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมของพรรคการเมืองทั้งประเทศ ถ้อยคำเช่นนี้เคยใช้มาแล้วในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 โดยรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2554 ซึ่งเป็นบัตรสองใบ แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ เพียงแต่มีการนำเอา 10 ไปหาร เพราะครั้งแรกแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด มี ส.ส.บัญชีรายชื่อกลุ่มละ 10 คน ต่อมาเอา 125 ไปหาร เพราะแบ่ง ส.ส. เป็นเขต 375 บัญชีรายชื่อ 125 การเลือกตั้งครั้งนี้ มี ส.ส.เขต 400 บัญชีรายชื่อ 100 จึงต้องเอา 100 ไปหาร หากเอา 500 ไปหาร จะขัดต่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 91 อย่างแน่นอน

นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนเหตุผลที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญยังคงมี ส.ส.พึงมีไว้ในมาตรา 93 และ 94 นั้น เป็นบทบัญญัติที่คิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ เพราะมีการเลือกตั้งส.ส. เขตใหม่ซึ่งเป็นเรื่องใช้บัตรใบเดียว เอาคะแนน ส.ส.เขตมาคำนวณ แต่เมื่อเป็นบัตรสองใบแยกกันนับ ไม่มีกรณีที่ต้องเอาคะแนน ส.สเขตมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจึงไม่มีกรณี ส.ส.พึงมีตามมาตรา 93 และ 94 แล้ว ตนเห็นว่าสิ่งที่ดำเนินการไปนั้น ยืนอยู่บนฐานของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 91 หลักการของร่างแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งทั้ง 4 ร่าง การคิดคำนวณคะแนนในระบบคู่ขนานที่เคยใช้มาแล้วทั้งการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540, 2550, 2554 โดยลำดับ

ทางด้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคพท. และรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่… พ.ศ. … ว่า ร่างกฎหมายเลือกลูกทั้งสองฉบับจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วันที่ 5-6 ก.ค. แต่วันนี้มีหลายข่าวทำให้ประชาชนสับสน โดยเฉพาะสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าจะหารด้วย 100 หรือ 500 ซึ่งขณะนี้ทุกร่างที่มีการเสนอเข้าไปในชั้นรับหลักการ มีหลักการเดียวกันคือหารด้วย 100 แต่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยพยายามบอกว่าหารด้วย 100 ไม่ถูกต้อง ซึ่งการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว จะเป็นตายร้ายดีก็หารด้วย 100 

การที่พรรคเล็กบอกเสียประโยชน์ คิดแบบนี้บ้านเมืองวุ่นวายไปหมด พรรคเล็กต้องทำตัวให้ใหญ่ขึ้น ไม่อย่างนั้นก็ย้ายไปอยู่พรรคใหญ่หากอยากเป็นผู้แทน อย่าดิ้นเอาสูตรหาร 500 นี่จึงเป็นที่มาของการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้พี่น้องได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้มากขึ้น ทั้งนี้ยืนยันว่าฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรค พท. และพรรคก้าวไกล จะผนึกกำลังกันยืนยันว่าหารด้วย 100 หากมีเสียงไม่เห็นด้วยก็ไม่วิตกกังวลเพราะเป็นเรื่องของรัฐสภา หากวินิจฉัยกันแบบไม่มีเหตุผล ก็ไม่ต้องมีรัฐสภา ให้ผู้มีอำนาจเขียนกันเองไปเลย ส่วนบัตรสองใบเบอร์เดียวกันนั้น เสียงโหวตในชั้น กมธ.ของพรรค พท.แพ้ แต่เราสงวนคำแปรญัตติไว้ ซึ่งควรทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เราไม่ซีเรียส แต่ถ้าเบอร์เดียวกัน ประชาชนจะจำง่าย ก็จะสู้ในสภาฯ ต่อไป.