รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ขบวนรถไฟโดยสาร เส้นทาง ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ (มาเลเซีย) ได้รับการตอบรับจากผู้โดยสารอย่างคึกคัก หลังจาก รฟท.ได้กลับมาเปิดให้บริการในเส้นทางดังกล่าวอีกครั้ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรองรับการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเส้นทางนี้ปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประมาณเดือน มี.ค.63 รวมแล้วปิดให้บริการมานานกว่า 2 ปี  

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า รฟท. เปิดให้บริการเส้นทาง ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 4 ขบวน (ไป-กลับ) ประกอบด้วย ขบวนที่ 947 หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ออกจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ เวลา 07.30 น. ถึงสถานีปาดังเบซาร์ เวลา 08.25 น., ขบวนที่ 948 ปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ เดินทางออกจากสถานีปาดังเบซาร์ เวลา 08.55 น. ถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่ เวลา 09.50 น., ขบวนที่ 949 หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ออกจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ เวลา 14.00 น. ถึงสถานีปาดังเบซาร์ เวลา 14.55 น. และขบวนที่ 950 ปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ ออกจากสถานีปาดังเบซาร์ เวลา 15.40 น. ถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่ เวลา 16.35 น.  โดย 1 ขบวนพ่วง 5 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 350 คน  

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า เส้นทางชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มีระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร (กม.) ค่าโดยสาร 50 บาท ใช้เวลาการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ขณะนี้มีผู้โดยสารมาใช้บริการเฉลี่ยกว่า 100 คนต่อขบวน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ มีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซีย เดินทางด้วยรถไฟของมาเลเซีย มาลงที่สถานีปาดังเบซาร์ แล้วต่อขบวนรถไฟจากปาดังเบซาร์ เดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา และบางส่วนก็เดินทางต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ ก็จะมาลงที่สถานีปาดังเบซาร์ เพื่อต่อรถไฟของมาเลเซีย เพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองบัตเตอร์เวอร์ธ (รัฐปีนัง) ประเทศมาเลเซีย  

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับเส้นทาง ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 6.66 พันล้านบาท ได้รับการบรรจุอยู่ในโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ (เฟส) ที่ 2 ด้วย ซึ่ง รฟท. อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอขออนุมัติโครงการไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย ปี 58-65 เพื่อพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงประตูการค้า และเมืองหลักในภูมิภาค เชื่อมไปยังประเทศมาเลเซีย ตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม ประกอบด้วย 4 สถานี ได้แก่ สถานีชุมทางหาดใหญ่, สถานีศาลาทุ่งลุง, สถานีคลองแงะ, สถานีปาดังเบซาร์ และยังมีป้ายหยุดรถอีก 3 ป้าย คือ บ้านพรุ, คลองรำ และท่าข่อย.