เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ประชาสัมพันธ์ถึงกฎกระทรวงกำหนดความเร็วในทางพิเศษมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 65 โดยกำหนดความเร็ว “ทางยกระดับ” รถยนต์ 4 ล้อ ไม่เกิน 100 กม./ชม. รถบรรทุก (>2.2 ตัน) และ รถโดยสาร (>15 คน) ไม่เกิน 80 กม./ชม. และรถโรงเรียน-รับส่งนักเรียน ไม่เกิน 80 กม./ชม. พร้อมทั้งกำหนดความเร็ว “ระดับดิน” รถยนต์ 4 ล้อ ไม่เกิน 110 กม./ชม. รถบรรทุก (>2.2 ตัน) และ รถโดยสาร (>15 คน) ไม่เกิน 90 กม./ชม. และรถโรงเรียน-รับส่งนักเรียน ไม่เกิน 90 กม./ชม.

สำหรับประกาศกฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถ พ.ศ.2564 อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522  โดยนายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 64  มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 240 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 ก.ค.65 เป็นต้นไป โดยกฎกระทรวงที่ออกมาน่าจะทำให้เกิดความสับสนกับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง เนื่องจากมีรายละเอียดที่แตกต่างจากกฎกระทรวง (คมนาคม) ที่กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงชนบทที่กำหนด ซึ่งลงนามโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 4 มี.ค.64 

โดยขอหยิบยกตัวอย่างเฉพาะการให้ใช้ความเร็วสำหรับรถส่วนบุคคลกฎกระทรวงคมนาคมในช่องขวาสุดไม่เกิน 120 กม.ต่อ ชม. จากเดิมไม่เกิน 90 กม.ต่อ ชม. และห้ามใช้ความเร็วช่องขวาสุดต่ำกว่า 100 กม.ต่อ ชม. บนทางหลวงที่กำหนด (มีช่องจราจรทิศทางละ 2 ช่อง มีแบริเออร์แบ่งทิศทางจราจรและไม่มีจุดกลับรถพื้นราบ)

ขณะที่กฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.จราจร กำหนดรายละเอียด อาทิ ทางเดินรถนอกเขตเมืองรถส่วนบุคคลให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กม.ต่อ ชม. หากจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป และมีเกาะกลางถนน ให้ใช้อัตราความเร็วรถส่วนบุคคลไม่เกิน 100 กม.ต่อ ชม. การขับรถบนทางพิเศษ และทางเดินรถอยู่ในระดับเหนือ หรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำให้ใช้ความเร็วรถส่วนบุคคลได้ไม่เกิน 100 กม.ต่อ ชม. หากอยู่ในทางเดินรถที่ได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 3 ช่องขึ้นไป ให้ช่องขวาสุดต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 90 กม.ต่อ ชม. เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้นมีข้อจำกัดด้านการจราจร หรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น

ส่วนการขับรถในทางเดินรถบนทางพิเศษ และทางเดินรถในระดับพื้นดินให้ใช้อัตราความเร็ว ไม่เกิน 110 กม.ต่อ ชม. และหากจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 3 ช่องขึ้นไป ให้การขับรถในช่องเดินรถช่องขวาสุด ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 90 กม.ต่อ ชม. ทั้งนี้กรณีที่มีการออกกฎกระทรวงตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้ใช้อัตราความเร็วตามที่กฎกระทรวงนั้นกำหนด  

รายงานข่าวจาก กทพ. แจ้งว่า ก่อนหน้านี้ได้หารือกับตำรวจถึงการออกฎกระทรวง โดยวิเคราะห์ทางด้านวิศวกรรมร่วมกันจนได้ข้อสรุปว่าทางด่วนที่เป็นทางยกระดับ ให้ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 100 กม.ต่อ ชม. ส่วนทางด่วนที่เป็นพื้นราบ ให้ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 110 กม.ต่อ ชม. ขณะนี้ กทพ. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ได้ปรับปรุงป้ายจราจร ให้สอดคล้องกับการกำหนดอัตราความเร็วใหม่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ใช้ผู้ใช้ทางทราบแล้ว

อย่างไรก็ตาม กทพ. ไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ.2550 (มาตรา 42) กำหนดให้นำ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาใช้บังคับแก่การจราจรในทางพิเศษโดยอนุโลม ปัจจุบันในเขตเมือง จำกัดความเร็วรถทั่วไปไม่เกิน 80 กม./ชม. ส่วนนอกเขตเมือง จำกัดความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. ดุลพินิจการบังคับใช้ รวมทั้งการเปรียบเทียบปรับ เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ.