รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ขณะนี้ รฟท. ได้นำหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) “อุลตร้าแมน” มาทดสอบเดินรถบนเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เพื่อทดสอบระบบต่างๆ อาทิ การเดินรถ, ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (Automatic Train Protection : ATP) มาตรฐานควบคุมรถไฟของยุโรป (ETCS) โดยครั้งที่ 1 ได้ทดสอบเฉพาะหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า และครั้งล่าสุดครั้งที่ 2 ได้พ่วงกับขบวนรถไฟด้วย เพื่อทดสอบน้ำหนักของขบวนรถ กับระบบเบรก และระยะเบรกว่าจะสามารถเบรกได้อย่างราบรื่นหรือไม่ เบื้องต้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่พบปัญหาใด

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า หลังจากนี้ยังต้องทดสอบหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าในหลายรูปแบบก่อน เพื่อให้ระบบเกิดความเสถียร และมีความปลอดภัยในการนำมาให้บริการ โดยการทดสอบครั้งต่อไป อาทิ การนำหัวรถจักรฯ พ่วงกับขบวนรถ และเข้ามาวิ่งในทางเดียวกันพร้อมกัน 2 คัน และสุดท้ายจะเป็นการทดสอบเดินรถร่วมกับขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดง เป็นต้น อย่างไรก็ตามในการทดสอบครั้งที่ 1 และ 2 ที่ผ่านมานั้น รฟท. ได้นำหัวรถจักรฯ มาทดสอบประมาณ 2 คัน เตรียมจะนำหัวรถจักรฯ ที่รับมาใหม่ที่เหลืออีก 18 คันขึ้นมาทดสอบให้ครบทุกคัน เบื้องต้นคาดว่าเมื่อการทดสอบคันที่ 1 และ 2 เรียบร้อยดี อีก 18 คัน ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไรเช่นกัน โดยจะพยายามทดสอบอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเปิดให้บริการ

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับแผนการเปิดให้บริการรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ ให้มีต้นทางและปลายทางจากเดิมที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางบางซื่อนั้น จะขยับจากเดิมวันที่ 1 ก.ย.65 เป็นประมาณเดือน ธ.ค.65 ซึ่งเมื่อทราบวันที่ชัดเจนจะแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ก่อนหน้านี้กำหนดว่าจะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.65 นั้น เนื่องจากดูตามแผนการทดสอบหัวรถจักรใหม่แล้วน่าจะแล้วเสร็จทันกำหนด แต่ปรากฏว่าในการติดตั้งระบบ ATP ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยควบคุมระยะห่างของขบวนรถแต่ละคันให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน มีปัญหาทางเทคนิคเล็กน้อย จึงทำให้การทดสอบต่างๆ ล่าช้าออกไป             

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เบื้องต้นที่สถานีกลางบางซื่อ จะให้บริการรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ทุกเส้นทาง ทั้งสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ แต่ในระยะแรกจะนำมาให้บริการกี่ขบวนนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะยังมีขบวนรถบางส่วน ห้องน้ำยังไม่ได้เป็นระบบปิด ส่วนสายตะวันออก และรถไฟเชิงสังคมทุกเส้นทาง ยังคงให้บริการต้นทาง และปลายทาง ที่สถานีหัวลำโพง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้ทดสอบเดินรถไฟทางไกลบนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งราบรื่นดี ไม่มีปัญหาใด

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำหรับรถจักรดีเซลไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา พร้อมอะไหล่ 50 คัน วงเงิน 6,525 ล้านบาท โดย รฟท. รับมอบจากกิจการร่วมค้า เอสเอฟอาร์ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท ซานโฟโก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ในระยะ (เฟส) ที่ 1 จำนวน 20 คัน ส่วนที่เหลืออีก 30 คันในเฟสที่ 2 คาดว่าจะส่งมอบให้ รฟท. ได้ปลายปี 65 ทั้งนี้รถจักรดีเซลไฟฟ้าใหม่นี้ จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ รฟท.

ขอบคุณภาพประกอบจาก “สุดหล่อ”