ที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เมื่อวันที่ 11 ส.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังประชุมติดตามการดำเนินงานของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) ว่า  สวพ.เป็นอีก 1 หน่วยงานที่สำคัญมาก หลายครั้งคนจะมองว่าผังเมืองคือตัวที่เกิดปัญหา เช่น เรื่องน้ำท่วม การจราจร แต่การปรับแก้ผังเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีความซับซ้อนในหลายด้าน ปัจจุบันผังเมือง แบ่งเป็นสี ประกอบด้วย สีแดง สีส้ม สีน้ำตาล สีเหลือง แบ่งการใช้งานตามประเภทสี เช่น สีแดงเป็นพาณิชย์ สีม่วงเป็นอุตสาหกรรม สีส้มเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่น เป็นต้น แต่ผังสีดังกล่าว เหมือนเป็นผังที่กำหนดราคาที่ดิน และกำหนดว่าในแต่ละพื้นที่สร้างสูงสุดได้มากเท่าใด ไม่ได้บอกว่าควรจะสร้างอะไร กลายเป็นว่าคนที่อยู่ในผังสีนั้น ต้องการจะสร้างในสิ่งที่ได้ค่าตอบแทนที่สูงที่สุด ทำให้รูปแบบของเมืองพัฒนาในรูปแบบความต้องการราคาและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด ดังนั้น จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่พยายามตอบโจทย์อนาคตว่าผังเมืองควรกำหนดทิศทางของเมือง มากกว่ากำหนดว่าสร้างอะไรได้มากที่สุดในพื้นที่ เพราะจริงๆ หากสร้างสูงสุดตามผังเมือง กรุงเทพฯ อยู่ได้ถึง 40 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงผังเมืองใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการทบทวนข้อกำหนดต่างๆให้ดี ซึ่งจะเร่งดำเนินการ รวมถึงนำผังเมืองมากำหนดทิศทางเมือง และการจัดทำเมืองใหม่ในเขตรอบนอก ปัจจุบัน เรายังไม่มีเมืองใหม่ที่สมบูรณ์แบบ โดยอาจจะหาพื้นที่บริเวณลาดกระบัง ร่มเกล้าหรือบางขุนเทียน สร้างเมืองใหม่ในอุดมคติ อาจจะเป็นพื้นที่ของหน่วยราชการที่มีพื้นที่อยู่ เช่น การเคหะแห่งชาติมีที่ว่างหลายร้อยไร่ แล้วทำการพัฒนาเมืองใหม่ที่ไม่ใช่มีเฉพาะที่อยู่อาศัย มีสำนักงาน มีโรงเรียน มีสวนสาธารณะ การคมนาคม โรงพยาบาล โดยให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองไปหารือร่วมกัน เพื่อออกแบบผังเมืองให้สามารถพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์ในตัวเอง เพื่อลดการเดินทางเข้ามาในเมืองใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นแนวคิดที่อาจจะเริ่มพัฒนาพื้นที่บางแปลงที่มีขนาดใหญ่พอ เช่น ฝั่งมีนบุรี ซึ่งได้มีการศึกษามาแล้ว และเป็นหนึ่งในนโยบายที่เราจะทำต่อ

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ด้านการเปิดเผยข้อมูลผังเมืองก็มีความสำคัญเช่นกัน อะไรที่เปิดเผยได้ก็พยายามเปิดเผยเพื่อให้เอกชนนำไปพัฒนาหรือนำไปขยายประโยชน์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากบางส่วนเป็นเรื่องด้านความมั่นคง เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล แต่หลักการคือพยายามให้เปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด แต่ที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งคือข้อมูลเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปัจจุบันฐานข้อมูลยังไม่ครบขาดอีก 1,112,000 แปลง ประมาณกว่า 50% ซึ่งอาจจะเป็นแปลงย่อยที่มีมูลค่าภาษีไม่มาก ส่วนแปลงใหญ่ๆ ที่เคยจ่ายภาษีโรงเรือนน่าจะเข้าระบบทั้งหมดแล้ว อาจเหลือแปลงย่อยที่ต้องพัฒนาข้อมูล คงต้องเร่งรัดและหารือร่วมกับสำนักการคลัง ในการพัฒนาฐานข้อมูลให้เร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในเรื่องการเก็บภาษีที่ดินและภาษีโรงเรือน

สำหรับตัวผังเมืองรวมฉบับใหม่ ที่จะประกาศใช้ในปี 2567 ได้ทำประชาพิจารณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว อาจต้องดำเนินการใหม่ตามกฎหมายที่เปลี่ยนไป เนื่องจากต้องแนบผังแนบท้ายเพิ่มเติม คงต้องเริ่มใหม่ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทบทวนตัวผังเมืองและปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อบัญญัติเกี่ยวกับผังเมืองที่เริ่มตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60 ฉบับนี้ คงต้องทบทวน ยกเลิกและปรับให้ทันสมัยขึ้น เพราะหัวใจคือการกำหนดทิศทางของเมืองให้เกิดการพัฒนาและมีประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ มีแนวคิดที่ต้องทบทวน เช่นการกำหนดที่จอดรถ ควรมีหรือไม่ ถ้าอาคารใกล้รถไฟฟ้าไม่มีที่จอดได้หรือไม่ เหมือนบังคับให้ใช้รถไฟฟ้า การให้โบนัสตึกที่เป็นอาคารอนุรักษ์ ซึ่งสร้างสูงไม่ได้ สามารถโอนสิทธิการสร้างไปให้ตึกอื่นได้หรือไม่.