อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม ของชาวโคราช ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางตัวเมือง หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 หนัก 325 กิโลกรัม เป็นรูปท้าวสุรนารีตัดผมทรงดอกกระทุ่มถอนไร แต่งกายด้วยเครื่องยศที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 นุ่งผ้าจีบยกทองคาดเข็มขัด ห่มสไบเฉียงบ่า สวมตุ้มหู สวมตะกรุดพิสมรมงคล 3 สายทับสไบ นิ้งก้อยนิ้วนางทั้งสอง สวมแหวนนิ้วละวง มือขวากุมดาบ ด้ามดาบจำหลักลายสอดอยู่ในฟักจำหลักลาย ปลายจรดพื้น มือเท้าสะเอวหันหน้าเฉียงซ้ายเล็กน้อย ก้มหน้าหน่อยๆ มาทางทิศตะวันตก ทางกรุงเทพมหานคร ว่ากันว่าเพื่อแสดงความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า “โม” เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2314 เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา มี เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานสมรสกับนายทองคำขาว พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำขาว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระภักดีสุริยเดช” ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม ชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า “คุณหญิงโม” และ “พระยาปลัดทองคำ” ท่านเป็นหมันไม่มีทายาทสืบสายโลหิต ชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหลายจึงพากันเรียกแทนตัวคุณหญิงโมว่า “แม่” มีผู้มาฝากตัวเป็นลูกหลานกับคุณหญิงโมอยู่มาก ซึ่งเป็นกำลังและอำนาจส่งเสริมคุณหญิงโมให้ทำการใดๆ ได้สำเร็จเสมอ

วีรกรรมของท้าวสุรนารีนั้น สืบเนื่องจากเมื่อพุทธศักราช 2369 ครั้งเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ได้ยกกองทัพเข้าแผ่นดินไทย จนถึงเมืองนครราชสีมา โดยอ้างว่ามีพระราชโองการให้ยกทัพไปกรุงเทพ เพื่อช่วยรบกับอังกฤษ และเนื่องจากในขณะนั้น เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยาปลัดเมืองไม่อยู่ ไปราชการเมืองขุขันธ์ เจ้าอนุวงศ์จึงยกทัพ เข้ายึดเมืองนคราชสีมาได้โดยง่าย แล้วกวาดต้อนผู้คนชาวนครราชสีมาเป็นเชลยขึ้นไปยังเวียงจันทน์ ในจำนวนเชลยเหล่านั้นมีคุณหญิงโม และนางสาวบุญเหลือ ที่เป็นเสมือนบุตรบุญธรรมรวมอยู่ด้วย

ระหว่างที่กองทัพเจ้าอนุวงศ์ และทหารลาว หยุดพักค้างแรมระหว่างเดินทางไปเวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2369 คุณหญิงโม ร่วมกับนางสาวบุญเหลือ และหลวงณรงค์สงคราม หัวหน้าชาวเมือง ได้ใช้กลอุบาย โดยให้ชาวเมืองเลี้ยงสุราอาหารแก่ทหารลาวที่ควบคุมตัวมา เมื่อทหารเจ้าอนุวงศ์หลงกลกินเหล้าเมายาจนขาดสติเกือบหมดกองทัพ เมื่อได้โอกาสอันเหมาะสมแล้ว กำลังชาวโคราชที่ทุ่งสัมฤทธิ์ทั้งชาย และหญิง ก็แย่งอาวุธโจมตีเข่นฆ่าทหารลาวจนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้แผนกอบกู้อิสรภาพของนครราชสีมาสำเร็จ เมื่อความทราบไปถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโม ขึ้นเป็น ท้าวสุรนารี เมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 เมื่อคุณหญิงโมมีอายุได้ 57 ปี

ท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรมในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 )  เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2395  รวมสิริอายุ 81 ปี อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ประดิษฐานอยู่ที่หน้าประตูชุมพล นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรี คนแรกของประเทศ เริ่มก่อสร้างในปี 2476 แล้วเสร็จ และ มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477 ที่ปัจจุบันเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดนครราชสีมา เป็นที่เคารพสักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจชาวโคราช

“นางสาวบุญเหลือ” วีรสตรีผู้เคียงข้างคุณหญิงโม ยอมสละชีพเพื่อแผ่นดินโคราช

สำหรับนางสาวบุญเหลือ หรือ ย่าเหลือ คือบุคคลในประวัติศาสตร์ไทย ได้รับการยกย่องในฐานะวีรสตรี ที่มีส่วนสำคัญในการกอบกู้เมืองนครราชสีมาร่วมกับท้าวสุรนารี จากการเข้ายึดตีเมือง ของกองทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ ปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

นางสาวบุญเหลือ เป็นบุตรีของ หลวงเจริญ กรมการผู้น้อยแห่งเมืองนครราชสีมา ครอบครัวของหลวงเจริญ มีความใกล้ชิดสนิทสนม และเคารพนับถือ พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา และคุณหญิงโม เป็นอันมาก อีกทั้งพระยาปลัดเมือง และคุณหญิงโม ไม่มีบุตรและธิดา จึงรักและเอ็นดูนางสาวบุญเหลือดุจว่าเป็นลูกหลานแท้ๆ

ส่วนวีกรรมอันเป็นที่ยกย่องนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2369 ครั้งเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ได้ยกกองทัพเข้าแผ่นดินไทย จนถึงเมืองนครราชสีมา โดยอ้างว่ามีพระราชโองการให้ยกทัพไปกรุงเทพ เพื่อช่วยรบกับอังกฤษ และเนื่องจากในขณะนั้น เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยาปลัดเมืองไม่อยู่ ไปราชการเมืองขุขันธ์ เจ้าอนุวงศ์จึงยกทัพ เข้ายึดเมืองนคราชสีมาได้โดยง่าย แล้วกวาดต้อนผู้คนชาวนครราชสีมาเป็นเชลยขึ้นไปยังเวียงจันทน์ ในจำนวนเชลยเหล่านั้น มีคุณหญิงโม และนางสาวบุญเหลือรวมอยู่ด้วย

ระหว่างที่กองทัพเจ้าอนุวงศ์ และทหารลาว หยุดพักค้างแรมระหว่างเดินทางไปเวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2369 คุณหญิงโม ร่วมกับนางสาวบุญเหลือ และหลวงณรงค์สงคราม หัวหน้าชาวเมือง ได้ใช้กลอุบาย โดยให้ชาวเมืองเลี้ยงสุราอาหารแก่ทหารลาวที่ควบคุมตัวมา เมื่อทหารเจ้าอนุวงศ์หลงกลกินเหล้าเมายาจนขาดสติเกือบหมดกองทัพ เมื่อได้โอกาสอันเหมาะสมแล้ว กำลังชาวโคราชที่ทุ่งสัมฤทธิ์ทั้งชาย และหญิง ก็แย่งอาวุธโจมตีเข่นฆ่าทหารลาวจนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้แผนกอบกู้อิสรภาพของนครราชสีมาสำเร็จ

และในเหตุการณ์ครั้งนั้น นางสาวบุญเหลือได้เสียสละพลีชีพด้วยการนำไม้ฟืนจากกองไฟ วิ่งหลอกล่อทหาร ตรงไปยังกองเกวียน กระสุนดินประสิวของกองทัพทหารลาว จนเกิดการระเบิด แสงเพลิงแดงฉานไปทั่วท้องทุ่งสัมฤทธิ์ ด้วยการตัดสินใจด้วยปฏิภาณอันห้าวหาญ เด็ดเดี่ยวในวีรกรรมครั้งนี้ ของนางสาวบุญเหลือ ยังคงประทับแน่นอยู่ในความทรงจำ ของลูกหลานชาวนครราชสีมา โดยทางจังหวัดนครราชสีมาได้กำหนดให้วันที่ 4 มีนาคมของทุกปีเป็นวันไทยอาสาป้องกันชาติ และวันสดุดีวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ มีการวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือเป็นประจำทุกปี ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา 12.5 กิโลเมตร นับเป็นอนุสรณ์สถานอีกแห่งหนึ่ง ที่ชาวนครราชสีมา ให้ความเคารพสักการะเป็นอย่างสูง.